สธ.เร่งประชุมออกแนวทางรักษา นัดถกพรุ่งนี้ เบื้องต้นรับผู้เข้าข่ายสงสัยรักษาในโรงพยาบาลทุกราย เผยเกณฑ์วินิจฉัย 4 โรค อาการใกล้เคียงกับ ‘ฝีดาษลิง’ ทั้งอีสุกอีใส เริม งูสวัด ไข้ทรพิษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคฝีดาษวานรว่า องค์การอนามัยโลก(WHO) จัดให้โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยมี 3 ข้อพิจารณา คือ 1.เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น 2.เป็นความเสี่ยงด้านสาธารณสุข เนื่องจากการแพร่กระจายของโรคระหว่างประเทศ และ 3.ต้องใช้ความร่วมมือประสานกันระหว่างประเทศในการควบคุมโรค อย่างไรก็ตาม ในการประชุมของคณะกรรมการวิชาการของWHO ไม่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประกาศ แต่มีข้อโตแย้งกัน ซึ่งผอ.WHOจึงใช้ดุลยพินิจบอกว่าควรจะประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน
“การประกาศภาวะฉุกเฉินของฝีดาษวานร แม้จะสถานะเดียวกันกับโควิด 19 แต่ความรุนแรงของตัวโรคไม่เท่ากัน โดยทั่วไปฝีดาษวานร ความรุนแรงไม่ค่อยรุนแรง และมักจะหายเอง เพราะฉะนั้นในด้านความรุนแรง แตกต่างจากโควิด-19 แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการควบคุมโรค WHOจึงประกาศภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ จากผู้ป่วยในอเมริกาและยุโรป ในการระบาดรอบนี้ ยังไม่มีผู้เสียชีวิต หากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว อาจจะไม่มีอะไรมาก” นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันมีการวางกรอบไว้เบื้องต้น หลักการเดียวกับกรณีมีโรคติดต่อที่ไม่รู้จักที่มาใหม่ เมื่อมีผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยเข้ามารับบริการที่รพ. แม้โรคนี้ไม่ได้แนะนำว่าต้องรับเข้าไว้รักษาในรพ.ทุกราย แบบเดียวกันทั่วโลกทั้งอเมริกาและยุโรป
แต่ในส่วนของประเทศไทย ระยะแรกเบื้องต้นอาจจะแนะนำให้รับไว้ในรพ.ทุกรายก่อนจนกว่าจะทราบผลยืนยันจากห้องแล็ป เพื่อให้การสอบสวนโรคชัดเจนขึ้น ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการหลบหนีเหมือนกรณีชายไนจีเรีย อีกทั้ง โรคนี้จัดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย จึงไม่สามารถไปใช้อำนาจของกฎหมายอื่นในการควบคุมตัวไม่ได้
ทางด้าน พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkey pox) ว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ค. 2565) กรมการแพทย์ เตรียมหารือกับโรงพยาบาล (รพ.), คลินิกโรคผิวหนัง เพื่อประชุมหารือแนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร เนื่องจากโรคดังกล่าวถือว่า เป็นโรคใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นโรคเดิมประจำถิ่นในแอฟริกา
โดยฝีดาษวานร ถือเป็นดีเอ็นเอ ไวรัส (DNA VIRUS) การติดต่อเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งได้ทั้งน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มฝีหนอง น้ำเหลือง หรือ น้ำต่างๆ ของร่างกาย ระยะฟักเชื้อ 7-21 วัน หรือ ประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งตุ่มที่เกิดขึ้นตามร่างกาย สามารถขึ้นได้ทั่วตัว และ มี 4 ระยะด้วยกัน ได้แก่ ระยะที่ 1 มีตุ่มแดงขึ้น, ระยะที่ 2 ตุ่มพัฒนากลายเป็นตุ่มนูน, ระยะที่ 3 ตุ่มกลายเป็นหนอง และ 4 ตุ่มดังกล่าวแตก
"การแพร่เชื้อเกิดการติดต่อจะเกิดในลักษณะของระยะที่ 3 และระยะที่ 4 โดยทั่วไป โรคนี้เป็นแล้วสามารถหายเองได้ เมื่อแผลตกสะเก็ด หรือใช้การรักษาตามอาการ สำหรับคนที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ คนที่รับประทานยากดภูมิในคนรักษาโรคมะเร็ง หรือ ปลูกถ่ายอวัยวะ เด็กเล็กอายุต่ำว่า 8 ปี และหญิงตั้งครรภ์" พญ.นฤมล กล่าว
พญ.นฤมล กล่าวอีกว่า เนื่องจากโรคฝีดาษวานรจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีลักษณะของตุ่มน้ำตามผิวหนัง ใกล้เคียงทั้งโรคอีสุกอีใส และไข้ทรพิษ เบื้องต้น ทางสถาบันโรคผิวหนังได้วางเกณฑ์และแนวทางจำแนกแยกโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายคลึง หรือใกล้เคียงกับฝีดาษวานร เพื่อให้แยกโรคออก ได้แก่
-
โรคอีสุกอีใส ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วตัว และในกระพุ้งแก้ม ช่องปาก สามารถติดต่อได้จากละอองฝอย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มอาการที่ไม่รุนแรงน้อย ในกลุ่มที่มีตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกาย ระยะฟักโรค 11-20 วัน รักษาด้วยการรับประทานยาต้านไวรัส
-
โรคเริม มีอาการป่วย นอกจากตุ่มน้ำตามร่างกายแล้ว ยังจะมีอาการอักเสบตามเส้นประสาท และทิ้งรอยโรคไว้ สามารถกลับมาป่วยซ้ำได้ โดยมีระยะฟักตัว 3-7 วัน รักษาด้วยยาต้านไวรัส
