‘ธปท.’ เผยสถิติยอดเงินฝากทั้งระบบเดือน พ.ค.65 เพิ่มขึ้น 6.97 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.63% เมื่อเทียบกับปีก่อน พบ 87% ของบัญชีทั้งหมด มีเงินฝากเฉลี่ยเพียง 4,234 บาท ขณะที่บัญชีเงินฝากตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป มีสัดส่วนเงินฝาก 16.79% ของเงินฝากทั้งระบบ
...........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่สถิติยอดคงค้างเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ณ เดือน พ.ค.2565 โดยพบว่า ยอดคงค้างเงินฝากทั้งระบบมีจำนวนทั้งสิ้น 15,759,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 697,961 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (พ.ค.2564) ที่มียอดเงินฝากทั้งระบบอยู่ที่ 15,061,201 ล้านบาท
ส่วนจำนวนบัญชีเงินฝากมีทั้งสิ้น 116,552,570 บัญชี เพิ่มขึ้น 7,234,958 บัญชี หรือเพิ่มขึ้น 6.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (พ.ค.2564) ที่มีจำนวนบัญชีเงินฝาก 109,317,612 บัญชี
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณายอดคงค้างเงินฝากทั้งระบบดังกล่าว พบว่า เป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 105,867,872 บัญชี หรือคิดเป็น 90.83% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด และมียอดเงินฝาก 11,190,794 ล้านบาท หรือคิดเป็น 71.01% ของยอดเงินฝากทั้งระบบ ส่วนบัญชีเงินฝากประจำตั้งแต่ 3 เดือน-2 ปีขึ้นไป มีจำนวน 10,684,698 บัญชี หรือคิดเป็น 9.17% และมียอดเงินฝาก 4,568,368 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28.98% ของยอดเงินฝากทั้งระบบ
@ 87% ของบัญชีเงินฝาก มีเงินฝากเฉลี่ย 4,234 บาท/บัญชี
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียดบัญชีเงินฝาก พบว่าบัญชีที่มียอดฝากไม่เกิน 50,000 บาท มีจำนวนบัญชี 102,136,101 บัญชี (คิดเป็น 87.63% ของบัญชีเงินฝาก) เพิ่มขึ้น 6,877,963 บัญชี หรือเพิ่มขึ้น 7.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 95,258,138 บัญชี และมียอดเงินฝาก 432,491 ล้านบาท (คิดเป็น 2.74% ของยอดเงินฝาก) ลดลง 2,544 ล้านบาท หรือลดลง 0.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดเงินฝาก 435,035 ล้านบาท
เมื่อพิจารณายอดเงินฝากเฉลี่ย/บัญชี ของบัญชีที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท พบว่า ณ เดือน พ.ค.2565 ยอดเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 4,234.45 บาท/บัญชี ลดลง 7.27% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (พ.ค.2564) ที่ยอดเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 4,566.90 บาท/บัญชี
@บัญชีเงินเกิน 500 ล้านบาท มียอดเงินฝากเพิ่ม 61,202 ล้าน
ขณะที่บัญชีที่มียอดเงินฝากตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวนบัญชี 1,578 บัญชี (คิดเป็น 0.0013% ของบัญชีเงินฝาก) เพิ่มขึ้น 42 บัญชี หรือเพิ่มขึ้น 0.027% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 1,536 บัญชี และมียอดเงินฝากจำนวน 2,647,005 ล้านบาท (คิดเป็น 16.79% ของยอดเงินฝาก) เพิ่มขึ้น 61,202 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดเงินฝาก 2,585,803 ล้านบาท
เมื่อพิจารณายอดเงินฝากเฉลี่ย/บัญชี ของบัญชีที่มีเงินฝากตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป พบว่า ณ เดือน พ.ค.2565 ยอดเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 1,677.44 ล้านบาท/บัญชี ลดลงเล็กน้อยหรือลดลง 0.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (พ.ค.2564) ที่ยอดเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 1,683.46 ล้านบาท/บัญชี
