สธ.เปิดรายงาน โควิดรายสัปดาห์ ATK 1.4 แสน เสียชีวิต 165 ราย คาดยอดตายพุ่งถึงจุดพีกเดือน พ.ย. สูงสุด 400 รายต่อสัปดาห์ หากการ์ดตก เผยกลุ่มเสี่ยง 608 แม้ฉีดวัคซีน 3 เข็มแล้วยังเสียชีวิต เหตุทิ้งช่วงหลังเข็ม 3 นานเกิน ขณะที่ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) เข้ามาล็อตแรกสัปดาห์หน้า 7,000 ชุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ATK เป็นบวก รวม 143,827 ราย เสียชีวิต 165 ราย ส่วนแนวโน้มพบผู้ป่วย ผู้ป่วยกำลังรักษา ในสัปดาห์นี้ใกล้เคียงช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมทั้งกลุ่มที่อาจไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันของตนเองได้หลังรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เช่น ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ ส่วนจำนวนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต ส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล พบอัตราครองเตียงระดับ 2-3 สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น และเริ่มพบสัญญาณจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัดท่องเที่ยว จึงต้องเน้นเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์การระบาดของโรค ช่วงหลังวันหยุดยาว โดยเฉพาะจุดเสี่ยงสำคัญต่อการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เช่น โรงเรียน วัด ศาสนสถาน แหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งโรงพยาบาล และสถานประกอบการ
“ที่น่าสนใจ คือ ระยะหลังพบว่ากลุ่ม 608 แม้ฉีดวัคซีน 3 เข็มแล้วยังเสียชีวิต โดยเฉพาะหลังฉีดเข็ม 3 แล้ว 3-4 เดือน ดังนั้น อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแนะนำว่าการฉีดเข็มกระตุ้นเข็มต่อไปควรห่างจากเข็มล่าสุดประมาณ 3-4 เดือน อีกกลุ่มหนึ่งสำคัญ คือ ผู้ป่วยโรคไต ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่พบการเสียชีวิตมากสุด ถึง 36 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิต 152 ราย” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวถึงฉากทัศน์ของโควิด-19 ช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2565 ว่า กรณีที่ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดแยกกักตัวผู้ป่วย ไม่กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ประชาชนย่อหย่อนต่อมาตรการ UP สวมหน้ากาก น้อยกว่า 50% ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวในรพ. ช่วงสัปดาห์ที่ 24 หรือประมาณเดือนมิถุนายนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงจุดพีคที่เกือบถึง 8 หมื่นรายต่อสัปดาห์ในสัปดาห์ที่ 33 หรือเดือนสิงหาคม-กันยายน
แต่ในกรณีที่คงมาตรการป้องกันโรค และประชาชน ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 ได้เพิ่มจะทำให้จุดพีคช่วงเดือนในเดือน ส.ค.-ก.ย. มีผู้ป่วยต่ำกว่า 4 หมื่นราย โดยสถานการปัจจุบันอยู่ในยังมีแนวโน้มไปในทางที่ควบคุมได้
ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจจะมีจุดพีคในสัปดาห์ที่ 46 หรือประมาณเดือน พ.ย. โดยกรณีเลวร้ายสุดจะมีผู้ป่วยมากกว่า 800 ราย ส่วนกรณีดีที่สุดจะมีผู้ป่วยต่ำกว่า 500 ราย ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มไปในทางสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ด้านจำนวนผู้เสียชีวิตคาดว่าจะมีจุดพีคในเดือน พ.ย. เช่นกัน โดยกรณีเลวร้ายจะมีผู้เสียชีวิต 400 รายต่อสัปดาห์ ส่วนกรณีดีที่สุดจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 200 รายต่อสัปดาห์ โดยแนวโน้มปัจจุบันไปในทางที่กรณีมีผู้เสียชีวิตสูง
นพ.โอภาส กล่าวถึงมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขว่า สำหรับประชาชน และผู้ประกอบการ ให้ทุกคนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล 2U โดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์หลังวันหยุดยาว คือ Universal Prevention ขณะร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก หรืออยู่ในสถานที่ปิด (D: Distancing, M: Facemask, H: Hand washing, T: ATK test เมื่อมีอาการป่วย) โดยกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 ต้องเร่งรับการฉีดวัคซีนในทุกเข็มตามมาตรการ Universal Vaccination เพื่อช่วยลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต หากพบการติดเชื้อโควิด-19
ส่วนหน่วยงาน สถานประกอบการ พิจารณาให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และไม่แสดงอาการหรือมีอาการป่วยเล็กน้อย ให้แยกกักตัวที่บ้าน 7 วัน และหลังจากนั้นกลับมาทำงานได้ โดยช่วง 3 วันแรก ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา งดร่วมรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และเลี่ยงเข้าร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก หรือ 'ทำงานที่บ้าน (WFH) 7 + 3 วัน' ในส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา เลี่ยงร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก
"สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง เช่น กลุ่ม 608 ที่เริ่มมีอาการป่วย ผู้ป่วยเริ่มมีสัญญาณอาการป่วยรุนแรงขึ้น ให้รีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับยาต้านไวรัสให้ทันเวลา และลดการเสียชีวิต สำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอ แม้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย Long Acting Antibody (LAAB)" นพ.โอภาส กล่าว
สำหรับแนวทางการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ในประเทศไทย จากการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และ UHosNet วันที่ 1 ก.ค. 2565 ได้มีปรับลดการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากเดิม 60 ล้านโดส ให้เหลือแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 35.4 ล้านโดส และเปลี่ยนวัคซีนบางส่วนเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-acting antibody : LAAB) จำนวน 257,500 โดส โดยคาดว่าจะได้รับมอบ LAAB ในลอตแรก ในวันที่ 25 ก.ค. 2565 จำนวน 7,000 โดส โดยส่วนที่เหลือจะทยอยได้รับมอบภายในปี 2565
นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลทั่วไปของ LAAB ใช้ในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่อายุ 12 ปี และมีน้ำหนัก 40 กิโลกรัมขึ้นไป ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกทั้ง 2 ข้าง ใช้เป็นการป้องกันก่อนสัมผัสโรคโควิด-19 (Pre-exposure prophylaxis) ผู้ที่ไม่ได้กำลังติดเชื้อ หรือไม่ได้เป็นผู้ที่เพิ่งสัมผัสเสี่ยงสูงต่อโรคโควิด-19 และเป็นผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ด้วยความจำเป็นบางประการ (แพ้วัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีน)
นพ.โอภาส กล่าวว่า สายพันธุ์โอไมครอน BA.4 และ BA.5 อาการเด่นคือเจ็บคอ ระคายคอ มีน้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามตัว อาการเหมือนไข้หวัดเพราะฉะนั้นคนหนุ่มคนสาวแข็งแรง ฉีดวัคซีนมาแล้วอาการก็จะอยู่ประมาณนี้ อย่านิ่งนองใจโดยคิดว่าเป็นหวัดแต่หากมีอาการแล้วควรตรวจ ATK สำหรับบริษัทห้างร้านหากมีคนติดโควิด ถ้าอาการน้อยให้แยกกักตัวที่บ้านตามคำแนะนำแพทย์ 7 วันเป็นอย่างน้อย หลังจากนั้นหากสบายดีก็สามารถกลับมาทำงานได้ อย่างไรก็ตามช่วง 3 วันแรกขอให้งดเว้นการพบกับผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
รศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Mathematic Modeling สำหรับโรคติดต่อ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อการรักษาชีวิตของคนในประเทศไทยว่า จากที่มีงานวิจัยตีพิมพ์วารสารวิชาการ ซึ่งที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกได้ประเมินว่าหลังจากทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วงเวลา 1 ปีช่วง 8 ธ.ค.2563-8 ธ.ค.2564 ใน 1854 ประเทศ ผลปรากฏว่า ช่วยรักษาชีวิตคนได้ประมาณ 20 ล้านคนทั่วโลก ส่วนเฉพาะประเทศไทย วัคซีนทุกชนิดที่มีการฉีดช่วง 28 ก.พ.2564 -8 ธ.ค.2564 ช่วยรักษาชีวิตคนไทยไว้ได้ 382,600 ราย
แต่สถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทยไม่ได้จบเพียงช่วงเวลาดังกล่าว แต่เจอสายพันธุ์โอมิครอนระบาดช่วงปลายปี 2564 คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดลร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด-19ช่วยรักษาชีวิตคนไทยได้เท่าไหร่ หลังจากวันที่ 8 ธ.ค.2564 โดยใช้แบบจำลองเดียวกับงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่า สามารถช่วยรักษาชีวิตคนไทยจากโควิด-19 ได้เพิ่มเติมอีกประเมาณ 107,400 ราย เมื่อรวมแล้วที่ผ่านมาวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิด ช่วยรักษาชีวิตคนไทยไว้ตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 - 3 ก.ค.2565 490,000 ราย ถือว่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังไม่รวมถึงการช่วยลดค่าใช้จ่ายอื่นๆด้วย เช่น เมื่อป่วยไม่หนักก็ไม่ต้องเสียค่ารักษามาก เป็นต้น
รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของอัตราการเสียชีวิต ช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละบุคคลจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยหากคนอายุ 60 ขึ้นไปมีโอกาสเสียชีวิต 1 - 10% แต่หากเฉลี่ยทุกช่วงอายุอยู่ที่ประมาณ 1.15% แต่เมื่อมีวัคซีนแล้วอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดโควิด-19 เริ่มลดลงเรื่อยๆและลดลงอีกเมื่อมีการฉีดเข็มกระตุ้น แต่พบว่าภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนจะลดลงตามเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสายพันธุ์โอมิครอน ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะลดลงเร็วมากและคนที่ติดสายพันธุ์โอมิครอนก่อนหน้ายังติดโอมิครอนซ้ำได้อีก จึงมีความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจนำไปสู่อาการรุนแรงและเสียชีวิต
“วัคซีนมีประโยชน์มากแต่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะลดลงไปตามเวลาถือเป็นธรรมชาติของภูมิคุ้มกัน คล้ายกับผลของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดกันทุกปี ตอนนี้โควิดมีสายพันธุ์ใหม่ที่หน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิมนิดหน่อย ดังนั้นการฉีดวัคซีนกระตุ้น ในระยะเวลาที่เหมาะสม 4-5 เดือน ฃประสิทธิผลจะยิ่งมากเมื่อคนอายุมาก มีความคุ้มค่า” รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าว