-
งูสวัด เป็นการพัฒนาของเชื้ออีสุกอีใส แต่เชื้อหลบที่ปมประสาท ทำให้มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีอาการแสบร้อน คันผิวหนัง ติดเชื้อได้จากสารคัดหลั่ง การรักษาเน้นยาต้านไวรัส
-
ไข้ทรพิษ มีไข้สูง ปวดเมื่อย มีตุ่มผื่นขึ้น อ่อนเพลีย อาเจียน ปวดท้อง ระยะฟักตัว 7-17 วัน การรักษาเน้นประคับประคอง
-
ฝีดาษวานร มีตั้งแต่ไข้ ปวดเมื่อยศีรษะตามร่างกาย ปวดหลัง และเด่นชัดต่อมน้ำเหลืองโต รักษาเน้นประคับประคอง
สำหรับแนวทางการแยกโรค จะมีการประชุมของกรมการแพทย์ และสรุปส่งให้ทางอีโอซี (EOC) ของกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาต่อไป ส่วนที่มีความกังวล เรื่องเชื้อในสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า เชื้อนี้สามารถฆ่าได้ด้วยแอลกอฮอล์ และ สบู่ ดังนั้น มาตรการหมั่นล้างมือ และงดสัมผัส หรืองดใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย หรือ ผู้เข้าข่าย (คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย) สามารถป้องกันได้
นอกจากนี้ พญ.ชรัฐพร จิตรพีระ ผู้แทนกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าว่า นิยามผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร คือผู้ที่มีอาการ 1.ไข้ หรือให้ประวัติมีไข้ ร่วมกับอาการอย่างน้อย 1 อย่างต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดสีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต หรือ 2. มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง หรือเคยมีผื่นหรือตุ่มกระจายตามใบหน้า ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า เป็นผื่นหรือตุ่มลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด ร่วมกับมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายใน 21 วันที่ผ่านมา ดังนี้ 1.มีประวัติเดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในต่างประเทศและแพทย์ให้การวินิจฉัยสงสัยโรคฝีดาษวานร หรือ2.มีประวัติเดินทางไปเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมที่เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรหรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศหรือ3.มีประวัติสัมผัสาสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่มีต้นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกา มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องแล็ป 2 แห่งในระยะแรกเพื่อยืนยันผล
พญ.ชรัฐพร กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดทั่วโลกของโรคฝีดาษวานร ว่า ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยยืนยันตั้งแต่ 7 พ.ค.2565 จำนวน 16,314 ราย จาก 71 ประเทศ เพิ่มขึ้นราวสัปดาห์ละ 3,000-4,000 ราย ส่วนใหญ่จะเจอแถบยุโรปที่เป็นต้นตอของการระบาดในรอบนี้ และทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ส่วนแนวโน้มแถบแอฟริกามีรายงานผู้ป่วยตลอดดเวลาเพราะเป็นโรคประจำถิ่น ส่วนทิศทางในยุโรปเริ่มเป็นขาลงแต่อเมริกายังมีผู้ป่วยมากขึ้น ส่วนประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย เป็นชายชาวไนจีเรีย
ข้อมูลทางระบาดวิทยาของผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีการระบาดรอบนี้ ณ วันที่ 22 ก.ค.2565 ส่วนใหญ่ผู้ป่วยในการระบาดครั้งนี้ 77.2 % เป็นผู้ป่วยชายอายุระหว่าง 18-44 ปี จากข้อมูล 10,141 รายที่มีข้อมูลสมบูรณ์ของอายุ พบว่า มีผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 17 ปี จำนวน 72 ราย โดยมี 23 ราย อายุน้อยกว่า 4 ปี เป็นการบอกว่ามีการติดไปในเด็กด้วย
ส่วนประวัติอื่นๆ เรื่องรสนิยมทางเพศ จากข้อมูล 3,506 รายที่มีความสมบูรณ์ของตัวแปรนี้ พบว่า 98.1 % ระบุว่าเป็นชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) ในผู้ป่วยที่เคยตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี พบว่า 39.6 % มีผลบวกต่อเอชไอวี ผู้ป่วย 253 รายเป็นบุคลากรทางการแพทย์แต่ส่วนใหญ่ติดมาจากในชุมชน สถานที่ที่น่าจะเป็นแหล่งการติดเชื้อ เป็นปาร์ตี้ที่มีกิจกรรมสัมผัสทางเพศ 42.6%
“การระบาดในครั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการรุนแรง และยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตในการะบาดรอบนี้ ซึ่งอาการและอาการแสดง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีข้อมูลเกี่ยวกับอาการ 6,589 ราย มีอาการผื่น 88 % ส่วนใหญ่เป็นผื่นที่อวัยวะเพศประมาณ 30-40 % มีไข้ 44 % มีต่อมน้ำเหลืองโต 27 % อ่อนเพลีย 21.1 % ปวดศีรษะ 19.3 %” พญ.ชรัฐพร กล่าว