@บัญชีเงินฝาก 1-10 ล้าน มีสัดส่วนยอดเงินฝากมากสุดในระบบ
สำหรับบัญชีเงินฝากที่มีสัดส่วนยอดเงินฝากมากที่สุดในระบบ คือ บัญชีที่มียอดเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท (1,000,001-10,000,000 บาท) โดยข้อมูล ณ เดือน พ.ค.2565 บัญชีเงินฝากกลุ่มดังกล่าว มียอดเงินฝากทั้งสิ้น 4,344,345 ล้านบาท (คิดเป็น 27.56% ของยอดเงินฝาก) เพิ่มขึ้น 245,678 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (พ.ค.2564) ที่มียอดเงินฝาก 4,098,667 ล้านบาท
ส่วนจำนวนบัญชีที่มียอดเงินฝากของกลุ่มนี้ (กลุ่มบัญชีตั้งแต่ 1,000,001-10,000,000 บาท) มีจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งสิ้น 1,766,311 บัญชี (คิดเป็น 1.51% ของบัญชีเงินฝาก) เพิ่มขึ้น 124,196 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (พ.ค.2564) ที่มีจำนวนบัญชีเงินฝาก 1,642,115 บัญชี
เมื่อพิจารณายอดเงินฝากเฉลี่ย/บัญชี ของบัญชีที่มียอดเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท พบว่า ณ เดือน พ.ค.2565 ยอดเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 2.45 ล้านบาท/บัญชี ลดลง 1.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (พ.ค.2564) ที่ยอดเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 2.49 ล้านบาท/บัญชี
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล นักวิจัยจากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ยอดเงินฝากในบัญชีธนาคารเป็นข้อมูลที่สะท้อนเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่มีข้อที่พึงระมัดระวัง คือ บางคนเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อการเคลื่อนไหว คือ รับเงินเข้าและจ่ายเงินออก ทำให้จำนวนเงินฝากในบัญชีมีไม่มากนัก
ดังนั้น ในการนำข้อมูลบัญชีเงินฝากมาพิจารณาในเรื่องความเหลื่อมล้ำ จะต้องไปพิจารณาข้อมูลบัญชีเงินฝากประจำ เพื่อพิจารณาว่าคนมีเงินเก็บต่างกันมากน้อยเพียงใด และหากมีสัดส่วนที่แตกต่างกันมาก ก็จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำได้ และเป็นสิ่งสะท้อนว่าความมั่งคั่งของคนต่างกันเพียงใด แต่ข้อมูลดังกล่าวคงไม่ใช่ตัวชี้ขาดเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งหมด เพราะบางคนมีเงินฝากในบัญชีไม่มาก แต่มีทรัพย์สินทางการเงินในรูปแบบอื่น
“บัญชีเงินฝากเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่จะบอกว่าคนมีสินทรัพย์ทางการเงินอะไรบ้าง แต่ทรัพย์สินทางการเงิน ไม่ได้มีแต่เฉพาะเงินฝาก แต่มีทรัพย์สินอื่นๆด้วย เช่น หุ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เก็บไว้ว่าใครมีหุ้นเท่านั้น เท่านี้ หรือแยกตามชั้นมูลค่า มีเพียงข้อมูลที่แสดงออกมา คือ บัญชีเงินฝาก แล้วมีการนำข้อมูลนี้ไปอธิบายให้เห็นความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินฝากและทรัพย์สินที่อยู่ในธนาคาร รวมทั้งจะต้อดูเรื่องหนี้สินด้วย
ดังนั้น การพิจารณาบัญชีเงินฝากอย่างเดียว บางทีจึงไม่ได้บอกความมั่งคั่งทั้งหมด เพราะคนที่มีเงินฝากในธนาคารน้อย เขาอาจจะเป็นคนรวยก็ได้ เพราะเขาอาจมีความมั่งคั่งด้านอื่นๆ เช่น มีที่ดิน มีอสังหาริมทรัพย์เยอะ อย่างไรก็ดี บัญชีเงินฝากในธนาคารก็สะท้อนได้ระดับหนึ่งว่าคนมีเก็บอยู่เท่าไหร่ มีความต่างกันอยู่เท่าไหร่ และเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำได้ในระดับหนึ่ง” ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว