‘จุลพันธ์ เพื่อไทย’ ร่าย 8 ปีรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ เป็น 8 ปีที่สูญเปล่า-สูญหาย วิกฤติเศรษฐกิจถล่ม ชี้เกิดวิกฤติภาวะผู้นำ ‘ไร้ความรู้ความสามารถ - ไร้วิสัยทัศน์ - บริหารล้มเหลว - เอื้อทุนใหญ่’ แนะลาออกก่อนคนไทยทนไม่ไหว ลุกฮือไล่เหใือนในศรีลังกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 11 คน ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ ภายใต้ยุทธการณ์ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.2565
เมื่อเวลาประมาณ 20.45 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่บริหารประเทศชาติล้มเหลวว่า ถือเป็นช่วงเวลา 8 ปีที่สูญหาย สิ่งที่ประเทศชาติสูญเสียคือ โอกาสที่ประชาชนจะได้อยู่ในประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี โอกาสที่ประชาชนจะร่ำรวยขึ้น โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอกาสที่เกษตรกรจะได้ลืมตาอ้าปาก โอกาสที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้เติบโตโอกาสที่จะได้พัฒนาการศึกษา โอกาสที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โอกาสที่จะผลักดันให้คนหลุดจากความยากจน และโอกาสที่จะลดความเหลื่อมล้ำโอกาสที่จะปรับด้านสังคมไปข้างหน้าเข้าสู่เวทีโลกอย่างมีศักดิ์ศรี โอกาสที่ประเทศไทยจะได้เข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างยั่งยืน
วิกฤตแรกที่รุนแรง คือ วิกฤติหนี้สิน เกิดจากการบริหารราชการที่ผิดพลาดของรัฐบาล ทุกภาคส่วนมีปัญหาหมด จนประเทศไม่พร้อมรับโอกาสใหม่ๆตามเศรษฐกิจทัดเทียมประเทศอื่น และอีกหลายวิกฤติ เช่นสาธารณสุข และการท่องเที่ยวซึ่งวิกฤตการณ์ทั้งหมดทำให้ประชาชนมองไม่เห็นอนาคต
และเมื่อมีวิกฤติโควิดเข้ามา ในขณะที่โลกกำลังก้าวไปข้างหน้า แต่ประเทศไทยยังตั้งไข่ไม่ได้ ไปถามประชาชนว่า เกิดจากอะไร ทุกคนจะชี้นิ้วไปที่พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุแห่งความล้มเหลวของเศรษฐกิจไทย สะท้อนวิกฤติภาวะผู้นำ ซึ่งคุณสมบัติของผู้นำควรจะต้องเป็นผู้เท่าทันโลก เท่าทันปัญหา และเท่าทันตัวเอง แต่พล.อ.ประยุทธ์ตรงข้ามหมด ทั้งตามไม่ทันโอกาส ไม่ทันโลก ชี้นิ้วสั่งสอน ตะคอกว่าประชาชน และทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว รู้ไปหมดทุกอย่าง แถมเลือกใช้คนไม่เป็น
หยันเหมือนคอมพิวเตอร์ตกยุค
“ท่านเคยเปรียบตัวเองเป็นคอมพิวเตอร์ที่รับข้อมูลมามากจนแฮงค์ เพราะปัญหามาก จริงๆแล้วท่านคือคอมพิวเตอร์ตกรุ่นไม่สามารถคำนวณแก้ไขปัญหาสมัยใหม่ได้แล้ว ปัจจุบันเขาเรียกว่ายุคควันตั้ม คอมพิวเตอร์ตกยุคก็ไม่ต่างอะไรกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ สังคมสมัยนี้เขาเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์รุ่นอื่นมากมาย เช่นคอมพิวเตอร์รุ่นชัชชาติ หรือคอมพิวเตอร์รุ่นเพื่อไทย ซึ่งมองเห็นปัญหา มีวิสัยทัศน์ที่จะแก้ไขและมีนโยบายที่จะช่วยเหลือหาทางออกให้กับสังคม คอมพิวเตอร์รุ่นประยุทธ์ต้องรู้ตัวได้แล้วว่าตกรุ่น ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ได้แล้ว” นายจุลพันธ์กล่าว
ฉายภาพความล้มเหลว
นอกจากนั้น การไม่มีประสิทธิภาพของพล.อ.ประยุทธ์ มีหลักฐานประกอบคือ การจัดอันดับของ International Institute for Management Development (IMD) ที่ลดการจัดอันดับการแข่งขันของไทยลง ภาพรวมการแข่งขันด้านเศรษฐกิจตกลงทั้งหมด ทั้งผลประกอบการทางเศรษฐกิจ, ประสิทธิภาพทางธุรกิจ, ประสิทธิภาพของรัฐบาล และโครงสร้างพื้นฐาน หรือ The World Economic Forum ประเมินว่าประเทศไทยตกต่ำ 6 เรื่องประกอบด้วย ความมั่นคงของรัฐบาลและการรัฐประหาร, ระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพ, นโยบายไม่มั่นคงเปลี่ยนรัฐบาลและการรัฐประหาร, ขาดความสามารถที่เพียงพอในการคิดค้นพัฒนา, การทุจริตคอรัปชั่น และแรงงานที่มีการศึกษาไม่เพียงพอ
และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2557-2561 โตเฉลี่ยเพียง 2-3% เปรียบเทียบกับเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์มีอัตราเศรษฐกิจเติบโต 6-7 % ส่วนประเทศไทยแทบไม่เติบโต ในช่วงดังกล่าวโครงสร้างพื้นฐานเราหยุดนิ่งไม่มีการปรับตัวเพื่อรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และในปี 2563 ถึง 2564 ยิ่งย้ำชัด เพราะการรับมือภาวะเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลก็บริหารล้มเหลว ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็น และอีกมิติหนึ่ง รัฐบาลก็สร้างภาระทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนอย่างไม่ควรจะเป็น เช่น การสั่งซื้อวัคซีนแบบแทงม้าตัวเดียว, การบริหารเศรษฐกิจแบบมัดตราสัง, กระบวนการเปิดประเทศแบบลักปิดลักเปิด, มาตรการช่วงโควิดที่บกพร่องผิดพลาด มีแต่การกู้เงินมาแจก
ขณะที่วิกฤติพลังงาน ราคาน้ำมันดิบโลกไม่สูงตลอด เพิ่งมีราคาแพงขึ้นมา 5-6 เดือนหลัง แต่รัฐบาลบริหารไม่ได้เลย และเมื่อเกิดวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ก็ลดเก็บภาษีสรรพสามิต 6 บาทลง เพื่อบรรเทาภาระกองทุนน้ำมัน ไม่ใช่เพื่อประชาชน อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์บริหารกองทุนน้ำมันติดลบ 110,000 ล้านบาท จะทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวหลังสุด และต้องใช้น้ำมันแพงต่อไป 6 เดือน - 1 ปี เพราะต้องหาเงินมาเยียวยาให้กองทุนน้ำมัน
ส่วนการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) อดีต 100 บาท จะเข้าประเทศ 50 บาท แต่ยุคพล.อ.ประยุทธ์ เงินลงทุนโดยตรงเหลือ 10 บาท โยงถึงการศึกษาที่ไม่สามารถผลิตบุคลากรใหม่ๆรับเศรษฐกิจโลก และการใช้กฎหมายอย่างไม่มีนิติรัฐ นิติธรรม ตัวอย่างก็คือ กรณีเหมืองทองอัครา ที่ใช้คำสั่งมาตรา 44 สั่งปิด เมื่อจะถูกฟ้องก็เอาที่ดินแสนไร่ไปถวายให้ ถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ ขณะที่การลงทุนของเอกชนไทย เหล่าเศรษฐีเอาเงินไปลงทุนต่างประเทศหมด เพราะเอกชนคิดแล้วมองว่า ไม่คุ้มมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ถ้าคิดว่าอุ้มชูเอกชน แล้วจะเห็นใจ พล.อ.ประยุทธ์กำลังถูกหลอก ตามไม่ทันเขา
อัด ‘ประยุทธ์’ ใช้เงินมือเติบพุ่ง 30 ล้านล้าน
นายจุลพันธ์ อภิปรายต่อว่า ส่วนการหารายได้ก็หาไม่เป็น มีแต่กู้ การจัดทำงบประมาณแต่ละปี เต็มไปด้วยงบประมาณประจำและงบบุคลากร โดยพล.อ.ประยุทธ์ใช้เงินไปแล้วรวม 30 ล้านล้านบาท จากทั้งระบบงบประมาณปกติและการกู้เงินต่างๆ ยังไม่รวมหนี้ที่ไม่ได้ค้ำประกันอีก 1 ล้านล้านบาท และหนี้กองทุนน้ำมันอีก 110,000 ล้านบาท คิดรวมแล้ว ประเทศไทยมีหนี้สินรวม 11-12 ล้านล้านบาท ใช้เงินเก่ง แต่หารายได้ไม่เป็นสร้างหนี้มากกว่านายกรัฐมนตรีในอดีตรวมๆกัน ปีหนึ่งใช้ดอกเบี้ย 200,000 ล้านบาท เป็นมรดกหนี้สินที่ทิ้งให้ลูกหลานในอนาคต
“ท่านเป็นบุคคลล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ ท่านไม่มีทางกู้ศรัทธาประชาชนได้ สมาชิกในนี้ที่สนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อ ก็ต้องรับผิดชอบกับความพังพินาศทางเศรษฐกิจไทยด้วย” นายจุลพันธ์ระบุ
การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ นอกจากจะพรากโอกาสหลายๆอย่างของประเทศแล้ว ยังทำให้ข้าวของราคาแพงขึ้นด้วย และขอฟ้องประชาชนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะขึ้นค่าไฟอีกยูนิตละ 5 บาทช่วงปลายปีนี้ เพราะปัญหาเกิดจากการลงนามในสัญญาเรื่องก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และนโยบายการปล่อยอนุญาตการทำโรงไฟฟ้าอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็น 50% คนไทยต้องมาจ่ายค่าความพร้อมฟรีๆ เดือนละ 8,000 ล้านบาท
ด้านเกษตรกร ก็เจอปัจจัยการผลิตเพิ่มราคา 200-300% ปุ๋ย, ยาปราบศัตรูพืช ขึ้นราคาทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรหวังจะออกจากความยากจน ถึงเวลาขายไม่ได้ ต้นทุนเยอะ เสี่ยงกับหนี้สิน ยิ่งทำยิ่งจน อยู่เฉยๆยังมีกำไรมากกว่า รัฐบาลก็ไม่มีมาตรการดูแลปัจจัยการผลิต ราคาสินค้าก็ลุ่มๆดอนๆ นอกจากสินค้าที่ได้รับการประกันราคา นอกนั้นเป็นลูกเมียน้อย ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เกษตรกรต้องมาขอเศษเงินจากรัฐ
อัดดึง สมช. แก้เศรษฐกิจ ใช้คนไม่เป็น
ส่วนการใช้คนไม่เป็น ก็คือการไปสั่งการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ดูแลปัญหาเศรษฐกิจเงินเฟ้อ ราคาอาหารและวิกฤติพลังงาน ที่เอาหน่วยงานนี้มาเป็นแม่งานก็เพราะกลัวประชาชนออกมาไล่ และการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อวานนี้ (19 ก.ค. 65) ก็เป็นการตั้งขึ้นมาแก้เกี้ยวหลังฝ่ายค้านตักเตือนไป
ขณะที่วิกฤติธุรกิจรายย่อย ถูกลอยแพ การแข่งขันรายใหญ่ผูกขาดทั้งหมด กฎระเบียบราชการกดทับ แถมมีหนี้เสียจำนวนมาก ซึ่ง 5 เดือนแรกของปี การจดตั้งธุรกิจลดลง 3-4% แต่การจดเลิกธุรกิจเพิ่มขึ้น 17% คิดเป็นมูลค่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ภาวะของแพงจะกลับมาซ้ำเติมวิกฤตินี้ด้วย
เตือนวิกฤติค่าเงินบาท
การบริหารค่าเงินบาท 2 ปีที่แล้ว บริหารให้ค่าเงินบาทแข็ง วันนี้บริหารให้อ่อน 8% ทะลุ 36.7 บาท/ดอลลาร์ การส่งออกดีก็จริง แต่ในภาคธุรกิจกำลังอยู่ในความเสี่ยง ถ้าเงินบาทแข็งจะเจ๊งกันหมด ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไว้ได้ อีกทั้งบรรดาธุรกิจรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ที่รัฐบาลออกพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ล้มเหลวทั้งหมด ธุรกิจที่เข้าถึงมีเฉพาะรายย่อยที่แตกบริษัทลูกมารับประโยชน์ เช่นกันกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เหล่าเศรษฐีเอาตัวรอดไปได้ ส่วนประชาชนที่มีรายได้น้อยก็เตรียมเสียภาษีนี้ไปถ้วนหน้า
อีกเรื่องที่สำคัญคือ ระเบิดเวลาเรื่องอัตราดอกเบี้ย ถ้าไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยตามเศรษฐกิจโลก จะเจอการไหลออกของเงินตราอย่างรุนแรง ถ้าปรับดอกเบี้ยขึ้นก็อาจจะตรึงภาวะเงินไหลออกได้บ้าง แต่คนที่เจอผลกระทบคือ ชาวบ้านที่ต้องจ่ายค่าบ้าน และค่าต่างๆ เพราะดอกเบี้ยจะสูง และตอนนี้เกิดเงินเฟ้อรุนแรงทั่วโลกจากสงครามรัสเซียและโควิด กลายเป็นความถดถอยของเศรษฐกิจในระดับโลก ซึ่งประเทศไทยไม่พร้อมรับวิกฤตการณ์นี้แน่นอน เพราะพล.อ.ประยุทธืทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยอ่อนแอมาก ถ้ายังมีพล.อ.ประยุทธ์บริหารอยู่ ประเทศไม่รอดจากวิกฤตินี้
ไม่ควบคุมควบรวมกิจการ
สุดท้าย เอื้อทุนใหญ่ ไม่เคยเอื้อประชาชนลืมตาอ้าปาก วันนี้ทุนใหญ่จะเป็นเจ้าของประเทศอยู่แล้ว มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก หัวใจของนายกฯ มีเพียงนายทุน ลดการแข่งขันเพิ่มการผูกขาด ปล่อยให้เกิดการควบรวมกิจการเฟื่องฟูมาก เช่น แมคโคร-โลตัส, ทรู-ดีแทค ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดอำนาจผูกขาด กระทบการใช้งานของประชาชน เกิดประโยชน์แค่ผู้ถือหุ้น ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร และค่าบริการมือถือจะแพงขึ้น 20-30% ด้วย ขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 หลายมาตรา
“ผมจึงกล่าวหาท่านครับ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐในการกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างเสรีและเป็นธรรม ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังขาดต่อพ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 , พ.ร.บ.กสทช.ปี 2553 ชัดเจนครับว่าท่านละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเร็วๆนี้จะมีการควบรวมกิจการระหว่าง ais และทรีบอร์ดแบรนด์ ท่านเชื่อไหมว่าพลเอกประยุทธ์ก็จะทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่อีกครั้ง” นายจุลพันธ์กล่าว
ขอเวลา 2 ปี ทำ 3 แกน หน้าด้าน
นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ยังวิจารณ์กลยุทธ์ 3 แกนของนายกรัฐมนตรีว่า ถ้าเป็นทีมสื่อสารของนายกฯ จะไม่กล้าปล่อยคลิปนี้ โดยยุทธศาสตร์แรก เรื่อง โครงสร้างพื้นฐานที่จะทำรถไฟความเร็วสูง วันนี้ รถไฟความเร็วสูงทำไปได้ไม่กี่กิโลเมตร สู้ประเทศลาวไม่ได้ ยุทธศาสตร์ 2 เรื่องรถ EV ปัจจุบันการลงทุนไหลไปอินโนนีเซียและเวียดนามแล้ว พล.อ.ประยุทธ์คิดช้าไป 5-6 ปี และยุทธศาสตร์ที่ 3 พลิกโฉมธนาคาร เอาเทคโนโลยีมาใช้ ลูกค้ารายเล็กเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีไม่ได้ทำให้ประชาชนเข้าถึงเงินกู้ ธนาคารมีประสิทธิภาพในการปรับตัวอยู่แล้ว และรัฐบาลไม่มีสิทธิ์ไปบังคับให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ได้
และการขอเวลาอีก 2 ปี จะทำเสร็จนั้น แถวบ้านเรียกว่าหน้าด้าน ประชาชนหมดความไว้ใจในตัวพล.อ.ประยุทธ์แล้ว ทั้งหมดสะท้อนความล้มเหลวการจัดการทางเศรษฐกิจ นำประเทศสู่ความสิ้นหวัง และประเทศอาจจะเหมือนศรีลังกา
“เสียงฝ่ายค้านอาจไม่พอที่จะถอดถอดพล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่งได้ แต่กระแสโกรธแค้นชิงชังของประชาชนกำลังสะสมถึงจุดที่มันเกือบจะระเบิดแล้ว ในโลกออนไลน์เขาฝากคำถามมา เขาถามว่าพล.อ.ประยุทธ์ท่านทำเศรษฐกิจประเทศไทยพังพินาศล้มเหลวขนาดนี้ ท่านจะลาออกไปดีๆ หรือจะให้มาขับไล่แล้วไปอย่างศรีลังกา” นายจุลพันธ์ระบุช่วงท้าย