ชายไนจีเรียป่วยฝีดาษลิง หลบหนีข้ามชายแดน คาดมีคนช่วยเหลือ เร่งประสานกัมพูชาป้องกันการแพร่เชื้อ สธ.เฝ้าระวังผู้สัมผัสเสี่ยงเพิ่ม เผยพบอีก 6 รายมีอาการ แต่ไม่พบเชื้อ 5 ราย ย้ำไม่ใช่โรคติดต่อง่ายแบบโควิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นความคืบหน้ากรณีโรคฝีดาษวานร ในประเทศไทยว่า หลังจากพบผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ที่เป็นชายชาวไนจีเรียในประเทศไทยรายแรกตามที่มีการแถลงไปก่อนหน้านี้นั้น ซึ่งรายนี้ก็จะเป็นประเทศที่ 66 ของทั่วโลกที่พบผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกได้มีการประชุมประเมินสถานการณ์โรคฝีดาษวานร และพิจารณาภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ล่าสุดยังไม่ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพราะโรคไม่รุนแรง และไม่ติดต่อง่าย โดยหลักเกณฑ์กว้างๆทั่วไปโรคที่จะเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องมีความรุนแรง มีความสามารถแพร่ระบาดติดต่อกันง่าย และจำเป็นจำกัดการเดินทางของประชาชนทั่วโลก แต่ฝีดาษลิง ความรุนแรงไม่ได้มากนัก หลังการระบาดมา 2 เดือน พบผู้ป่วย 14,000 กว่าราย และส่วนใหญ่หายได้เอง ผู้เสียชีวิตน้อยมาก
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีชายชาวไนจีเรียที่ตรวจพบฝีดาษวานรนั้น ผู้ป่วยรายนี้ได้ติดตามโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางภูเก็ต โดยให้ข้อมูลตอนเข้าประเทศไทยว่า จะมาเรียนภาษาที่เชียงใหม่ แต่ไม่ปรากฏว่า เขาไปทำอะไร อย่างไร และเมื่อเจ้าหน้าที่ติดต่อไปก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ลักษณะไม่เหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เวลาเป็นโรคอะไร
ส่วนใหญ่จะให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ รวมถึงมีพฤติกรรมหลบหนี เวลาติดต่อเจ้าหน้าที่จะหลบเลี่ยง ล่าสุดพบสัญญาณมือถือแถวจังหวัดชายแดน ซึ่งนักท่องเที่ยวรายนี้ไม่ใช่นักท่องเที่ยวธรรมดา น่าจะมีคนช่วยเหลือหลบหนีในประเทศไทย จากนี้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะกรณีจะมีกฎหมายอื่นใช้ร่วมกัน
“ ขณะนี้กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ภูเก็ต ส่วนกลาง และจังหวัดชายแดน รวมทั้งข้อมูลที่ได้เบื้องต้นอาจจะหลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติตรงชายแดนไป เราได้ขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศให้ประสานชายแดนกัมพูชาที่เขาหลบหนีไป เพื่อติดตามป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด รวมทั้งหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานติดกัน อย่างจังหวัดสระแก้ว จะได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขฝั่งตรงข้ามติดตามผู้ติดเชื้อต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว
ส่วนข้อกังวลว่า ผู้ป่วยรายนี้จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างหรือไม่นั้น ขอย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายอย่างโควิด การติดต่อต้องเป็นการสัมผัสใกล้ชิดมาก ๆ และอาการโรคส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรุนแรง ซึ่งมาตรการป้องกันตนเองจากโควิด ยังสามารถใช้ป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ ป้องกันการสัมผัสผู้ที่มีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองตามผิวหนัง และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
นพ.โอภาส กล่าวถึงการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมเชิงรุก ว่า จากการสอบประวัติเบื้องต้น พบว่า มีสถานบันเทิง 2 แห่ง ซึ่งมีการคัดกรองโดยดูจากอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีตุ่มผื่นขึ้น ได้คัดกรองไป 142 ราย มี 6 รายมีไข้ เจ็บคอ ปวดตามตัว ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน ส่งตรวจหาเชื้อ 5 ราย และผลตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งต้องติดตามอาการอีก 21 วัน ส่วนอีก 1 รายไปต่างประเทศแล้ว
