'ประเสริฐ จันทรรวงทอง' แฉเส้นทางการเงิน 2 พัน ล. ชี้ยังไม่มีกระบวนการติดตามเงิน เผย 'ธณรัสย์ หัดศรี' เจ้าของ บ.การ์เดียน โกลฟส์ ยังอยู่สบาย 'จุรินทร์' โต้อีกฝ่ายเล่าเรื่องเก่า อคส.ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ปปง.ดำเนินการแล้ว เป็นเหตุให้ดำเนินการ จนท.อคส.สามราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 11 คน ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ ภายใต้ยุทธการณ์ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.2565
โดยในช่วงเวลา 9.00 น. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
โดยนายประเสริฐได้กล่าวถึงถึงการทุจริตถุงมือยางในองค์การคลังสินค้า (อคส.) ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้นรับทราบเกี่ยวกับการทุจริตใน อคส.เป็นอย่างดีแต่ว่าเกรงใจนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่กล้าปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายจุรินทร์นั้นมีพฤติกรรมทอดเวลา จนกระทั่งทำให้กลุ่มผู้กระทำผิดสามารถลอยนวลนำเงินที่ได้จากการทุจริตการทำสัญญาถุงมือยางจำนวนสองพันกว่าล้านบาท กระจายเงินไปตามบัญชีต่างๆจนไม่สามารถติดตามคืนมาได้
นายประเสริฐอภิปรายต่อไปถึงเส้นทางการเงินเพื่อดำเนินการฟอกเงินของนายธณรัสย์ หัดศรี เจ้าของบริษัทการ์เดียนโกลฟส์ ว่ามีการโอนเงินให้กับผู้อื่น และยังใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ไม่สามารถติดตามเส้นทางการเงินได้
นายประเสริฐกล่าวต่อไปว่าแต่ก่อนจะไปถึงเรื่องเส้นทางการเงินนั้นต้องขออภิปรายก่อนว่านายจุรินทร์นั้นมีพฤติกรรมไม่ยอมปลดนายสุชาติ เตชจักรเสมา ให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดประธาน อคส.จนครบวาระ และต่อมาก็ยังแต่งตั้งนายวิชัย โภชนกิจ เป็นประธานบอร์ด อคส.คนใหม่ ทั้งๆที่นายวิชัยคนนี้เคยเป็นอดีตอธิบดีกรมการค้าภายในในช่วงที่หน้ากากอนามัยแพง และเสนอแต่งตั้งนายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุตผู้มีความสนิทสนมกับครอบครัวของ นายจุฤทธ์ ลักษณวิศิษฏ์ น้องชายของนายจุรินทร์ เป็นผู้อำนวยการ อคส.
นายประเสริฐกล่าวต่อไปว่าผลของการที่นายจุรินทร์ไม่ยอมอายัดเงินนั้นก็ส่งผลทำให้มีการฟอกเงินและมีการสร้างหนังสือหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ออกหนังสือรับรองยอดเงินฝากเพื่อนำยอดเงินฝากนี้ไปจดทะเบียนที่สำนักทะเบียนหุ้นส่วนจังหวัดนครปฐม
โดยเรื่องของการฟอกเงินนั้นนายประเสริฐกล่าวถึงช่วงเวลาว่าเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2563 บริษัทการ์เดียนรับเงินฝาก 2 พันล้านบาทเป็นค่ามัดจำ 14 ก.พ. 2563 นายจุรินทร์ทราบเรื่องทุจริต แต่ว่ามีการถ่ายโอนเงินไปแล้ว และต่อมาหลังจากนั้น 15 วันคือวันที่ 29 ก.ย. 2563 ป.ป.ช.มีมติอายัดบัญชีเงิน 2 พันกว่าล้านบาท หรือก็คือปล่อยทิ้งไว้ถึง 27 วันกว่าจะดำเนินการอายัดเงิน
นายประเสริฐกล่าวต่อว่าส่วนเรื่องเงินไปเข้ากระเป๋าใครนั้น ต้องขอเรียนว่าในช่วงระหว่างวันที่ 2 ก.ย. -วันที่ 29 ก.ย. 2563 กลุ่มผู้ทุจริตมีการสร้างนอมินีหรือที่เรียกว่าบัญชีม้า โดยหมุนเวียนเงินสดจำนวนกว่า 1.8 พันล้านบาท ที่บริษัทการ์เดียนได้รับมาแล้ว และก็มีการโอนไปโอนมาระหว่างนายธณรัสย์ และบัญชีอื่นๆอีกสามบัญชี โดยบัญชีที่หนึ่งถอนเป็นเงินสดมูลค่ากว่า 56.33 ล้านบาท โดยถอนจากธนาคารหลายแห่ง ได้แก่ธนาคารไทยพาณิชญ์ 5 แห่ง ธนาคารกสิกรหนึ่งแห่ง ทั้งหมดอยู่ใน จ.นครปฐม
นายประเสริฐกล่าวว่าการถอนเงินจำนวนมากจากธนาคารนั้น ธนาคารจะไม่มีการสำรองเงินเอาไว้เป็นจำนวนมาก แต่ว่าการถอนเงินครั้งนี้เหมือนมีการเอาเงินมาคอยไว้เลย เรื่องนี้จึงควรมีการสอบสวนด้วย และต้องดูด้วยว่าธนาคารได้แจ้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือไม่
นายประเสริฐกล่าวต่อไปว่ายังพบด้วยว่ามีการโอนเงินเข้าไปยังนิติบุคคลจำนวน 8 แห่งคิดเป็นเงินมูลค่ารวมกว่า 967.17 ล้านบาท
โดยบริษัทแรกนั้นได้แก่ บ.ตั้งอยู่ ณ ย่านบางนา ซึ่งบริษัทนี้มีวัตถุประสงค์ด้านผลิตเครื่องกำเนิดไอน้ำ คิดเป็นมูลค่า 58.07 ล้านบาท
โอนเงินให้บริษัท จ. ซึ่งั้งอยู่ ณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มูลค่า 273.46 ล้านบาทโดยบริษัทนี้มีวัตถุประสงค์ในการค้ำประกันหนี้สิน แต่บริษัทนี้มีทุนจดทะเบียนแค่ห้าล้านบาท
โอนเงินให้บริษัท ว.ป. ณ ย่านบางเขน มูลค่า 16.44 ล้านบาท ซึ่งสภาพบริษัทยังเป็นอาคารพาณิชย์และยังค้างภาษีกับกรมสรรพากร
โอนเงินไปยังบริษัท ว. ซึ่งอยู่ ณ จ.ภูเก็ต ซึ่งบริษัทนี้ยังได้รับการฟื้นฟูกิจการแต่ก็ไดรับโอนเงินไปกว่า 97.36 ล้านบาท
นายประเสริฐกล่าว่าเรื่องที่แปลกก็คือมีการโอนเงินไปยังบริษัท อาร์เอ็น ณ ประเทศเกาหลีใต้ คิดเป็นเงินมูลค่า 301.01 ล้านบาท ซึ่งนี่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่เป็นรักษาการตามกฎหมายฟอกเงิน และนายจุรินทร์จะต้องสั่งการโดยเร็วเพื่อติดตามการเส้นทางการเงิน 300 กว่าล้านบาทนี้ว่าไปกระเป๋าใครเพราะอาจกลับมายังกระทรวงแถวสนามบินน้ำก็เป็นได้
นายประเสริฐกล่าวว่านอกจากนี้ยังมีการโอนเงินไปยังบุคคลจำนวนสิบรายที่อยู่ทั้งใน จ.กรุงเทพมหานคร จ.ปทุมธานี จ.ระยอง จ.นครนายก และ จ.นครปฐมจำนวนกว่า 151 ล้านบาท ซึ่งบุคคลที่รับโอนเงินดังกล่าวไม่อยู่ในสถานะที่จะรับโอนเงินได้
นายประเสริฐกล่าวย้อนไปว่าการอภิปรายในครั้งที่ผ่านมาได้เคยพูดถึงชื่อ นายศรายุทธ สายคำมี (เอี่ยว) คนสนิทประธานบอร์ด อคส. อดีตผู้สื่อข่าว ซึ่งเป็นอำนวยการ มีความเกี่ยวพันกับการทุจริตตั้งแต่วันที่ 25-31 ส.ค. 2563
ก็ได้รับเงินค่าตอบแทนไปอีกกว่า 19 ล้านบาทจากบริษัทการ์เดียนฯ ภายหลังจากที่บริษัทได้รับเงินจาก อคส.เพียงแปดวันเท่านั้น ซึ่งเงินเหล่านี้เกี่ยวกับการทุจริต
นายประเสริฐกล่าวว่ามีข้อสังเกตชัดเจนว่าเงินเหล่านี้ไม่ได้เป็นการชำระสินค้าแต่มีลักษณะว่าจะนำเงินไปแบ่งปันซึ่งกันและกัน ถ้าหากนายจุรินทร์ไม่ทอดเวลานั้น ก็จะทำให้สามารถอายัดเงินได้ แต่ก็ไม่ทำ ทำให้นายธณรัสย์สามารถโย้กย้ายถ่ายเทเงินไปให้ใครต่อใครได้ ซึ่งนายจุรินทร์เป็นถึงรัฐมนตรีนั้นไม่ต้องมาอ้างว่าเป็นหน้าที่ ป.ป.ช. เพราะตัวเองก็เป็นถึงรัฐมนตรีแต่ไม่ดำเนินการ
นายประเสริฐกล่าวต่อว่าในเรื่องของการทำหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อเพิ่มทุนจะทะเบียน 2.5 พันล้านบาทจากเดิมที่บริษัทการ์เดียนมีทุนทดทะเบียน 5 ล้านบาทนั้น มีข้อสังเกตุว่าเป็นการโอนเงินหมุนเวียนในหลายธนาคารเพื่อให้ธนาคารเหล่านั้นรับรองยอดเงินฝากในวันเดียวกัน หลังจากนั้นก็นำเอาหลักฐานที่ธนาคารหลายแห่งออกให้นายนายธณรัสย์งไปยื่นขอสำนักทะเบียนหุ้นส่วนจังหวัดนครปฐม เพื่อเพิ่มทุนจะจดทะเบียนจำนวน ซึ่งหน่วยนี้ก็สังกัดกระทรวงพาณิชญ์ของนายจุรินทร์
“บริษัทการ์เดียนได้ปฏิบัติการณ์ทุจริตในวันเดียวจบ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. เวลา 9.25 น.มีการออกหนังสือรับรองเงินในบัญชี 858,186,043 บาท หลังจากนั้น 17 นาที คือเวลา 10.51 น.ได้โอนเงินบัญชีดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ของบริษัทการ์เดียน สาขาบิ๊กซี จ.นครปฐม โอนไป 857 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารออกหนังสือรับรองเงินฝากให้ หลังจากนั้นอีกหนึ่งชั่วโมง ก็มีการถอนเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์เข้าบัญชีตนเองธนาคารกรุงไทยสาบิ๊กซี นครปฐม จำนวน 820 ล้านบาท พร้อมกันให้ธนาคารออกหนังสือรับรองยอดเงินฝาก” นายประเสริฐกล่าว
เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อไปว่าหลังจากนั้นนายธณรัสย์ได้นำหนังสือรับรองยอดเงินฝากสามฉบับไปยื่นต่อสำนักทะเบียนหุ้นส่วนจังหวัดนครปฐมเพื่อสร้างหลักฐานอันเป็นเท็จทั้งๆที่ไม่มีการชำระค่าหุ้นอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงต้องขอกล่าวหาว่านายจุรินทร์และ พล.อ.ประยุทธ์ กินหรูอยู่สบาย เพราะปัจจุบันตรวจสอบพบว่านายธณรัสย์จากที่เคยอยู่แค่ตึกเก่าใน จ.นครปฐม ก็สามารถนำเงินที่ได้ไปซื้อรถหรูแลมโบกินี่ นาฬิการิชาร์ดมิลล์ และมีศักยภาพในสังคมเพราะมีเงิน
นายประเสริฐกล่าวว่าถ้านายจุรินทร์ใช้อำนาจยับยั้งมานั้นความเสียหายก็ไม่เกิดขึ้น โดยจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทการ์เดียนนั้นมีการโอนเงินไปยังบุคคลต่างๆจำนวนกว่า 20 รายการ นายธณรัสย์ก็มีการโอนเงินไปยังบุคคลต่างๆที่น่าสงสัยอีก 39 รายการ บริษัทการ์เดียนฯเองก็มีการโอนเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์เข้าบัญชีนายธณรัสย์ 235 ล้านบาท บริษัทการ์เดียนฯมีการโอนเงินไปยังนิติบุคคลอื่นอีก 92 รายการ ถือว่าเยอะมาก และนอกจากนี้ยังมีการโอนเงินจากธนาคารกสิกรไปยังนิติบุคคลอีก 7 บริษัทคิดเป็นยอดเงิน 917 ล้านบาท
นายประเสริฐกล่าวทิ้งท้ายว่าเกือบสองปีแล้วเงินยังไม่ได้กลับคืนมา ซึ่งตนขอเรียกร้องไป ป.ป.ช.สอบสวนพฤติกรรมของนายจุรินทร์และ พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้งหนึ่ง โดยหลังจากการอภิปรายในวันนี้ ก็จะมีการเอาข้อมูลใหม่ เส้นทางการเงินไปยื่นให้กับ ป.ป.ช.อีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่นายจุรินทร์กล่าวว่า นายประเสริฐฉายหนังเก่า ที่พูดมาทั้งหมดนั้นเกือบจะ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องที่พูดมาแล้วคราวที่แล้ว และตนก็ชี้แจงไปชัดเจนแล้ว เกือบจะเรียกว่าทั้งสิ้น เพราะ ป.ป.ช. เขาไต่สวนนั้น ไม่ใช่เอาสำนวนของนายประเสริฐไปไต่สวน เขาไต่สวนเพราะ อคส. องค์การคลังสินค้า ไปยื่นแจ้งกับ ป.ป.ช. ให้สอบสวนคดีทุจริตเรื่องนี้แล้วก็มีความคืบหน้า และคาดว่าอาจจะมีการ มีมติชี้มูล เร็วๆ นี้
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่าที่ไปกล่าวหาว่าตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่ว่า ก็ไม่จริง ตนได้ชี้แจงไปตั้งแต่คราวที่แล้ว และครั้งนี้ก็ขออนุญาตที่จะยืนยัน ไม่จริงทั้งในที่ลับที่แจ้ง ไม่จริงทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผมไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยว เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และทันทีที่ทราบเรื่องก็เข้าไปบริหารจัดการมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวต่อไปว่าขออนุญาตที่จะเรียนชี้แจงว่า ภารกิจของ อคส. ในการที่จะต้องทวงเงินคืนจากการกระทำการทุจริตที่ อคส. จะต้องเป็นเจ้าของเรื่อง ความจริงไม่ได้มีแต่เรื่องถุงมือยาง แต่มีอย่างน้อยเงิน 3 ก้อนใหญ่ๆที่ อคส. จะต้องดำเนินการและทุกกรณีมีความคืบหน้าทั้งสิ้น
1. ที่เราต้องไปทวงเงินคืนคือ 1. ทุจริตถุงมือยาง 2,000 ล้านพร้อมดอก อย่างที่ท่านอภิปราย ตนไม่ปฏิเสธว่า อคส. ต้องทำหน้าที่
2. เงินก้อนที่ 2,504,861 ล้านบาท ที่ อคส. ต้องไปเรียกค่าเสียหายคืนมาจากการทุจริตจำนำข้าวสมัยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นี่ยังไม่จบเลย ไม่เห็นทวงเลยว่ามันช้า เพราะทุกอย่างมีขั้นตอนกระบวนการถ้าใครก็ตามไปทำอะไรนอกกฎหมาย ก็จะกลายเป็นว่ากระบวนการลงโทษ กระบวนการลงโทษนั้นผิดขั้นตอน แล้วก็จะกลายเป็นช่องว่างให้คนที่กระทำการทุจริตเอ่ยอ้างแล้วก็ลอยนวลได้ในที่สุด ต้องมานับหนึ่งกันใหม่อีก
เงินก้อนที่ 3 ที่ อคส. มีภาระจะต้องไปทวงเงินคืนคือ ทุจริตจำนำมันสำปะหลัง คู่แฝดทุจริตจำนำข้าวที่พวกท่านเป็นรัฐบาลนั่นแหละครับ ต้องไปทวงเงินคืนมาทั้งหมด 33,000 ล้าน เดี๋ยวผมจะให้รายละเอียดว่า อคส. ทำมีความคืบหน้ายังไงบ้าง
ขอเริ่มต้นเงินก้อนที่ 1 ก่อนคือเงินทุจริตถุงมือยาง 2,000 ล้านบวกดอกเบี้ย ขออนุญาตเรียนให้ทราบครับว่ากรณีทุจริตถุงมือยางที่ว่านี้ เกิดขึ้นเพราะอดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส. ไปทำสัญญาขายถุงมือยาง 125,000 ล้านบาทให้กับ 7 บริษัท หลังจากนั้นก็มาทำสัญญาซื้อถุงมือยางกับบริษัทการ์เดียนโกล์ฟ 110,000 ล้านโดยประมาณ เพื่อจะได้เป็นเงื่อนไขหรือจังหวะในการเบิกเงิน อคส. ไป 2 พันล้าน อ้างว่าไปจ่ายค่ามัดจำ นี่คือที่มาที่ไป
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่าในประการแรกการเบิกเงินออกไปจากบัญชี 2 กันยายน 63 หลังจากนั้น 10 กันยายน 63 ผู้อำนวยการคนใหม่เข้ารับหน้าที่ ประมาณ 1 สัปดาห์ ท่านทราบเรื่องปั๊บ รายงานให้ตนทราบทันที ว่าพบเงินหายจากบัญชี 2,000 ล้านและในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งย้ายอดีตรักษาการผู้อำนวยการไปอยู่สำนักนายกฯ ทันที
หลังจากนั้นผู้อำนวยการ อคส. ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง แล้วหลังจากนั้น 18 กันยายน ผู้อำนวยการไปแจ้งความอดีตรักษาการผู้อำนวยการกับพวก กับ DSI แล้วก็ไปแจ้งความกับ ปปง. ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินและอายัดบัญชีในทันที ไม่ใช่ไม่ทำ
ถัดจากนั้นผู้อำนวยการ อคส. ไปแจ้งความกับ ป.ป.ช. แปลว่าทันทีที่ ป.ป.ช. รับเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว และ ป.ป.ช. สอบใครก็ได้หมดแล้ว ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตัวเล็กจนตัวใหญ่จนถึงผู้อำนวยการจนถึงประธานบอร์ด ไม่เว้นแม้แต่รัฐมนตรีหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี นี่คือกระบวนการที่นายประเสริฐก็ทราบดี ทำไมจะไม่ทราบ หลังจากนั้นกรรมการ ป.ป.ช. มีมติอายัด บัญชี 2,000 ล้านบาท อายัดไปตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 63 แล้วก็มีความคืบหน้าในเรื่องการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ของ อคส. กรรมการสอบข้อเท็จจริงรายงานผลเสร็จ พบการกระทำผิดอันนี้สอบวินัยเจ้าหน้าที่ เพราะรักษาการผู้อำนวยการเป็นเจ้าหน้าที่ พร้อมกับผู้เกี่ยวข้องชี้มูลความผิด 3 ราย คืออดีตรักษาการผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่อีก 2 ราย ตรงนี้ขอไม่เอ่ยชื่อ จากนั้นผู้อำนวยการ อคส. ก็ตั้งกรรมการสืบสวนต่อไปเพื่อลงโทษทางวินัยตามระเบียบเพราะถ้าไม่ทำไปตามระเบียบ เกิดย้อนแย้งขึ้นมา มีข้อโต้แย้งก็กลายเป็นโมฆะลงโทษคนกระทำความผิดไม่ได้อีก แล้วก็มาถึงจุดที่มีการอภิปรายคราวที่แล้วเรื่องจบอยู่ตรงนี้วันนั้น วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 64
"แต่ว่าอย่างไรก็ตามหลังจากท่านอภิปราย ทุกอย่างมีความคืบหน้าโดยลำดับครับ วันที่อภิปรายผมยืนยันกับสภาชัดเจนว่า 1. ผมไม่เคยมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวกับโครงการนี้หรือการดำเนินการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการไม่เป็นทางการ ที่ลับที่แจ้ง แล้วก็ได้ชี้ให้เห็นว่าวันนั้นท่านโกหกหลายเรื่อง เรื่องกล่าวหาว่าไม่เคยตั้งกรรมการสอบ อันนั้นก็ไม่จริงตั้งกรรมการสอบไปแล้ว กล่าวหาว่าไม่เคยมีการอายัดเงินก็ไม่จริง ป.ป.ช. อายัดเงินแล้ว เขาเป็นองค์กรอิสระที่กฎหมายรองรับ ท่านบอกว่าไม่เคยดำเนินคดีก็ไม่จริง ส่ง ปปง. ส่ง ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการเริ่มต้นกระบวนการยุติธรรมนับหนึ่งแล้วตั้งแต่ 23 กันยายน 63" นายจุรินทร์กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวต่อไปว่าส่วนเรื่องละเมิด คำว่าละเมิดแปลว่าเรื่องการไปติดตามทวงเงิน 2 พันล้านบาท บวกดอกเบี้ยคืน ซึ่งใครกระทำความผิดหรือใครเกี่ยวข้องก็จะต้องนำเงินมาชดใช้ เพราะเงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้เหมือนที่พวกเราเคยได้ยินกัน สุดท้ายก็ต้องไล่เบี้ยจนมีผู้นำเงินมาชดใช้ โดยที่ผ่านมามีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิดโดยแต่งตั้งจากผู้อำนวยการ อคส. มีรองปลัดกระทรวง เป็นประธาน กระทรวงพาณิชย์ ผลการสอบออกมาแล้ว ไม่ใช่ไม่มีความคืบหน้าปล่อยให้เงิน 2,000 ล้านบาทกับดอกไม่มีอนาคต ไม่รู้ใครจะต้องเป็นผู้ชดใช้ ผลสอบออกมาแล้วว่าผู้ที่จะต้องชดใช้เงิน 2,000 ล้านบวกดอก มีด้วยกัน 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่กรรมการสอบระบุว่าเจตนาทำให้รัฐเสียหาย
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่กรรมการชี้ว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เจตนาทำให้รัฐเสียหายมี 4 ราย ต้องชดใช้คนละ 400 ล้าน กับ 800,000 บาท รวม 1,603 ล้าน 4 ราย เพราะเท่ากัน คนละ 400.8 ล้าน 1 ใน 3 รายแรกก็คือเจ้าหน้าที่ที่ถูกชี้มูลความผิดทางวินัย แล้วก็เพิ่มมาอีกคนหนึ่งคือประธานบอร์ด ที่ท่านอภิปรายตะกี้ว่า พยายามปกป้องนั่นแหละครับ แต่วันนี้ชัดเจนว่าประธานบอร์ดก็ถูกชี้ว่าเขาจะต้องรับผิดชอบ ชดใช้ความเสียหายด้วยในข้อหาเจตนาทำให้รัฐเสียหาย 400 ล้านบาทโดยประมาณ
"กลุ่มที่ 2 กลุ่มประมาทเลินเล่อมี 3 ราย เจ้าหน้าที่คนที่ 1 2 3 ผมไม่เอ่ยชื่อ ต้องชดใช้คนละ 133.6 ล้านบาทรวม 400.8 ล้านบาท รวม 2 กลุ่ม เป็น 2,000 ล้านบาทบวกดอกเบี้ย และตามกระบวนการของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องระบุว่าใครชดใครเท่าไหร่ ต้องไปยุติที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้ขาดตามกฎหมายขณะนี้ได้ส่งเรื่องนี้ไปยังกระทรวงการคลังแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 65" นายจุรินทร์กล่าว
"ส่วนการไต่สวนของปปช. ผมทราบจากข่าว ไม่ได้ไปล้วงความลับอะไรมา เพราะเราไม่อยู่ในฐานะจะทำได้ และ ปปช. เขาก็เก็บความลับ แต่เนื่องจากสำนักข่าวอิศราระบุว่า ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปช. ท่านหนึ่งเปิดเผยว่าการไต่สวนคดีทุจริตถุงมือยางเสร็จแล้ว กำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของกรรมการ ปปช. ต่อไป นี่คือความคืบหน้าทางแพ่งกับอาญา ทั้ง 3 เรื่อง แพ่ง อาญา 1. 2. วินัย 3. ละเมิดคือให้ระบุผู้เสียหายที่ต้องมาชดใช้ เพราะฉะนั้นที่ท่านกล่าวหาในญัตติว่าผมปล่อยปละละเลยไม่ติดตามแก้ไขปัญหาทุจริตเพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐ หรือ อคส. จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด นี่คือสิ่งที่ขออนุญาตที่จะกราบเรียน
ในทางตรงกันข้ามกับมีความคืบหน้าในทุกกรณีตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมาย เพราะถ้านอกกฎหมายเมื่อไหร่เป็นโมฆะเมื่อนั้น นั่นคือการสมคบเหมือน เสมือนหนึ่งสมยอมทำให้คนผิดลอยนวลในขั้นตอนสุดท้ายในที่สุด นี่คือเงินก้อนที่ 1 2,000 ล้านบวกดอก จากการทุจริตถุงมือยาง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว