‘รังสิมันต์ โรม’ อภิปราย ‘ประยุทธ์’ ปมทุจริตกองบินตำรวจ ถลุงงบซ่อมบำรุงเครื่องบิน 2.7 พันล้าน แฉตัวการ ‘พล.ต.ต. ก.ไก่’ เปิดกระบวนการสอบสวนถูกเตะถ่วง ก่อนพบได้ตั๋วใหญ่คุ้มครอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 กรณีสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 11 คน ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ ภายใต้ยุทธการณ์ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.2565 ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการอภิปราย
เวลา 09.30 น. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ กรณีปล่อยปละละเลยทุจริตที่เกิดขึ้นในกองบินตำรวจว่า ในปีประมาณปี 2563 ได้ระบุรายการรายจ่ายซ่อมบำรุงอากาศยาน 949 ล้านบาท มีกองบินตำรวจ (บ.ตร.) เป็นผู้รับผิดชอบ มีพล.ต.ต. ก. เป็นผู้บังคับการ และมอบหมายให้เซ็นสัญญากับ บมจ.การบินไทย เพื่อให้จัดหาอะไหล่และซ่อมบำรุง
แต่พบว่าในเดือน ก.ย. 2564 บมจ.การบินไทยส่งหนังสือทวงหนี้มาถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยมีการก่อหนี้มากกว่างบประมาณที่ 1,824 ล้านบาท รวมกับงบก้อนเดิมจะอยู่ที่ 2,774 ล้านบาท เมื่อเจาะลึกพบว่า ในงบประมาณ 949 ล้านบาทที่ได้รับการจัดสรร กำหนดให้เป็นค่าค่าซ่อมบำรุง 520 ล้านบาท พบเบิกจ่ายจริงเพียง 71 ล้านบาท หรือประมาณ 14% ของวงเงินดังกล่าว แต่รายการค่าอะไหล่ที่ตั้งกรอบไว้ 235 ล้านบาท พบการเบิกจ่ายสูงกว่ากรอบ โดยเบิกไปทั้งหมด 764 ล้านบาท หรือประมาณ 324% จากงบทั้งหมด
เมื่อจำแนกเงินที่ใช้ 2,774 ล้านบาท พบว่า มีรายการค่าซ่อมและการจัดหาอะไหล่ที่ไม่เกี่ยวกับขอบเขตในสัญญาหลายรายการ รวมมูลค่า 784 ล้านบาท เช่น จัดซื้อถังน้ำดับไฟป่า 8 ล้านบาท, ซื้อตะขอเกี่ยวสินค้า 6.3 ล้านบาท หรือระบบไฟฟ้าไล่นกที่ของจริงมีแค่ตาข่ายกันนกธรรมดาที่โรงเก็บเครื่องบิน ใช้เงินแห่งละ 5 ล้านบาท รวม 7โ รง 35 ล้านบาท เป็นต้น และเมื่อมีการค้างหนี้จำนวนมากซึ่งไม่มีเงินจ่าย ทำให้มีอะไหล่หลายชิ้นส่งซ่อมแล้ว ยังไม่ส่งกลับมา อีกทั้งเครื่องบินที่ส่งซ่อมก็ใช้การไม่ได้ 11 ลำ และการบินไทยไม่ลงนามในสัญญาต่อตั้งแต่ปลายปี 2564 ทำให้เกิดปัญหาประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องบินต่างๆ ที่ต้องซ่อมบำรุงตามวงรอบ และการบินไทยเพิ่งจะมาเซ็นกันในเดือน มิ.ย. 2565
กก.สอบล่าช้า เตะถ่วง
สำหรับการตรวจสอบหาผู้กระทำผิด กระบวนการก็ล่าช้า แม้จะเริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 โดยขอให้ตั้งจเรตำรวจสอบ ซึ่งตั้งจริงในเดือน มิ.ย. 2564 และมีผลสอบในเดือน ต.ค. 2564 รายงานผลสอบต่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจากพยานหลักฐานที่มี ก็ควรจะเอาผิดกับผู้ที่ลงนามในสัญญา
แต่ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งให้ส่งเรื่องไปกองวินัยตำรวจเพื่อตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ความหมายคือเป็นการทำซ้ำตั้งแต่สิ่งที่ทำมาเมื่อครึ่งปีที่แล้ว ทั้งๆที่มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าใครต้องรับผิดชอบ และเมื่อกองบินตำรวจสอบถามความคืบหน้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็ได้รับคำตอบว่ายังร่างคำสั่งไม่เสร็จ กว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาก็ล่วงมาถึงเดือนเม.ย. 2565 แล้วพบว่ามีการเปลี่ยนกรรมการในเดือนพ.ค. 2565 อีกคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ พล.ต.ท. ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.ต.ต. ก. ตัวตั้งเหตุ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นการเตะถ่วง และพล.อ.ประยุทธ์รู้เรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว เพราะมีการทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนก.ย. 2564 เพื่อขอความช่วยเหลือ
และในวันที่ 7 ธ.ค. 2564 กรมบังคับคดีส่งหนังสือทวงหนี้มาถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีการแจ้งปฏิเสธหนี้ดังกล่าวกลับไป แต่ล่าช้าเกินกำหนด 14 วัน ทำให้กลายสภาพเป็นลูกหนี้เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ซึ่งต่อมามีการต่อรองกับการบินไทยขอยกเลิกบางรายการ จนทำให้หนี้ลดลงจาก 1,824 ล้านบาท เหลือ 937 ล้านบาท เพราะส่วนหนึ่งการบินไทยก็ทำอะไหล่เครื่องบินหายไปบางส่วน และสุดท้าย รัฐบาลอนุมัติงบกลางมาจ่ายหนี้ก้อนนี้
นายรังสิมันต์ อภิปรายต่อว่า สำหรับ พล.ต.ต. ก ได้ทำสัญญานำอะไหล่ที่เสื่อมสภาพแล้ว 6,622 ชิ้น ไปแลกกับอะไหล่ใหม่ที่เป็นหางเฮลิคอปเตอร์ 2 ชิ้น ซึ่งตามกฎหมายตำแหน่งของนายตำรวจท่านนี้ไม่สามารถทำสัญญาแลกเปลี่ยนพัสดุที่มูลค่าได้มาเกิน 5 ล้านบาทได้ แถมพบว่า จะเอาอะไหล่ของเครื่องบิน Bell 206 B และ Skyvan ไปยำรวมในอะไหล่ 6,622 ชิ้น ในราคา 2.5 ล้านบาท ทั้งที่อะไหล่ของทั้งเครื่องบินทั้ง 2 มีมูลค่า 111 ล้านบาท ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเสนอตั้งแต่ ม.ค. 2564 จเรตำรวจตรวจสอบตั้งกรรมการสอบเดือน ต.ค. 2564 และถูกพล.ต.ท.ปิยะ เตะถ่วงอีกครั้งในเดือน ม.ค. 2565 ด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอีกรอบ จึงเกิดข้อสงสัยว่า ทำไม พล.ต.ต. ก ถึงถูกปกป้องตลอดเวลา
ซึ่งพบว่า นายตำรวจคนนี้ได้ย้ายไปนอกกองบินตำรวจในปลายปี 2563 ไปสังกัดศูนย์ปฏิบัติการถวายความปลอดภัยสำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ (ศูนย์เดโชชัย 5) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่อยู่ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายตำรวจคนนี้มีอำนาจสั่งการกองบินตำรวจได้ ซึ่งอาจจะเข้ามาทำลายหลักฐานสำคัญที่ยังเปิดเผยได้ ที่ทำแบบนี้ได้เพราะเจ้าตัวไปดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาปกป้องความผิดของตัวเอง ที่จะส่งผลกระทบใหญ่อีก 2 ข้อ 1. เป็นการเอาตำแหน่งผอ.การเดินทางถวายฯ มาเป็นของตัวเอง ทำให้คนที่ปฏิบัติหน้าที่ปกติไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งได้ ยกเว้นคนที่มีตั๋วช้าง และ 2. การเป็นผอ.เดินทางถวายฯ ต้องถูกตรวจสอบสมรรถภาพทางกายและใจของกองบินตำรวจและโรงพยาบาลตำรวจ แต่นายตำรวจคนนี้ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพมานานแล้ว จึงขาดคุณสมบัติในการเป็นผอ.การเดินทางถวายฯ ซึ่งเจ้าตัวทำการบินไปแล้ว 40 ครั้งในปี 2565
“เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่ตำรวจในบังคับบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ก่อเรื่องทุจริตคอรัปชั่นเอาไว้เป็นค่าเสียหายหลักพันล้าน เรื่องอยู่ใต้จมูกพล.อ.ประยุทธ์แท้ๆ และเป็นเรื่องที่สร้างความปั่นป่วนทั้งต่อระบบงบประมาณของประเทศ, การปฏิบัติภารกิจภายในหน่วยงาน แม้กระทั่งวันที่พล.อ.ประยุทธ์รับรู้ แทนที่จะเข้ามาจัดการปัญหานี้เพื่อให้ประเทศไม่ต้องแบกรับความเสียหายนี้ หรือแบกรับให้น้อยที่สุด และเพื่อเอาตัวคนผิดมาลงโทษอย่างทันท่วงที แต่ก็ไม่เลย พล.อ.ประยุทธ์รับมือปัญหาอย่างไรวินัย แล้วยังฟอกขาวให้ตำรวจทุจริตที่ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวไปแสวงหาผลประโยชน์จากสถาบันเพื่อมาคุ้มกะลาหัวตัวเองไม่ให้ถูกเล่นงาน” นายรังสิมันต์กล่าว