ทั้งนี้ ส่วนที่เหลือไม่มีตุ่มขึ้นก็จะมีการติดตามอาการต่อเนื่อง 21 วัน
อีกมาตรการคือ ต้องมีการค้นหาเชิงรุก จากผุ้ป่วยโรคผื่นผิวหนังอื่นๆ รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รับบริการในโรงพยาบาล 3 แห่ง และคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 3 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล และมีการสุ่มตรวจ เบื้องต้นมี 183 ราย อันนี้ ไม่ได้หมายความว่า 183 รายเป็นผู้สัมผัส แต่เป็นมาตรการค้นหาเชิงรุก นอกจากนี้ มาตรการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดรวม 33 ราย ซึ่งไม่มีอาการป่วย มีตั้งแต่ตรวจที่พักอาศัย ในชุมชน โรงแรม โรงพยาบาล ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ โดย 19 รายเหมือนมีประวัติเสี่ยงสูง แต่อีก 14 รายไม่มีความเสี่ยง ทั้งหมดต้องสังเกตอาการ 21 วัน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ได้มีการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ส่งตรวจหาเชื้อแล้วทั้งหมด 38 ราย ตรวจไม่พบเชื้อฝีดาษวานร 7 ราย และอยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ 31 ราย ทั้งนี้ ข้อแนะนำสำหรับประชาชนขอให้ใช้มาตรการ Universal Prevention ป้องกันโรคได้ดี เน้นการล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะหว่าง แต่หากมีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต มีตุ่มน้ำตุ่มหนอง ให้รีบพบแพทย์ ไม่ควรหลบหนี เพราะการพบแพทย์จะได้รับการรักษา การหลบหนีเป็นการทำผิดกฎหมายประเทศไทย
“บางคนถามปัสสาวะมากระเด็นใส่เราจะติดหรือไม่ ไม่ติดหรอก โรคนี้ไม่ได้ติดง่ายๆ เชื้ออยู่ตามตุ่มตามหนอง ต้องสัมผัสใกล้ชิด เดินเฉียดกันไม่ติดแน่นอน ติดยากกว่าโรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคเพศสัมพันธ์จริงๆ ตุ่มขึ้นภายใน 2 สัปดาห์จะแห้งแล้วหายไป ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า สรุป คือ องค์การอนามัยโลก ยังไม่ประกาศให้เป็นโรคภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และสถานการณ์อยู่ในการควบคุม ส่วนผู้ติดเชื้อรายแรก ต่อไปก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ ส่วนผู้สัมผัส ผู้มีความเสี่ยงขณะนี้อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม และมีการยกระดับการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และคลินิกอื่นๆ หากพบสงสัยก็จะมีการวินิจฉัยต่อไป ส่วนประชาชนทั่วไป ไม่มีความเสี่ยงให้ใช้ชีวิตตามปกติ และปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เป็นต้น
เมื่อถามว่า ต้องระวังจังหวัดไหนเป็นพิเศษหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่ต้องระบุจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ทุกจังหวัดควรมีความตื่นตัว เพราะการเฝ้าระวังก็จะมีสถานพยาบาล เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยมีตุ่มขึ้นก็จะไปรพ. เราจึงให้สถานพยาบาลมีความตื่นตัวเฝ้าระวัง ส่วนภูเก็ต เป็นจังหวัดคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่พบความเสี่ยงมาก คิดว่ามาตรการเหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ มีกฎระเบียบของนานาชาติ ต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงาน อย่างกระทรวงต่างประเทศช่วยดูว่า ประเทศต้นทางมีการระบาดมากน้อยแค่ไหน และเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นด่านเบื้องต้น และด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ และกระทรวงคมนาคม ในฐานะเจ้าของช่องทาง ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานรับทราบเรื่องนี้ และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด