‘ประยุทธ์’ ร่ายยาวแจงอภิปรายไม่ไว้วางใจด้านทำเศรษฐกิจพัง ชี้ทุกอย่างยังดี เค้นข้อมูลสู้ทั้ง GDP, มาตรการโควิด, เงินเฟ้อ, ท่องเที่ยว ยันไม่ปล่อยประเทศเป็นแบบศรีลังกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 กรณีสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 11 คน ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ ภายใต้ยุทธการณ์ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.2565 ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ 3 ของการอภิปราย
เวลา 18.48 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงข้ออภิปรายในประเด็นทางเศรษฐกิจว่า ประเทศไทยไม่ได้ป่วยรั้งท้ายของอาเซียน เรามีมูลค่า GDP ของประเทศอยู่อันดับ 2 ของอาเซียน แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ยังเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2564 GDP เติบโต 1.6% จากติดลบ และในปี 2565-2566 IMF คาดการณ์จะขยายตัวขึ้นในระดับ 3.3-4.3% ตามลำดับ อัตราการว่างงานก็ต่ำสุดในอาเซียน
“ผมยืนยันว่าประเทศไทยจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบศรีลังกาแน่นอน ทั้งๆที่ผมไม่อยากกล่าว เพราะทุกคนทราบดีอยู่แล้วจากสื่อ เศรษฐกิจของประเทศไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง ล่าสุด IMF คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะขยายตัว 3.3 % สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ ซึ่งผมติดตามอย่างต่อเนื่องกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศและระดับสูงและหนี้ต่างประเทศต่ำ รองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลกและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศได้ นักวิเคราะห์ยังประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2566 จะมีการปรับตัวลดลง” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
FDI พุ่ง 2.8 แสนล้าน
กรณีที่ 2 นักลงทุนย้ายฐานการผลิต ปิดกิจการ ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของการทำธุรกิจ เป็นเรื่องของนักลงทุนที่จะเลือก ต้องดูว่ากติกาของเราและต่างประเทศเป็นอย่างไร เราต้องเตรียมความพร้อมของเราให้มากที่สุดในสิ่งที่เราให้ได้ ไม่ใช่ให้จนมากเกินไป ซึ่งตนพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ส่วนใหญ่ที่ย้ายไปเพราะค่าแรงที่นั้นต่ำและให้สิทธิประโยชน์มากกว่า แต่ไทยก็ยังเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน โดยมูลค่า FDI ช่วงไตรมาสที่ 1/2565 มีมูลค่ารวม 288,019 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่มขึ้น 2.8% จากปี 2564 ขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุน มีมูลค่า 219,708 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2565 จาก 784 โครงการ สูงกว่าช่วงโควิด
ส่วนความร่วมมือกับต่างประเทศ ไทยเจรจาพูดคุยตลอด โดยมีทิศทางที่ชัดเจน มีความคืบหน้ากับซาอุดิอาระเบียสิงคโปร์ญี่ปุ่นจีนสหรัฐอเมริกา ซึ่งสถิติการลงทุนของประเทศเหล่านี้ก็สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และหลายประเทศในกลุ่ม EU ก็มาพูดคุยเจรจาหารือ แม้หลายอย่างจะมีปัญหาเรื่อง FTA บ้างก็ตาม ส่วนการกำหนดทิศทางในการให้เงินทุนสนับสนุนโครงการที่เป็นเป้าหมายใหม่ วันนี้เราเน้นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ ซึ่งได้คิดไปถึงการคิดค้นระบบมอเตอร์และระบบไฟฟ้า ไม่ใช่แค่มาประกอบในประเทศ โดยจากการพูดคุยมีหลายบริษัทให้ความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศ
“เรื่องเศรษฐกิจอัจฉริยะดิจิตอล, Long-term residents, Soft Power เราคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 2 ล้านล้านบาท เพิ่ม GDP ของไทย 1.7 ล้านบาทไปจนถึงการจัดตั้งกองทุนคณะกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ เหล่านี้คือสิ่งที่ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้เราจะมีความยากลำบากยังไงก็ตามเราจะมีหนี้สินแต่ผมก็ต้องเตรียมการว่าเราจะอยู่ยังไงต่อไปนั่นคือแผนงานอนาคตของผม ผมทำเรื่องพวกนี้รองรับไว้แล้ว ก็น่าจะได้ผลตอบแทนในระยะเวลาถัดไป ประชาชนในส่วนที่เราขาดเหลือหรือต้องกู้เขามา ท่านอาจจะบอกว่าผมเอาแต่กู้ แต่ผมก็ต้องเตรียมการว่าจะชำระหนี้พวกเขาอย่างไร ” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
โต้ปิดกิจการเยอะ
ส่วนการเปิดปิดกิจการ ที่ว่าปิดไปมาก เราพยายามฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้บนกับกลางเอาตัวรอดได้ แต่ SMEs ข้างล่างจะพัฒนาพวกเขาอย่างไร รวมถึง Start-Up จะทำให้เขาแข็งแรงอย่างไร ในเดือนเม.ย. 2565 เป็นช่วงที่มีการจดจัดตั้งบริษัทมากที่สุด 171,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 726.7% จากปี 2564 สอดคล้องกับช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 โดยมีจำนวนกิจการจดจัดตั้งใหม่ 5,917 ราย เพิ่มขึ้น 6.3 %เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
“ผมพยายามจะทำให้ดีที่สุด ผมไม่ได้บอกว่า ผมทำได้ทุกอย่างแล้วเสร็จ เรียบร้อย เก่งที่สุด ผมไม่เคยพูด ผมอยากเล่าให้ฟังว่าเราพยายามทุกอันแล้วนะ ก็สุดแล้วแต่ว่าท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
รายได้ท่องเที่ยวต้องลดลง เพราะโควิดระบาด
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวชี้แจงเรื่องการท่องเที่ยวว่า จากที่กล่าวหาว่าบริหารล้มเหลว นำพาประเทศไปสู่ความล่มจม และสร้างความเสียหายต่อธุรกิจท่องเที่ยวจากมูลค่า 3 ล้านบาทต่อปีเหลือเพียง 0.3 ล้านล้านบาทนั้น ช่วงก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปี แต่ช่วงโควิดหลายประเทศ มีมาตรการลดการเดินทาง ต่างประเทศก็ห้ามเครื่องบินเข้าด้วยซ้ำ การเดินทางทางอากาศมันก็น้อยลงอยู่แล้ว ส่วนมาตรการล็อคดาวน์ที่มีการวิจารณ์นั้น ทราบว่านายอนุทินชี้แจงไปบ้างแล้วว่า หลายอย่างมันต้องประกอบกัน หลายประเทศปิดอยู่ เราเปิดแค่ไหนก็ไม่มา ความรับผิดชอบของแต่ละประเทศเขามี
ส่วนในปี 2563 ที่ว่าขาดรายได้จากการท่องเที่ยวมันขาดอยู่แล้ว เพราะอยู่ในช่วงโควิด ต่างกับช่วงก่อนหน้านั้นแน่นอน ตอนนี้เราดึงมาได้แล้ว 5 ล้านคน/ปี ตอนนี้มีการจองเข้าพักในโรงแรมมากขึ้น ก็ต้องมาแก้ปัญหาเรื่องการบินอีกว่ามีเพียงพอไหม ซึ่งได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว อีกทั้งประเทศที่มีนักท่องเที่ยวตลาดหลักของไทยก็ยังไม่ได้เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในภูมิภาค ตอนนี้นักท่องเที่ยวหลักคือในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งตื่นตาตื่นใจกับการมาเที่ยวเมืองไทย โดยในปี 2565 ประเมินนักท่องเที่ยวมีจำนวน 7-10 ล้านคน/ปี
ยังไม่เก็บค่าเหยียบแผ่นดิน
ส่วนค่าเหยียบแผ่นดิน ยังไม่มีการเรียกเก็บเลื่อนไปไม่มีกำหนด รวมถึงการกำหนดวีซ่าด้วย ต้องคิดถึงว่า ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงไหม แล้วถ้าเก็บมาต้องเอาไปใช้อะไร อย่างวีซ่าถ้าเก็บก็เอาไปดูแลสถานทูตและกงสุสต่างๆ ในอนาคตจะว่ากันอีกที โดยให้แนวนโยบายว่า จะตั้งกองทุนช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวด้วยซ้ำ
ขณะที่อัตราว่างงานในช่วงโควิด ก็มีผ่อนคลายตามสถานการณ์ นอกจ่กนั้นยังมีเราเที่ยวด้วยกัน และมาตรการรักษาการจ้างงานตามาตรา 33 และมาตรา 40 ในช่วงปี 2564 ด้วย ซึ่งช่วงไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะรวย แต่ต้องอยู่รอดและยั่งยืนก่อน และไม่เคยบอกว่า จากจนจะแก้เป็นรวย ต้องเข้าไปดูและช่วยเหลือ ขณะที่มาตรการบัตรต่างๆ ก็เป็นการทำให้ประชาชนอยู่รอด
รับของแพง-ราคาน้ำมันพุ่ง
พล.อ.ประยุทธ์พูดต่อถึงปัญหาพลังงานและของแพงว่า ยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง แต่เกิดกับหลายประเทศทั่วโลก ทั้งสงครามรัสเซียและนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในบางประเทศ รวมถึงปัญหาดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดูแลอยู่ เราเป็นประเทศเล็กๆ ก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ส่วนราคาน้ำมันมีผลจากการเดินทางที่มากขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการโควิด เพราะในช่วงโควิดราคาน้ำมันมีราคาถูกลงมาก จากการที่คนเดินทางน้อยลง และต้องยอมรับสถานการณ์โควิดในปี 2563 มันกระทบรุนแรง ซึ่งรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ พยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง กว่าจะตั้งหลักใหม่ก็ต้องใช้เวลา
นอกจากนี้ รัฐบาลทำทุกวิถีทางในการกู้วิกฤติโควิด ใช้เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท ทั้งหาและวิจัยวัคซีน และรักษาโรคด้วยวงเงินกู้ 183,000 ล้านบาท และเยียวยาผู้มีรายได้น้อยไปแล้ว 45 ล้านคน ใช้เงิน 854,000 ล้านบาท ผ่านโครงการเราต่างๆของรัฐบาล และมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงินประมาณ 280,000 ล้านบาท ซึ่งมีผลดีพอสมควร ไม่นับการทำภูเก็ตแซนบ๊อกส์ที่เป็นตัวอย่างไปทั่วโลกในการเปิดประเทศหลังโควิด
“ไม่มีรัฐบาลไหนที่ผ่านมาในประเทศไทย เจอปัญหาเท่าที่รัฐบาลผมเจอในวันนี้ ท่านเป็นส.ส.มากี่ปีก็ไม่รู้ ท่านเคยเจอสภาพนี้หรือไม่ ผมไม่อาจกล่าวได้ว่า ผมทำดีที่สุด แต่เราทำเต็มที่มาโดยตลอด เพื่อประคับประคองประเทศและผ่านพ้นวิกฤตต่างๆตามลำดับ วันนี้ขออนุญาตพูดยาวหน่อยนะครับเพราะผมก็ฟังพวกท่านมา 2-3 วันแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ตั้งรับศก.โลกแย่ - ไทยยังไปได้ดี
อย่างไรก็ตามวิกฤตเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะแย่ลงทั้งปีนี้และปีหน้า รัฐบาลทั่วโลกใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบตึงตัว เป็นผลมาจากประเทศส่วนใหญ่กู้เงินจำนวนมากในช่วงโควิด และกำลังเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้รัฐบาลมีเงินเหลือใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งประเทศไทยก็เตรียมรับมือวิกฤตพลังงานไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าตั้ง สมช. แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนั้น สมช. เป็นเพียงกลไกหนึ่งเท่านั้น แต่คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ที่ตั้งขึ้นมาล้วนแล้วแต่มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งนั้นเปรียบเสมือนคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยจะมีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.คอยช่วยเหลือทำงานกันต่อไป
โดยสรุปประเทศไทยยังมีเสถียรภาพสู้กับวิกฤตได้ดี ถึงแม้จะต้องนำเข้าพลังงานและพึ่งพานักท่องเที่ยว แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้เงินหมดเหมือนหลายประเทศ