'มนัญญา' ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยปัญหาทุจริตสหกรณ์สวนปาล์มน้ำมันกระบี่ หลังกลับมามีเงินหมุนเวียนเริ่มทำธุรกิจได้ เตรียมถอดโมเดลใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาต่อ เตือนผู้บริหารสหกรณ์อื่นไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ระวัง ปปง. ตำรวจ ดีเอสไอ จะมาเยือนถึงบ้าน ถูกเล่นงานทั้งคดีอาญาแพ่ง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2565 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสมชาย หาญภักดีปฎิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายรพีพร จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นางระพีพร กลั่นเนียม รองอธิบดีกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ และนายศุภชัย คำคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการคดีพิเศษ ภาค 8 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงพื้นที่ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ม.1 ต.คลองยา อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เพื่อพบปะกับเหยื่อการทุจริตของอดีตผู้บริหารชุมนุมสหกรณ์ หรือเกษตรกรสมาชิกชาวสวนปาล์มน้ำมัน กระบี่ ซึ่งได้ร่วมกันแจก หนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน.3) จำนวน 21 ราย และหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน. 5) จำนวน 18 ราย ให้กับสมาชิกสหกรณ์นิคมอ่าวลึก
น.ส.มนัญญา กล่าวว่า เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ซึ่งมีคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และรองอธิกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่กำกับดูแลกองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้าเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
"ในวันนี้ได้เดินทางมารับทราบข้อมูลในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่ และมาพบปะผู้เสียหายหรือเหยื่อจากการทุจริตในชุมนุมสหกรณ์ และกรณีนี้มีผู้เสียหายจำนวนกว่า 50,000 ครอบครัว จากยอดเงิน 1,190.00 ล้านบาท บริหารจนเหลือเงินเพียงหลักหมื่นบาท แต่เมื่อมีการแก้ปัญหาตรงจุด ชุมนุมสหกรณ์จึงสามารถเกิดได้อีกครั้ง และทราบว่าขณะนี้พอที่จะมีเงินหนุมเวียนในการบริหารสหกรณ์และเงินหมุนเวียนในการซื้อผลปาล์มจากสมาชิก
นอกจากนั้น จะหาช่องทางในการสนับสนุนสหกรณ์แห่งนี้ให้สามารถบริหารได้ตามหลักปรัชญาสหกรณ์ และจะได้นำเอาการแก้ปัญหาในครั้งนี้ไปถอดบทเรียนและเป็นแบบอย่างแก้ปัญหาสหกรณ์อื่น ๆ อีกหลายแห่งที่มีปัญหาของสหกรณ์
"ขอฝากผู้บริหารสหกรณ์ต่าง ๆ ทุกสหกรณ์ว่าภารกิจที่ท่านทำเป็นความหวังของสมาชิกสหกรณ์และหากท่านไม่ซื่อสัตย์ต่อสมาชิกท่านก็อาจจะได้รับบทเรียน เหมือนอย่างอดีตผู้บริหารของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ซึ่งจะมีการดำเนินการทั้งแพ่งและอาญา คณะกรรมการ ทั้ง ปปง.ตำรวจ และดีเอสไอ ก็จะมาเยือนท่านถึงบ้านและแจ้งข้อกล่าวหาท่านและอาจจะลึกถึงการอายัดทรัพย์สินท่านหากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนพบเส้นทางการเงินที่ผูกพันกับการทุจริต" น.ส.มนัญญา กล่าว
ขณะที่นายสมชาย เทพจิตร ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด จดทะเบียนสหกรณ์เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2540 ตั้งอยู่ที่ 36 หมู่ที่ 1 ต.คลองยา อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ทุนจดทะเบียน 60,000 บาท มีสหกรณ์สมาชิก จำนวน 5 สหกรณ์ ประกอบด้วย
-
สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด
-
สหกรณ์นิคมปลายพระยา จำกัด
-
สหกรณ์นิคมปากน้ำ จำกัด
-
สหกรณ์การเกษตรอ่าวลึก จำกัด
-
สหกรณ์การเกษตรปลายพระยา จำกัด
วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการประกอบอาชีพทำสวนปาล์มน้ำมัน และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตปาล์มน้ำมัน ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2545 ชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้รับอนุมัติเงินกู้โครงการสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ วงเงิน 270 ล้านบาท ตามแผนโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างเพื่อการเกษตร (ASPL) ดำเนินการก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดกำลังการผลิต 45 ตันทะลายต่อชั่วโมง สิ้นสุดโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2547 และได้เปิดดำเนินการรวบรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันจากสหกรณ์สมาชิกเมื่อเดือน มี.ค. 2547 เป็นต้นมา ปัจจุบันชุมนุมสหกรณ์ฯ มีสมาชิก จำนวน 13 สหกรณ์
ในปี 2553 ชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ขยายกำลังการผลิตเป็น 60 ตันทะลายต่อชั่วโมง สามารถรับผลผลิตปาล์มน้ำมันสดเข้าผลิตวันละ 1,200 – 1,400 ตันต่อวัน และในปี 2556 ชุมนุมสหกรณ์ฯ สามารถขยายกำลังการผลิตจาก 60 ตันทะลายต่อชั่วโมง เป็น 90 ตันทะลายต่อชั่วโมง ซึ่งในปัจจุบันชุมนุมสหกรณ์ฯ สามารถรองรับผลปาล์มน้ำมันได้ 2,000 – 2,200 ตันต่อวัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูป ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ เมล็ดในปาล์ม กะลาปาล์ม ปัจจุบัน ชุมนุมสหกรณ์ฯ มีโรงงาน จำนวน 3 โรงงาน คือ
-
โรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ กำลังการผลิต 10,000 ลิตรต่อวัน เพื่อเป็นพลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้งบยุทธศาสตร์จังหวัดกระบี่ ปี 2548 วงเงิน 18.5 ล้านบาท
-
โรงบีบเมล็ดในปาล์ม กำลังการผลิต 120 ตันต่อวัน วัตถุดิบเพียงพอจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของชุมนุมสหกรณ์ฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556
-
โรงฉีกทะลายสับ กำลังการผลิต 10 ตันทะลายต่อชั่วโมง เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561
การดำเนินงานในปีบัญชี 2565 ชุมนุมสหกรณ์ฯ สามารถรวบรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันทั้งสิ้น จำนวน 67,328.18 ตัน คิดเป็นมูลค่า 694,600,534.30 บาท สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปผลผลิตปาล์มน้ำมัน ดังนี้
-
จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 11,498.14 ตัน มูลค่า 616,167,805.50 บาท
-
จำหน่ายเมล็ดใน จำนวน 3,483.78 ตัน มูลค่า 101,175,076 บาท
-
จำหน่ายกะลาปาล์ม จำนวน 2,759.47 ตัน มูลค่า 10,155,756 บาท
-
จำหน่ายทะลายเปล่า จำนวน 14,206.09 ตัน มูลค่า 2,000,789.80 บาท
ปัจจุบันมีส่วนเหลื่อม จำนวน 11,331,137.52 บาท
ด้านนายศุภชัย คำคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการคดีพิเศษ ภาค 8 กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า กรณีการทุจริตและยักยอกทรัพย์ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จํากัด พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการเข้าตรวจค้น จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าตรวจค้นเป้าหมายบ้านพักของอดีตผู้บริหารของชุมนุมสหกรณ์ฯ ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ จำนวน 9 จุด ครั้งที่ 2 เข้าตรวจค้นโรงงานของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย และเป็นที่ตั้งสถาน ประกอบการของบริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด
จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน โดยสอบปากคำผู้กล่าวหา 4 ปาก ได้แก่ 1) ตัวแทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ 2) นายสมชาย เทพจิตร ประธานชุมนุม สหกรณ์ฯ ชุดปัจจุบัน 3) ผู้แทนชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด และ 4) ผู้แทนสหกรณ์กองทุนสวนยางน้ำจานสามัคคี จำกัด และสอบสวนจากเอกสารทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องและพฤติการณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายเป็นความผิดตาม มาตรา 353 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 51/1, 51/2 ประกอบมาตรา 133/5 หลายครั้ง หลายกรรม ต่างกัน
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของอดีตคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด และ บุคคลที่เกี่ยวข้อง มีเหตุอันควรเชื่อว่าอาจมีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จึงได้ขออนุมัติ ต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน ร่วมกันกับสำนวนคดีความผิดมูลฐานในคดีพิเศษที่ 215/2565 ในคราวเดียว
ต่อมา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อนุมัติให้ดำเนินคดีฐานฟอกเงินรวมกันกับสำนวนคดี ความผิดมูลฐาน และมอบหมายให้กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ รายงานการกระทำความผิดฐานฟอกเงินไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ทำงานคลี่คลายคดีนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ กรมส่งเสริมสหกรณ์
โดยมีอัยการจากสำนักงานอัยการสอบสวน จากการแต่งตั้งของอัยการสูงสุดมาร่วมสืบสวนสอบสวน จะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายภายใต้นโยบาย ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่มุ่งมั่นต้องการนำทรัพย์ของผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกสหกรณ์หรือเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันกว่า 50,000 ครอบครัว คืนให้กับผู้เสียหาย ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ปัจจุบันคดีนี้ยังไม่มีการยึด หรืออายัดทรัพย์สินใด