ภูเก็ตเร่งติดตามตัวผู้ป่วยฝีดาษลิงหนีการรักษา ด้าน ‘อนุทิน’ ยันมีความผิดตามกฎหมาย สธ.เปิดไทม์ไลน์ พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย ย้ำโอกาสแพร่เชื้อต่ำเว้นสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมีตุ่มหนอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ติดเชื้อฝีดาษลิงเป็นรายแรกของไทย เข้ารักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต ได้หลบหนีออกจากโรงพยาบาลเมื่อคืนที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้กำลังให้ตำรวจตามล่า เพราะมีการหลบหนีจากสถานรักษาพยายาล
โดยในวันนี้จะมีการแถลงข่าวและขึ้นรูปหน้าของผู้ป่วยที่หลบหนีไป ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่แย่มากและเป็นพฤติกรรมไม่ดี ยืนยันว่ามีบทลงโทษและใช้กฎหมาย ทุกอย่างที่มี รวมทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ และอาจมีการเนรเทศและถูกดำเนินคดี โดยผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวเข้ามาทาง จ.ภูเก็ต ยืนยันว่ากำลังเร่งติดตาม โดยต้องจับกุมตัวให้ได้และขึ้นรูปทั่วทั้งประเทศ
"จากที่อธิบดีกรมควบคุมโรครายงานเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ทราบว่าได้มีการติดตามคนสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายดังกล่าวมากักตัวและตรวจเช็คแล้วไม่พบการติดเชื้อ และย้ำตามที่อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุว่าไม่ได้ติดง่ายๆ แต่ต้องเฝ้าระวังส่วนในด้านการแพทย์ ขอไม่พูดเพราะเป็นเรื่องเฉพาะทางให้แพทย์เป็นคนพูด แต่หลังจากรับทราบก็ได้กำชับเร่งดำเนินการตามจับกุมตัวให้เร็วที่สุด" นายอนุทิน กล่าว
สธ.เเปิดไทม์ไลน์ผู้ป่วยฝีดาษลิง พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย
ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 กำหนดอาการสำคัญคือ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เจ็บคอ มีตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศ แขนขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า ดังนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อโรคจังหวัด/คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และเจ้าพนักงานควบคุมโรคต้องทำแผนปฏิบัติการโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์โรคหรือเหตุที่สงสัยอาจเกิดการระบาดขึ้น ทั้งนี้ จ.ภูเก็ตได้ดำเนินการค้นหาและเฝ้าระวังมาต่อเนื่อง
โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีอาการต้องสงสัยเข้าได้กับฝีดาษวานร โดยมีตุ่มขึ้นที่ใบหน้า ลำตัว แขนขา และอวัยวะเพศ จึงเก็บตัวอย่างไปส่งตรวจวิเคราะห์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบผลบวกต่อโรคฝีดาษลิง และส่งตรวจยืนยันซ้ำที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยัน
ผลตรงกัน ทีมสอบสวนโรคจึงรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยรายนี้ ทั้งทางคลินิก ระบาดวิทยา และผลตรวจห้องปฏิบัติการ เสนอคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ พิจารณาโดยละเอียดและประกาศยืนยันเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ว่าเป็นโรคฝีดาษวานรรายแรกของประเทศไทย โดยเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่มีความรุนแรงน้อย
“จากการสอบสวนโรคผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย ที่เป็นเพื่อนของผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ ส่งตรวจหาเชื้อไม่พบฝีดาษวานร แต่ต้องสังเกตอาการหรือกักตัวเป็นเวลา 21 วัน และค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง เช่น สถานบันเทิงที่ไปใช้บริการ นอกจากนี้ทีมสอบสวนยังได้เข้าไปกำจัดเชื้อในห้องผู้ป่วยด้วย” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า ประเทศไทยได้รายงานข้อมูลการพบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายแรกไปยังองค์การอนามัยโลกตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2548 ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก เนื่องจากไม่ได้เข้าเกณฑ์ เรื่อง ความรุนแรงสูง แพร่ระบาดได้ง่าย และต้องจำกัดการเดินทางการค้าระหว่างประเทศ
โดยสถานการณ์ระดับโลกตั้งแต่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกวันที่ 7 พ.ค. 2565 พบผู้ป่วยเพียง 12,608 ราย กระจาย 66 ประเทศทั่วโลก ไม่ได้เพิ่มขึ้นรวดเร็ว หากเทียบกับโควิดที่ในไม่เวลากี่เดือนพบผู้ติดเชื้อหลักล้านคน สำหรับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและอเมริกา ข้อมูลทางระบาดวิทยา ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างผู้ป่วย และเชื่อว่าอาจเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ต้องรอองค์การอนามัยโลกยืนยันข้อมูลก่อน ส่วนการติดทางเดินหายใจไม่ใช่ลักษณะเด่นของโรคนี้
