สธ.เรียกคืนหนังสือส่งถึงตำรวจ ขอทวนกรณีให้จับกุมใช้ 'กัญชา' 4 กรณี เร่งปรับปรุงประกาศสมุนไพรควบคุมเหลือแค่ 'ช่อดอก' แทนทั้งต้น ส่วนการค้าขายส่วนอื่นๆ ในปัจจุบันยังทำได้ปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 จากกรณี นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือตำรวจจับกุมดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนไม่ขออนุญาตใช้กัญชาใน 4 กรณี คือ 1) ไม่ขออนุญาตศึกษาวิจัยกัญชา 2) ไม่ขออนุญาตส่งออกกัญชา 3) ไม่ขออนุญาตจำหน่ายกัญชา และ 4) ไม่ขออนุญาตแปรรูปกัญชาเพื่อการค้า ต่อมาทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแถลงว่ารายละเอียดยังไม่มีความชัดเจน และขอให้มีการปรึกษาหารือกันก่อน
ความคืบหน้าล่าสุด นพ.ณรงค์ สายวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกันแถลงข่าวด่วนกรณีดังกล่าว
โดย นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ตามที่หนังสือดังกล่าวระบุถึงการให้ดำเนินคดีกับผู้ไม่ขออนุญาต 4 กรณีดังกล่าวนั้น เพื่อต้องการคุ้มครองผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีตั้งครรภ์และสตรีให้นมบุตร จากที่ได้มีการตรวจสอบหนังสือและปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปให้มีการข้อสั่งการให้อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้ทบทวนในรายละเอียดประเด็นที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอต่อไป ทั้งนี้ นำหนังสือฉบับดังกล่าวกลับมาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด
นพ.ยงยศ กล่าวว่า จากการประชุมของอนุกรรมการกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาฯ ซึ่งทางอนุกรรมการกฎหมายได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อความสมบูรณ์ในการประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม อาจจะต้องปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนมากขึ้น ใน 4 เรื่อง ได้แก่
-
ประชาชนที่ใช้กัญชาดูแลสุขภาพต้องไม่ได้รับผลกระทบ
-
ไม่มีผลทางกฎหมายกับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีประกาศฉบับดังกล่าว
-
ความชัดเจนของการดำเนินการของเจ้าหน้าที่และไม่มีความผิด
-
กัญชาเป็นพืชที่มีความสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจและคุณค่าทางการแพทย์
"การเปิดโอกาสให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม ถูกด้อยค่า ไม่ควรเกิดขึ้น ทางอนุกรรมการฯ เห็นเบื้องต้นว่า ควรปรับปรุงประกาศ สธ.เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ให้ชัดเจน โดยประเด็นหลัก เช่น ประกาศให้เฉพาะช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์จากกัญชาด้วยส่วนประกอบอื่นที่ไม่ใช่ช่อดอก จะสามารถดำเนินการได้ตามปกติ เพราะถ้าประกาศทั้งหมดจะได้รับผลกระทบเยอะ ผู้ที่ลงทะเบียนปลูกกัญชาเป็นล้านคนจะได้รับผลกระทบ เมื่อประกาศเฉพาะช่อดอก ทำให้ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากราก ต้น กิ่ง ใบ ผู้ประกอบการต่างๆ หรือร้านอาหาร ใช้ใบหรือส่วนประกอบอื่นที่ไม่ใช่ช่อดอกได้ตามปกติ โดยจะมีการชี้แจงผู้ปฏิบัติ คือ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในฐานะผู้อนุญาตตามกฎหมาย” นพ.ยงยศ กล่าว
นพ.ยงยศ กล่าวด้วยว่า การปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เดิมกำหนดให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ฉบับปรับปรุง จะกำหนดให้เฉพาะช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมเท่านั้น ส่วนราก ใบ กิ่ง ก้าน ต้น ที่ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์โดยร้านอาหารหรือผู้ประกอบการที่ไม่ได้ใช้ช่อดอก สามารถดำเนินการได้ตามปกติ และมีการกำหนดปริมาณเหมาะสมที่ครัวเรือนสามารถใช้ประโยชน์จากช่อดอกที่ปลูกไว้ใช้ 10-20 ต้นได้ ซึ่งปริมาณเท่าไร จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง เป็นต้น ทั้งนี้ ประกาศจะเป็นตามขั้นตอนคือ ส่งให้ปลัด สธ. และ รมว.สาธารณสุข ลงนามเพื่อประกาศใช้ คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า
