'ณัฐชา' ส.ส.ก้าวไกล แฉ 'จุติ' ตั้งคนสนิท 'นาย จรร.' นั่งบอร์ด กคช. ประวัติโชกโชนด้านปั่นหุ้น พบพิรุธแก้ระเบียบ-ซอยโครงการให้ 'เซ็มโก้' บริษัทในเครือ กคช. รับงานก่อสร้าง-ถมดิน ทั้งที่ภารกิจเดิมทำแค่นิติบุคคลหมู่บ้าน เฉพาะปี 63 รับงาน 821 ล้านบาท เตรียมยื่นหลักฐาน ป.ป.ช.สอบทุจริตต่อ ขณะที่ 'จุติ' เช็คลิสต์ 17 ประเด็น ขอเวลารวมเอกสารแจงอีกรอบ
เมื่อเวลา 21.07 น. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า ครั้งนี้จะเปิดโปงมหกรรมสร้างเพื่อโกง มหากาพย์ผลาญภาษีประชาชนที่พังทลายชีวิตและความมั่นคงของผู้มีรายได้น้อย นายจุติ รับตำแหน่งมา 3 ปี แต่เรายังมองไม่เห็นการพัฒนาในสังคมด้านใดเลยที่ดสีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านที่อยู่อาศัยที่มีรัฐวิสาหกิจรับผิดชอบคือการเคหะแห่งชาติ (กคช.)
กคช.มีโครงการก่อสร้างไปแล้วเกือบล้านยูนิต ใช้งบประมาณลงทุนไปแล้วหลายแสนล้านบาท การดูแลผู้มีรายได้น้อย ก็ไม่ควรที่จะมีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพน้อยตามไปด้วย นายจุติรับตำแหน่งปี 2562 เริ่มแต่งตั้งคนของตัวเองเป็นกรรมการ เป็นบอร์ด กคช. เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2562 มีการตั้งคนสนิทคนหนึ่งที่ไม่ชอบมาพากล ชื่ออักษรย่อ จรร. มีประวัติโชกโชน ด้านการเงิน เป็นนักปั่นหุ้น นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์มาแล้วหลายบริษัท และสนิทกันมาตั้งแต่เป็น รมว.ไอซีที เมื่อปี 2553
นายณัฐชา กล่าวด้วยว่า เมื่อเข้ารับตำแหน่งช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด รัฐมนตรีและพวกมีไอเดียทำโครงการสร้างบ้านเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยเช่าแทน ชื่อโครงการเคหะสุขประชา ปีละ 20,000 ยูนิต รวม 5 ปี 100,000 ยูนิต เป็นโครงการที่ดูแล้วไม่สมเหตุสมผล เพราะจะสร้างบ้านอีกแสนยูนิต ทั้งที่บ้านที่ กคช.สร้างของเก่ายังเหลืออีกเป็นหมื่นยูนิต
นายณัฐชา กล่าวอีกว่า เดิมทีโครงการนี้ไม่ได้ขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนกระทั่งมีการเปลี่ยนผู้ว่าฯ กคช.คนใหม่ จึงได้เสนอโครงการเพื่อให้ ครม.รับทราบเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 แต่เป็นเพียงเรื่องเพื่อทราบ ไม่ได้เพื่ออนุมัติหรือขอความเห็นชอบแต่อย่างใด การศึกษาโครงการรอบแรกพบว่ากว่าโครงการจะคุ้มทุนต้องใช้เวลา 200 ปี จึงมีการปั้นตัวเลขปรับลดรายการค่าใช้จ่ายอื่นจาก 19% เหลือ 10% และปรับแต่งตัวเลขอัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ หรือ EIRR โดยมีการระบุว่าในพื้นที่บ้านเคหะสุขประชา จะมีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ผสมผสาน ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการขายไข่ ขายผัก รวมถึงพับถุงกล้วยแขกขาย ต่อมา มีการเดินหน้าโครงการนำร่องไปแล้ว 2 แห่ง โดยต้องยขออนุมัติ ครม. คือ โครงการเคหะสุขประชาร่มกล้า 270 ยูนิต และ โครงการเคหะสุขประชาฉลองกรุง 302 โครงการ รวม 572 ยูนิต แต่ในพื้นที่ไม่พบว่า ชาวบ้านมีรายได้ตามที่ระบุไว้ใน EIRR แต่อย่างใด
