DEA ประสาน ตร.กองปราบ! ปปง.อายัดทรัพย์กลุ่มบุคคล 14 ราย รับโอนเงินคดีฉ้อโกงในสหรัฐฯ หลังดีอีเอร้องทุกข์ตร. พฤติกรรมโทร.หาคนแก่หลอกถูกรางวัลใหญ่มูลค่า 100,000 เหรียญ แต่ต้องจ่ายค่าภาษี เหยื่อหลงเชื่อโอนให้ผ่าน ‘มันนี่แกรม’ ปลายทางหลาย ปท. ไทยด้วย 2 ตัวการ กระจายเข้าบัญชีคนไทยมุสลิม จว.ชายแดนใต้ สูญ 1 – 10 ล.มากกว่า 30 คน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2565 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.138/2565 เรื่องอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว กลุ่มบุคคลที่ได้รับโอนเงินจากคดีฉ้อโกงประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกา(Boiler Room) กับพวก โดยมีเหยื่อเป็นพลเมืองชาวอเมริกันถูกหลอกลวงเกิดความเสียหายประมาณ 82.2 ล้านบาท และมีการโอนเงินมายังกลุ่มบุคคลในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทรัพย์สินที่ถูกอายัดเป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารต่างๆ 14 บัญชี (14 ราย) วงเงินรวม 1,301,289.71 บาท
บัญชีที่ถูกอายัด ชื่อผู้ครอบครอง ได้แก่ นายอาริฟฟิน มามะ ,นายสุกรี แวโวะ และนายอุสมาน โดยี และ นายอาริฟฟิน มามะ , น.ส.ซารา มาไม ,น.ส.นีรา ยูโสะ ,น.ส.สิตีปาตีเมาะ เจะแม ,น.ส.เจะแย ดาโอะ , น.ส.มาเรียม รอกา เพื่อ วาเฟีย สามะ ,นายบัสลัม กาซอ ,นางรอหานา สาแล๊ะ และ นางฮายาดี ยูโซะ (ดูเอกสารประกอบในลิงก์)
ที่มาของคดีนี้ตามคำสั่งอายัดของ ปปง.ระบุว่า สํานักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐอเมริกา (Drug Enforcement Administration - DEA) ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทย ได้แก่ สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สํานักงาน ป.ป.ส.) , สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) กองบังคับการปราบปราม สํานักงานตํารวจแห่งชาติ สํานักงานการสอบสวน สํานักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมประชุมหารือ แนวทางดําเนินคดีแก่แก๊งต้มตุ๋น (Boiler Room) โดยมีเหยื่อเป็นพลเมืองชาวอเมริกันถูกหลอกลวง ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ
กลุ่มคนร้ายใช้วิธีการหลอกลวงคนชราให้ทําธุรกรรมโอนเงินโดยที่ผู้ทําธุรกรรม (คนชรา) ไม่รู้ข้อเท็จจริงของบุคคลปลายทางผู้รับเงิน โดยการใช้โทรศัพท์แจ้งว่าถูกรางวัล แต่จะต้องจ่ายค่าภาษี เหยื่อหลงเชื่อ จึงโอนเงินไปยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ศรีลังกา บังกลาเทศ จีน และจาไมก้า มูลค่า รวมทั้งสิ้นประมาณ 82.2 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายของเหยื่อต่อราย ประมาณ 1 – 10 ล้านบาท ในส่วนของเงินที่ถูกโอนมายังประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่จะโอนไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเชื่อว่ามีชาวไทยมุสลิมเป็นผู้รับเงินหลายคน และมีเหยื่อมากกว่า 30 ราย เหตุเกิดตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา ทําการวิเคราะห์ข้อมูลการทําธุรกรรมของผู้เสียหายและผู้รับเงิน จากการทําธุรกรรมผ่านเวสท์เทิร์นยูเนี่ยน (Western Union) และมันนี่แกรม (MoneyGram) พบว่า มีการทําธุรกรรม กว่า 500 ครั้ง เป็นเงินรวมกว่า 2,000,000 เหรียญสหรัฐ มายังผู้รับเงินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มคนร้ายจะทําการสุ่มโทรศัพท์หาผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้สูงอายุ หลอกลวงว่าถูกรางวัลลอตเตอรี่รางวัลใหญ่ มูลค่า 100,000 เหรียญสหรัฐ และแนะนําการติดต่อขอรับรางวัล พร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนการชําระค่าภาษี และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับเงินรางวัล และอ้างตนเป็นคณะกรรมการสลากสหรัฐอเมริกา จนกลุ่มผู้เสียหาย หลงเชื่อส่งเงินให้แก่คนร้ายผ่านมันนี่แกรม (MoneyGram) ไปยังหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ต่อมานางสาวเจนนิเฟอร์ ซานเชส เจ้าหน้าที่สืบสวนพิเศษ และอัยการสหรัฐอเมริกา ร้องทุกข์ดําเนินคดีต่อ คณะลูกขุนใหญ่ ศาลรัฐบาลกลาง มลรัฐเท็กซัส เขตใต้ในความผิดฐาน “มีส่วนเกี่ยวข้องในการทําธุรกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนการผลิต จําหน่าย แจกจ่าย หรือครอบครองด้วยความตั้งใจที่จะผลิต จําหน่าย หรือแจกจ่ายยาเสพติด สนับสนุนขบวนการต้มตุ๋น หลอกลวงสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา และจัดหาสิ่งที่มีมูลค่าทางการเงินเพื่อใช้ในการก่อความไม่สงบ ซึ่งรวมถึงธุรกรรมการเงินจากกิจกรรมอันผิดกฎหมาย เมื่อเดือนตุลาคม 2559 สํานักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา ร้องขอให้กองบังคับการปราบปรามช่วยสนับสนุนการสืบสวนพฤติกรรมการกระทําความผิดของกลุ่มคนร้าย พบการทําธุรกรรมการส่งเงิน ผ่านมันนี่แกรม (MoneyGram) จากการสืบสวนสะกดรอยผู้รับเงินทั้งสี่ราย ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้โทรศัพท์ พบว่าผู้รับเงินแต่ละคนได้ส่งมอบเงินต่อให้แก่นายอาริฟฟิน มามะ และนางสาวซารา มาไม ทันทีหลังจากรับเงิน จึงเชื่อว่าทั้งสองคนเป็นผู้ควบคุมกลุ่มผู้รับเงิน นางสาวเจนนิเฟอร์ ซานเชส เจ้าหน้าที่ สืบสวนพิเศษ สํานักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา จึงร้องทุกข์ดําเนินคดีแก่นางสาวนูรีตา หามะ กับพวก ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ทําการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการ ตามคดีอาญาที่ 26/2561 อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า กลุ่มบุคคลซึ่งรับโอนเงินจากการฉ้อโกงประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกา กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดดังกล่าว (ดูรายละเอียดในลิงก์ประกอบ)