“อนุฯ เห็นว่ากรณีช่อดอกปริมาณมาก และมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายต้องขออนุญาตตามขั้นตอน ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาและมีการรับฟังความคิดเห็นใน 4-5 วันนี้ เพื่อหาข้อสรุปในการกำหนดปริมาณช่อดอกในครัวเรือนว่าสามารถครอบครองได้เท่าไร คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเรียบร้อย หากไม่เกินที่กำหนดไม่ได้ขายอย่างเดียว ก็ไม่เข้ากับตัว พ.ร.บ.นี้ ก็สามารถใช้เพื่อดูแลสุขภาพตนเอง ทำยา ปรุงยา แต่หากปริมาณมากกว่าที่กำหนดก็ต้องขออนุญาต ซึ่งการขออนุญาตขายช่อดอกนั้นไม่ยาก เพราะเราวางนโยบายว่าจะต้องอำนวยความสะดวกมากที่สุด เช่น ขอทะเบียนออนไลน์ ส่วนคุณสมบัติของผู้จำหน่ายจะมีการกำหนดคุณสมบัติไว้” นพ.ยงยศ กล่าว
นพ.ยงยศ กล่าวถึงส่วนข้อกังวลว่า จะมีการบังคับใช้ จับกุม ขอยืนยันว่าน่าจะยังไม่เกิดขึ้น ยกเว้นผู้ที่วางพันลำขายข้างถนน การผลิตเพื่อให้เสพโดยการสูบ ซึ่งเราชัดเจนว่าเราพยายามขีดวงการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการให้มากที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างรอประกาศฉบับปรับปรุงนี้ จะมีการดำเนินการจับกุมกับผู้ดำเนิน 4 กรณีตามหนังสือที่ส่งถึงตำรวจก่อนหน้านี้หรือไม่ นพ.ยงยศ กล่าวว่า เราจะทำปรับปรุงประกาศอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนรับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะเราจะควบคุมการเสพสูบ เรื่องจับกุมเราคงไม่มีเวลาไปจับกุม เพราะจะกวดขันในการใช้ช่อดอกมาแปรรูปเพื่อเสพ โดยการตักเตือนเฝ้าระวัง
ส่วนการส่งหนังสือถึงตำรวจนั้นก็ชัดเจนว่า ตำรวจจะต้องไปดำเนินการเมื่อได้รับการร้องขอจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาฯ ซึ่งจะเป็น นพ.สสจ. และอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ และผู้ทรงคุณวุฒิของกรมระดับ 8-9 อีกราว 10 คน
“การสื่อสารมีความชัดเจนว่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรอการประสานจากพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ช่วยดำเนินการ ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีการจำหน่ายกัญชาที่เป็นสิ่งของเฉพาะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ตัวกฎหมายจึงออกแบบมาว่าจะต้องอาศัยพนักงานเจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญระบุว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจใช้ดุลยพินิจส่วนนี้ไม่ครบถ้วนทางกฎหมาย ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องได้รับการประสานร้องขอ” นพ.ยงยศกล่าว
ถามต่อว่า เจ้าหน้าที่เจอวางขายกัญชาเองจะเอาผิดได้เลยหรือไม่ นพ.ยงยศ กล่าวว่า สมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเป็นสิ่งของเฉพาะที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ กฎหมายจึงออกแบบให้เจ้าหน้าที่มีความชำนาญ หรือเชี่ยวชาญเรื่องนี้บอกว่านี่คือสิ่งของต้องห้ามหรือผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดุลยพินิจตอนนั้นอาจจะไม่ครบถ้วนในกระบวนความทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องได้รับการประสานร้องขอจากเจ้าหน้าที่ ส่วนเรื่องของการสูบ กัญชาพันลำ หากตำรวจเจอสามารถดำเนินการได้ตามประกาศกลิ่นและควันเป็นเหตุรำคาญ
เมื่อถามต่อว่า ประกาศปรับปรุงเป็นการควบคุมเฉพาะช่อดอก แล้วผู้ประกอบการจะนำมาจำหน่ายได้หรือไม่ นพ.ยงยศ กล่าวว่า สำหรับช่อดอกที่ปริมาณมากวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่าย ต้องขออนุญาตตามขั้นตอน โดยผู้จำหน่ายจะต้องมีคุณสมบัติที่กำหนด โดยเป็นรายละเอียดที่ต้องหารือกัน ซึ่งจะมีการออกแบบการขออนุญาตให้สะดวกกับประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ เราจะเปิดฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้ได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า
“เราได้คิดเผื่อไว้ว่าหาก พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ที่อยู่ในสภาลากยาวอีกเดือน สองเดือนเราจะบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ผู้ประกอบการอย่างไร เราคิดเผื่อไว้เป็นระบบออนไลน์ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะประกาศปรับปรุงจะออกมา” นพ.ยงยศ กล่าว