เคาะต่อ พ.ร.กฉุกเฉิน อีก 2 เดือน ถึง 30 ก.ย. นายกฯ ยันเพื่อป้องกันโรค-รักษาชีวิต ปชช. ย้ำไม่ได้เป็นการจำกัดเสรีภาพ ศบค.เผยยอดผู้ป่วย 'เจอ แจก จบ' เฉลี่ยวันละ 2.9 หมื่นราย ห่วง 23 จังหวัดโควิดขาขึ้น หวั่นระบาดสูงช่วง ก.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารควบคุมโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์โควิดว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ใน 54 จังหวัด ขณะที่อีก 23 จังหวัดเป็นจังหวัดที่อยู่ในช่วงขาขึ้นแบบเป็นระลอกเล็ก ๆ ประกอบด้วย กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต และสมุทรปราการ เป็นต้น โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต มียอดตัวเลขพุ่งขึ้นสูงมาก จึงขอให้ประชาชนช่วยกันลดตัวเลขลง
สำหรับผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล หรือ 'เจอ แจก จบ' กรมควบคุมโรครายงานว่า ช่วงวันที่ 25 มิ.ย. - 8 ก.ค. 2565 มีผู้ป่วย 207,643 คน เฉลี่ยวันละ 29,000 คน ทั่วประเทศ
“นี่คือตัวเลขผู้ป่วยจริง ที่มีการพูดคุยกันในที่ประชุม และให้ข้อแนะนำว่า ต้องสื่อสารกับประชาชนให้รับทราบ แต่ตัวเลขนี้เป็นผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยถึงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการขยายระยะเวลาประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงาน และมีมติให้ขยายออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. - 30 ก.ย. 2565 นับว่าเป็นการต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ 19
โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเน้นย้ำว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในครั้งนี้มีจุดประสงค์มุ่งเน้นเพื่อการควบคุมป้องกันโรคและรักษาชีวิตประชาชนเท่านั้น และไม่ได้มีเจตนาในการจำกัดเสรีภาพแต่อย่างใด ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามที่ได้ยึดแนวปฏิบัติมาตลอด ขอให้ทุกคนได้รับทราบว่าไม่ได้มีส่วนในการที่จะไปต้องการจำกัดสิทธิและเสรีภาพแต่อย่างใด
พร้อมให้เหตุผลอีกด้วยว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังคงระดับการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) หน่วยงานของไทยยังอยู่ระหว่างการดําเนินการมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับภายหลังการประกาศให้เป็นโรคประจําถิ่น อาทิ ด้านสาธารณสุข การบริหารจัดการชายแดน การบริหารจัดการวัคซีน
เพื่อให้มีการดํารงกลไกและมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดฯ ในลักษณะของการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) โดยเฉพาะจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ซึ่งมีแนวโน้มจะกลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้งในห้วงเดือน ส.ค.- ก.ย.2565 หากเกิดขึ้นจะเป็นกรณีจําเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้มาตรการควบคุมอย่างทันทีวงทีเพื่อให้ ควบคุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องที่ 2 ที่มีการพิจารณาคือ สธ.เสนอแนวทางขับเคลื่อนโควิด-19 หลังการระบาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่โรคประจำถิ่น มียุทธศาสตร์ที่ต้องวางแผนไว้ โดยเสนอแผนให้มีมาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการทางสังคมและองค์กร และมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกัน มี 4 มาตรการสาธารณสุข การแพทย์ กฎหมายสังคม และการสื่อสารประชาสัมพันธ์
"การคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตหลังการระบาดใหญ่ ระลอกเดือน เม.ย. - ส.ค. 2564 เป็นยอดระลอกหนึ่ง และมีระลอก ม.ค. 2565 ขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง ก็คาดว่าหลังจากนี้จะมีการเกิดยอดภูเขาเล็กๆ ขึ้นมาได้ ทั้งผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ขึ้นกับเหตุปัจจัยคือ ภูมิคุ้มกัน การสวมหน้ากาก และการรวมกลุ่มกันทำกิจการกิจกรรม และลักษณะของเชื้อคือ BA.4/BA.5 เราเรียนรู้มา 2 ปีกว่า ขอเน้นย้ำประชาชนว่า เรื่องหน้ากาก ภูมิคุ้มกัน และการรวมกลุ่มแม้จะผ่อนคลายได้ ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนช่วยกันดูแลภาพรวมด้วยกัน จะได้ไม่เจอเวฟที่สูงกว่านี้ รายใหม่อาจเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป จะไปสูงช่วงเดือน ก.ย. และ พ.ย.น่าจะมีแนวระนาบลงมา หากพวกเราช่วยกันฉากทัศน์นี้ก็อาจจะกดให้ต่ำกว่าการคาดการณ์ได้ การเสียชีวิตก็จะเพิ่มช่วง ก.ย.เช่นกัน" นพ.ทวีศิลป์ ระบุ
สำหรับ 4 กิจกรรมที่ สธ.เสนอขึ้นมาเพื่อ ศบค.อนุมัติ และหน่วยงานเกี่ยวข้องไปดำเนินการ ได้แก่
-
การประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง ผู้ป่วยรับการรักษาใน รพ.ไม่เกิน 4 พันรายต่อวัน ป่วยตายน้อยกว่า 0.1% เสียชีวิตไม่เกิน 40 รายต่อวัน ครองเตียงหนัก-วิกฤตไม่เกิน 25% กลุ่ม 608 รับวัคซีนเข็มสองมากกว่า 80%
-
การเตรียมบริหารจัดการโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแทนโรคติดต่ออันตราย
-
มาตรการดำเนินการเมื่อโรคโควิดเป็นติดต่อต้องเฝ้าระวัง เช่น การแนะนำประชาชน การดำเนินการด้านการแพทย์
-
การประเมินผล
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนการพิจารณาเกณฑ์ความรุนแรง ปัจจุบันมีผู้ป่วยนอนรักษาตัวใน รพ.ประมาณ 2 พันรายต่อวัน โดยอยากให้ลดลงต่ำกว่า 2 พันราย แต่หากมีการระบาดขึ้นมาระลอกเล็กๆ อาจเป็นสีเหลือง คือรุนแรงน้อย 4-6 พันรายต่อวัน สีส้ม คือรุนแรงปานกลาง มีผู้ป่วย 6-8 พันรายต่อวัน และสีแดงคือรุนแรงมาก 8 พัน - 1 หมื่นรายต่อวัน
เมื่อเชื่อมโยงเรื่องการจัดซื้อยา วัคซีน และการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย การเบิกจ่ายรักษาพยาบาล ที่ผ่านมา ภาครัฐส่งงบประมาณเต็มที่เพื่อดูประชาชน แต่อาจจะต้องเปลี่ยนผ่านการเบิกจ่ายค่ารักษาต่างๆ รวมถึง รพ.เอกชนที่มีความพร้อมที่จะช่วย
สิ่งสำคัญคือ สปสช.หรือคนดูแลการเบิกจ่ายต้องปรับตัว เพื่อนนำไปสู่การใช้สิทธิฉุกเฉิน UCEP ให้ช่วยการเปลี่ยนผ่านลื่นไหลไปด้วยดี การเปิดกิจการกิจกรรมต้องขอความร่วมมือ เพราะเราให้เปิดกันแล้ว เพื่อให้ตัวเลขไม่พุ่งมากไปกว่านี้
"ตอนนี้เรามีการกำหนดเป็นโรคต้องห้ามสำหรับต่างด้าวเอาเข้ามาในราชอาณาจักร ก็ต้องหาทางกยกเลิกกำพหนดโรค กรมควบคุมโรคต้องทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการนี้และให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนดกราอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคตามมาตรา 14 (1) พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนมารับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 จัดระบบเข้าถึงยาต้านไวรัสที่สะดวกเข้าถึงง่าย มอบกรมประชาสัมพันธ์กระตุ้นประชาชนเห้นความสำคัญสวมหน้ากาก รับวัคซีน ให้กระทรวงมหาดไทยศึกษากฎหมายเรื่องของการตัดออกจากดรคต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร" นพ.ทวีศิลป์กล่าว