นายณัฐชา กล่าวต่ออีกว่า เมื่อเจาะลึกในรายละเอียด พบว่า ในโครงการบ้านเคหะสุขประชา มีการแยกโครงการถมดินกับโครงการก่อสร้างออกจากกัน พบว่าหลายโครงการถมดินยังไม่ทันได้ก่อสร้าง แต่ไปถมดินรอหมดแล้ว โดยบริษัทที่เข้าไปรับงาน คือ บริษัท จัดการสินทรัพย์และชุมชน จำกัด หรือ เซ็มโก้ ที่ กคช.ถือหุ้น 49% เอกชนถือหุ้น 51% เป็นบริษัทที่ตั้งโดย ครม.เมื่อปี 2537 ไม่เคยรับงานถมดิน ก่อสร้าง เพราะรับอย่างเดียวคือ บริหารจัดการอาคารชุดหรือเป็นนิติบุคคล จึงเป็นบริษัทนี้ไม่มีวิศวกร รถตัก รถไถ หรือรถสิบล้อสักคัน แต่มารับงานถมดิน
เมื่อ ก.พ.2563 กคช.ได้ส่งหนังสือไปถามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่า ถ้าจะให้บริษัทเซ็มโก้ รับงาน กคช.นอกเหนือวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง จะต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.หรือไม่ เขาก็ตอบกลับมาว่า ใช่ หากรับงานนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ ต้องถาม ครม.ก่อน
“กคช.ถือหุ้น 49% อีก 51% เป็นเอกชนรวย ได้กินหัวคิวทุกงาน ก็รวย กินหัวคิว ไม่ต้องทำเอง ลูกน้องไม่มี วิศวกรไม่มี รถไม่มี แต่ได้งานก่อสร้าง ฟันเหนาะๆ ไปเลย มันไม่เข้าหลักการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ต้องคุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ เรื่องนี้หลังจบอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่นิ่งนอนใจแน่นอน ต้องยื่น ป.ป.ช.เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ประเทศชาติ” นายณัฐชา กล่าว
นอกจากนั้นยังพบว่ามีการไปขอแก้วัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อรองรับการดำเนินการงานดังกล่าว และ กคช.ยังปลดระเบียบข้อยกเว้น เพื่อให้บริษัทเซ็มโก้ รับงานได้ อาทิ ยกเว้น่ข้อกำหนดไม่ต้องมีผลงาน ยกเว้นการรับงานกี่สัญญาก็ได้ ยกเว้นเพื่อให้เบิกค่าจ้างล่วงหน้าได้ 15% ก่อนเสร็จงวดงาน ทำให้ในปี 2563 บริษัทเซ็มโก้รับงาน กคช.ไป 26 โครงการ รวม 821 ล้านบาทโดยไม่ผ่าน e-bidding โดยอ้างว่าเป็นบริษัทที่ กคช.ถือหุ้นมากกว่า 25% ได้รับข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และพว่าพบว่าเมื่อรับงานไปแล้วก็ไปจ้างช่วงบริษัทอื่นทำต่อ กลายเป็นการกินหัวคิวอีกทอดหนึ่ง
นอกจากนั้นยังพบว่ามีการซอยโครงการถมดิน เพื่อให้การอนุมัติโครงการอยู่ในอำนาจผู้ว่าฯ กคช.คือวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแน่นอน โดยยกตัวอย่างโครงการถมดิน คลองสี่ จ.ปทุมธานี ในรายงานการประชุมพบว่าเดิมมีแผนจะถมดิน 138 ล้านบาท แต่ถมจริง 49.5 ล้านบาท ส่วนอีกที่คือ จ.สมุทรปราการ รายงานการประชุมบอกว่าที่แปลงนี้ต้องถมดินราว 91 ล้านบาท แต่พอถมจริง 49.5 ล้านบาทเช่นกัน
“ทั้งหมดทำไปเพื่ออะไร มีบันทึกการประชุมวิสามัญของบริษัท ครั้งที่ 2/2563 ลงวันที่ 4 พ.ย.2563 พบว่า นาย จรร.เข้าไปนั่งในที่ประชุมในฐานะตัวแทนผู้ว่า กคช. แจ้งที่ประชุมว่าจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยจะเพิ่มทุนจากบริษัทใกล้เจ๊ง เดิมทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทเป็น 1,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายผู้ถือหุ้นลงมติคว่ำ แผนที่วางไว้ล้ม ก็ยังพบว่ามีการโทรศัพท์ทั้งข่มขู่และเจรจากับผู้ถือหุ้น ซึ่งมีบันทึกไว้แล้วทั้งหมด” นายณัฐชา กล่าว
นายณัฐชา กล่าวต่อด้วยว่า เมื่อแผนเดิมไม่สำเร็จ จึงมีการวางแผนใหม่ มีการนัดคุยกันที่โชว์รูมรถแห่งหนึ่งแถวรามอินทราของนาย จรร. จนเกิดมหากาพย์ภาคสุดท้าย คือ เสนอ ครม. ตั้งบริษัทใหม่ ชื่อ บริษัทเคหะสุขประชา หลัง ครม.เห็นชอบ เพิ่งมีการจัดตั้งบริษัทเมื่อ มี.ค.2565 ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท โดย กคช.ถือหุ้น 49% ส่วนที่เหลือก็บริษัทลิฟท์ ประตู หน้าต่างก็มาลงขันกัน วัตถุประสงค์เมื่ออ่านอย่างรายละเอียดก็คือฝาแฝด บริษัทเซ็มโก้ จึงเกิดคำถามว่าผ่าน ครม.มาได้อย่างไร
ต่อมายังพบว่า มีการแก้ระเบียบ กคช.เพื่อให้เข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้บริษัทที่เพิ่งตั้งใหม่ได้ไม่ถึง 1 เดือนนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม เพราะเดิมที กคช.ก็อยู่ในสถานะเดียวกันกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่าท่านกำลังจะตั้งบริษัทเพื่อรีดกำไรไปให้บริษัทที่ กคช.ถือหุ้น 49% เอกชนถือหุ้น 51% ส่วน กคช.เองจะต้องเจอปัญหาเรื่องขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้ใน ครม.มีคนคัดค้าน 1 คน คือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ให้ความเห็นชัดเจน ว่า กคช.ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกข้อบังคับดังกล่าเห็นควรให้ กคช.กำกับดูแลบริษัทในเครือให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และไม่เป็นภาระกับ กคช. แต่อย่างไรก็ตามการแก้ระเบียบดังกล่าวก็ผ่านการพิจารณามาได้สำเร็จ
นายณัฐชา กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้ปล่อยผ่านไม่ได้ เพราะยังไม่จบสิ้นกระบวนการทั้งหมด ตอนนี้เหลือสลักก้อนสุดท้ายที่ยังทำไม่เสร็จ คือการถ่ายโอนทรัพย์สิน กคช.ไปให้บริษัทนี้ และเราทุกคนสามารถยุติเรื่องเหล่านี้ โดยการลงมติไม่ไว้วางใจ นายจุติ พวกเราช่วยกันเพื่ออนาคตของ กคช. อนาคตของลูกหลานประชาชนคนไทย
‘จุติ’เช็คลิสต์ 17 ประเด็น ขอรวมเอกสารตอบอีกที
ต่อมา นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชี้แจงว่า ขอบคุณที่ให้เกียรติตรวจสอบการทำงานของ พม. และได้จดเรื่องที่กล่าวหาตนหลายสิบประเด็น มีจริงบ้าง ผิดพลาดจากข้อเท็จจริงบ้าง จริงครึ่งเท็จครึ่งบ้าง แต่ขอยืนยันว่า ความรู้สึกในฐานะผู้บริหารก็อยากให้ กคช.มีการเปลี่ยนแปลง และสนับสนุนสิ่งที่จะยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบในสิ่งที่คิดว่าผิดปกติ ทั้งนี้ สิ่งที่นายณัฐชาพูดย้อนไปถึงเรื่องที่เกิดปี 2537 และ ปี 2543 ตนกำลังให้ผู้บริหาร กคช.ตรวจสอบเอกสาร เพื่อมาชี้แจงว่าข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง
ด้วยความเคารพการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 90% ที่หยิบมาพูดวันนี้ เกิดขึ้นก่อนตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีแ แต่ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ มาก็ต้องแก้ไข เมื่อรัฐบาลมอบให้ตนกำกับดูแล กคช. เดือนแรกที่เข้าไปก็ได้รับรายงานว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบบัญชี กคช.และพบความผิดปกติบางอย่างกับบริษัทลูก กคช. รวมถึงการจัดการทรัพย์สินที่มีปัญหา
สตง.ตรวจพบ 1.ความผิดปกติของการจัดทำบัญชีที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน 2.ความผิดปกติเกี่ยวกับการใช้บริษัทลูกเซ็มโก้และผลประโยชน์ในบริษัทเซ็มโก้ 3.เสนอตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง 4.หากพบความไม่โปร่งใสในการแต่งตั้งและการบริหารงานของกรรมการผู้จัดการเซ็มโก้ ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด ควรกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อให้บริหารงานโปร่งใส ทักท้วงเรื่องคืนเงินประกันล่าช้าและมีข้อร้องเรียนด้วย
“ผมยอมให้สภาตรวจสอบผมเต็มที่ แต่ผมจะไม่ยอมให้ใครมาบิดเบือนข้อเท็จจริง” นายจุติ กล่าว
นายจุติ กล่าวย้ำว่า ขอใช้เวลาพูดถึง 17 ประเด็นที่คิดว่าผู้อภิปรายใช้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมากและทำให้ กคช.เสียหาย ตนเสียหาย และรัฐบาลเสียหาย แต่ขออนุญาตประธานให้สมาชิกอภิปรายต่อไป และจะขอเวลารวบรวมเอกสารเพื่อมาชี้แจงต่อสภาเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เช่น 1.ขอปฏิเสธว่าไม่เคยแอบอ้างเรื่องสถาบันเรื่องการสร้างบ้าน 2.มีการพูดตลอดเวลาว่า เขาเล่าต่อๆมา และที่กล่าวหาว่าโครงการใช้เวลา 200 ปีกว่าจะคุ้มทุน ก็เป็นข้อมูลภายในที่มั่วๆ ซึ่งทราบแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วข้อมูลมาจากไหน
รวมถึงการอ้างมติ ครม. การอ้างวันที่ผู้ว่าฯ กคช.เข้าสู่ตำแหน่ง หรือพ้นตำแหน่งเป็นข้อมูลที่ผิดจากข้อเท็จจริงทั้งหมด หากไม่ชี้แจงสภานี้จะเข้าใจผิดว่ามีการทุจริตจริงเกิดขึ้น ทั้งที่ตนได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ไปจัดการปัญหา กคช.เรื่องทุจริต ตามข้อสังเกตของ สตง. และข้อสังเกตของ ป.ป.ช. และขอย้ำว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้ส่งหลายเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้ว
“ขอใช้เวลาไม่นานไปรวบรวมเอกสาร เพื่อให้สบายใจว่าการทำงานของรัฐบาล เรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตั้งใจดี ที่จะให้พี่น้องมีบ้านอยู่” นายจุติ กล่าว
นายจุติ กล่าวต่ออีกว่า เราได้จัดการปัญหา เช่น บริษัทรับเหมาเช่าช่วงจาก กคช.เดือนละไม่ถึงพันบาท และไปปล่อยกู้ชาวบ้านยากจนเดือนละ 2-3 พันบาท เรื่องนี้แก้ไขไปเยอะ มีผู้เสียประโยชน์มากมาย จึงเป็นที่มาของการเล่าข่าวผิดๆ ฟังความข้างเดียว มาเสนอให้สมาชิกได้ตรวจสอบ จึงเป็นที่มาของข้อมูลที่คลาดเคลื่อน