นพ.โอภาสกล่าวว่า คณะกรรมการวิชาการฯ ให้แจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่สงสัยมีอาการเสี่ยงให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย สถานพยาบาลรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยทางคลินิก ทั้งผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยยืนยัน เพื่อให้องค์การอนามัยโลกรวบรวมข้อมูลในการออกคำแนะนำหรือมาตรการต่อไป มาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ยังใช้ได้กับโรคฝีดาษวานร โดยต้องเน้นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง ย้ำว่าต้องไม่ตีตราหรือลดทอนคุณค่าผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง ส่วนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.ให้จัดระบบเฝ้าระวังคัดกรองสถานพยาบาลทุกแห่ง คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันต่อไป การรักษาจะรักษาตามอาการ เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง ส่วนวัคซีนที่มีการผลิตและเตรียมใช้มีหลายบริษัท กรมควบคุมโรคสั่งจองเบื้องต้นแล้ว
ส่วนวัคซีนเดิมคือ วัคซีนโรคฝีดาษ (smallpox) ที่องค์การเภสัชกรรมเก็บไว้ อยู่ในขั้นตอนที่อาจจะนำมาใช้ได้ ต้องดูตามข้อบ่งชี้ คือ ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงวัคซีน และประเมินสถานการณ์การระบาด แต่ภาพรวมความจำเป็นการฉีดในวงกว้างยังไม่จำเป็น แต่อาจให้บางกลุ่มเฉพาะ เช่น เจ้าหน้าที่ห้องแล็บที่สัมผัสเชื้อโรค เจ้าหน้าที่การแพทย์และสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด เนื่องจากข้อมูลวัคซีนเดิมพบผลข้างเคียง ต้องพิจารณาดูผลดีผลเสียและความจำเป็นร่วมด้วย
ภูเก็ตยันผู้ป่วยหนีการรักษาจริง อยู่ระหว่างเร่งติดตามตัว
ขณะเดียวกัน นายพิเชษฐุ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตั้งโต๊ะแถลงกรณีพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกในไทย เป็นชาวไนจีเรีย วัย 27 ปี เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (21 ก.ค. 2565) แต่ล่าสุดวันนี้ มีรายงานข่าวว่า ผู้ป่วยฝีดาษลิงรายดังกล่าวได้หลบหนีการรักษาตัวออกจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต
นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นพ.สสจ.จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่คอนโด จากภาพวงจรปิดพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย เป็นชายชาวไนจีเรียและแฟนผู้ป่วย ส่วนที่โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง ไม่พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ในยานพาหนะยังติดตามไม่ได้ เนื่องจากไม่เห็นป้ายทะเบียนแท็กซี่ แต่กำลังติดตามอยู่ จึงอยากประชาสัมพันธ์ไปยังแท็กซี่ที่รับตัวผู้ป่วยให้ติดต่อทำการตรวจเจาะเลือดและเฝ้าสังเกตอาการ ต่อมาที่ชุมชนป่าตอง พบผู้สัมผัสเสี่ยง 9 ราย และที่สถานบันเทิงป่าตอง 2 แห่ง พบผู้สัมผัสเสี่ยง 142 ราย ตรวจไปแล้ว 5 ราย ไม่พบเชื้อหลังมีไข้ แต่ไม่มีผื่น
"ย้ำอีกครั้งว่า โรคนี้ติดต่อยาก ต้องสัมผัสใกล้ชิดแบบเนื้อแนบเนื้อ หรือไอ-จามใส่หน้าแบบละอองใหญ่ แต่อาการไม่รุนแรง เชื้อที่พบในคนไข้รายนี้ เป็น A2 ไม่จัดว่าอันตรายรุนแรง" นพ.กู้ศักดิ์ กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.เสริมพันธุ์ ศิริคง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ลงไปตรวจสอบยังคอนโดฯ แต่ไม่พบในห้องพัก จึงขอตรวจสอบกล้องวงจรปิด จากการตรวจสอบกล้องคาดว่าเดินทางไปยังป่าตอง ตำรวจรับแจ้ง 18 ก.ค. 65 ออกสืบสวนติดตาม พบว่าพักที่คอนโดฯแห่งหนึ่งในกะทู้ เฝ้าติดตามไม่พบตัว เลยขอดูภาพกล้องวงจรปิด พบออกไปจากคอนโด 19 ก.ค. 2565 ตามภาพจากกล้องวงจรปิด ไปป่าตอง หลังจากนั้น ผู้ป่วยรายนี้ประสานจะเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ไม่มาตามนัด และปิดโทรศัพท์ ติดต่อไม่ได้
จากนั้นวันที่ 20 ก.ค. 2565 เวลา 21.00 น. เอากุญแจวางทิ้งไว้และออกจากโรงแรม ตำรวจตรวจกล้องวงจรปิด พบไม่ติดต่อใคร อยู่เฉพาะในห้องพัก ตรวจสอบกล้องวงจรปิดต่อ คาดว่ายังอยู่ในภูเก็ตหรือออกนอกพื้นที่ไปแล้ว ตำรวจยืนยันการจะออกนอกประเทศทางอากาศยานยังไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่เตรียมการไว้หมดแล้ว