‘หมอยง’ ชี้สถานการณ์โควิดไทย เข้าสู่การระบาดระลอกที่ 6 แพร่กระจายเร็วในกลุ่มเด็กนักเรียน คาดมีผู้ติดเชื้อหลักหมื่น แต่อัตราเสียชีวิตน้อยลงกว่าระลอกแรกๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า การระบาดของโควิดรอบใหม่นี้ นับเป็นระลอกที่ 6 เป็นการระบาดด้วยสายพันธุ์โอไมครอน BA.5
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ถ้าย้อนไปดูการระบาดระลอกแรก เกิดขึ้นในเดือน มี.ค.-เม.ย.2563 ที่สนามมวยและสถานบันเทิง เป็นจุดเริ่มต้น มีผู้ป่วยเป็นหลักสิบ สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่น
การระบาดระลอกที่ 2 เริ่มต้นที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ในแรงงานต่างด้าว กลางเดือน ธ.ค.2563 มีผู้ป่วยเป็นหลักร้อยต่อวัน สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ G
การระบาดรอบที่ 3 เกิดขึ้นในเดือน มี.ค.2564 เริ่มจากสถานบันเทิงที่ทองหล่อ โดยนำเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ หรือต่อมาเรียกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า มีผู้ป่วยเป็นหลักพัน ต่อวัน
การระบาดระลอกที่ 4 เกิดขึ้นหลังจากการระบาดด้วยสายพันธุ์แอลฟาเริ่มลดลง ก็มีสายพันธุ์อินเดีย หรือที่เรียกว่าสายพันธุ์เดลต้า เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค.2564 มีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น และอยู่จนถึงปลายปีจึงเริ่มลดลง
การระบาดระลอกที่ 5 เกิดขึ้นในช่วงปีใหม่ 2565 ด้วยสายพันธุ์โอไมครอน โดยเริ่มจาก BA.1 แล้วตามด้วย BA.2 มีผู้ป่วยหลายหมื่นคนต่อวัน เมื่อค่อยๆลดลง และลดลงมาจนถึงต้นเดือน มิ.ย.
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า พอกลางเดือน มิ.ย. ก็มีการระบาดระลอกใหม่ เป็นรอบที่ 6 ที่เป็นสายพันธุ์ BA.5 และในช่วงนี้เกิดการระบาดอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่า ขณะนี้น่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่หลักหมื่น และมีการนอนโรงพยาบาล ตามตัวเลขที่ประกาศ ประมาณ 2,000 คน เสียชีวิต 20 คน หรือ อัตราการเสียชีวิตน่าจะอยู่ที่ 1 ใน 1,000 ของผู้ติดเชื้อ น้อยลงกว่าการระบาดในระลอกแรกๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ยง ได้โพสต์อีกหนึ่งข้อความ โดยมีเนื้อหาถึงการระบาดในระลอกที่ 6 ด้วยโควิดสายพันธุ์โอไมครอน BA.5 ที่ระบุว่า จะมีจุดสูงสุดช่วง ปลายเดือน ก.ค. อย่างไรก็ตามตลอดเดือน ส.ค. นักเรียนจะกลับมาเปิดเทอม และคาดว่โควิดจะเริ่มลดลงในช่วงนักเรียนสอบและปิดเทอม
ศ.นพ.ยง ระบุอีกว่า ทุกอย่างต้องเดินหน้า ด้วยมาตรการให้ความสำคัญในการลดการติดเชื้อ และจะไม่มีการ ปิดเมือง ปิดประเทศ ปิดโรงเรียน แล้ว ทุกอย่างมีความสำคัญกับอนาคตของประเทศ จำนวนผู้ป่วยถ้าคิดเป็นสัดส่วนจะพบว่ามีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10% หรือน้อยกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ไม่เกิน 1% ของผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือน่าจะ เป็น 0.1% หรือน้อยกว่าของผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งตัวเลขนี้กำลังลดลงไปใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่
เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ เราจึงเห็นสัดส่วนของการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ดังนั้นถึงแม้จะมีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น หรือหลายหมื่น จะมีผู้เข้ารับการรักษาและแจ้งยอดให้กระทรวงสาธารณสุขจะอยู่ที่ 2,000 คน และมีการเสียชีวิต 20 คน ดังนั้นอัตราการเสียชีวิต ในจำนวนนี้จะอยู่ที่ยอดผู้ป่วยติดเชื้อทั้งสิ้นหลายหมื่นคน ซึ่งสูงกว่าระลอกที่ 5 แน่นอน เพราะส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยงสูงควรได้รับวัคซีนให้เต็มที่เพื่อลดอาการ และถ้าติดเชื้อถึงแม้จะมีอาการน้อย ทันทีที่รู้ว่าติดเชื้อ ก็ควรจะได้รับยาต้านไวรัสเพื่อการรักษาในทันที ให้เร็วที่สุดเพื่อลดการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิต