ปปง.สั่งยึดอายัดทรัพย์ ‘จินตนา ยืนนาน’ กับพวก 17 รายการ โฉนด บ้านในกรุงเทพฯ คอนโดฯ เงินฝาก สิทธิเรียกร้องประกันชีวิต รวม 18.6 ล. คดีทุจริตออกเอกสารสิทธิเขาหมาแหงน ต.บ่อผุด เกาะสมุย สุราษฎร์ฯ 120 ไร่ แฉคัดสำเนา ส.ค.1 แปลงอื่นมาสวมยื่นออกในที่ดินตนเอง หลัง จนท.ชุดกองทัพภาคที่ 4 แจ้งจับ ปี 2562
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2565 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.139/2565 เรื่องยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางจินตนา ยืนนาน กับพวก จำนวน 17 รายการ มูลค่า 18,689,974 บาท คดีออกเอกสารสิทธิบริเวณพื้นที่เขาหมาแหงน ตําบลบ่อผุด อําเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมิชอบ มีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า
คำสั่งระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 เจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่ดินทํากินของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 4 ได้แจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบ่อผุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อดําเนินคดีแก่นางจินตนา ยืนนาน กับพวก ร่วมกันออกเอกสารสิทธิบนพื้นที่เขาและทะเล บริเวณพื้นที่เขาหมาแหงน ตําบลบ่อผุด อําเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่านางจินตนา กับพวก คัดสําเนาหลักฐานแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 311 ตําบลบ่อผุด อําเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วนําไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินของตนเองโดยมิชอบ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ทรัพย์สิน 3 รายการที่ถูกยึด ได้แก่ โฉนดที่ดิน เนื้อที่ 39 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในเขตจตุจักร กรุงเทพฯ มูลค่า 10 ล้านบาท ห้องชุด 2 รายการ มีชื่อ นางจินตนา ยืนนาน ครอบครองหรือถือกรรมสิทธิ์
ทรัพย์สิน 14 รายการที่ถูกอายัด ได้แก่ เงินในบัญชีเงินฝาก บัญชีสลากออมสิน ในชื่อ นางจินตนา ยืนนาน , นายโชคดี ศรัณยพิพัฒน์ และ นายสุริญญา ยืนนาน
สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิต ในชื่อนายชัยดิษฐ์ ช่อคง นายประวิทย์ บุษบง และนายโชคดี ศรัณยพิพัฒน์ (ดูเอกสาร)
สำนักข่าวอิศรารายงานที่ดินบริเวณดังกล่าวเคยตกเป็นข่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2564 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะและที่ป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ภาคใต้ ภายหลังจาก พล.ท.พรศักดิ์ พลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น ได้รับเรื่องร้องเรียนและเข้าตรวจสอบพบมีกลุ่มนายทุนรุกรุกออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่เขาหมาแหงน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานีประมาณ 120 ไร่
คําสั่งคณะกรรมการธุรกรรม
ที่ ย.139/2565
เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากตํารวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามหนังสือที่ ตช ๐๐23(สฎ)/1348 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เรื่อง ส่งแบบรายงานตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รายนางจินตนา ยืนนาน กับพวก เพื่อให้สํานักงาน ปปง. พิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า กล่าวคือ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 เจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่ดินทํากินของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 4 ได้แจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบ่อผุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อดําเนินคดีแก่นางจินตนา ยืนนาน กับพวก กรณีเกี่ยวกับปัญหาการออกเอกสารสิทธิบนพื้นที่เขาและทะเล บริเวณพื้นที่เขาหมาแหงน ตําบลบ่อผุด อําเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่านางจินตนา ยืนนาน ได้ร่วมกับพวก คัดสําเนาหลักฐานแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 311 ตําบลบ่อผุด อําเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วนําไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินของตนเองโดยมิชอบ โดยแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐาน “ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอม โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทําการตามหน้าที่ จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สําหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, ร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทํา ด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทําลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่น” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 267 และมาตรา 268 ประกอบ มาตรา 83 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 55 ประกอบมาตรา 83 พนักงานสอบสวน สถานีตํารวจภูธรบ่อผุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี รับไว้เป็นคดีอาญาที่ 1422/2562 อันเข้าลักษณะเป็นความผิด มูลฐานตามมาตรา 3 (5) และ (15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางจินตนา ยืนนาน กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด ดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ม. 190/2565 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2565 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายนางจินตนา ยืนนาน กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการ ตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้วปรากฏหลักฐาน เป็นที่เชื่อได้ว่านางจินตนา ยืนนาน กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (5) และ (15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวม พยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 17 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน ในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อาจดําเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลง ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้ และสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร สลากออมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตและเบี้ยประกันชีวิต อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของ หรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สิน ดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางจินตนา ยืนนาน กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 17 รายการ พร้อมดอกผล กล่าวคือ มีคําสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จํานวน 3 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 3 และมีคําสั่งให้อายัด ทรัพย์สิน จํานวน 14 รายการ ได้แก่ รายการที่ 4 ถึงรายการที่ 17 พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2565 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สิน ที่ถูกยึดและอายัดดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับ แจ้งคําสั่งเป็นหนังสือ
อนึ่ง การยักย้าย ทําให้เสียหาย ทําลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้สูญหายหรือทําให้ ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน อาจมีความผิดทางอาญาและต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542
สั่ง ณ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2565