วงเสวนายกบทเรียนต่างประเทศชี้กัญชาเสรีมีโทษมากกว่าประโยชน์ ห่วงสถานการณ์กฎหมายสุญญากาศในไทย ดึงเด็ก-เยาวชนเสพติด แนะออกนโยบายมองให้รอบด้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ร่วมกับ เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง 'สถานการณ์นโยบายกัญชาของประเทศไทย ควรจะปกป้องเด็กและเยาวชนอย่างไร?'
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ สถาบัน Centre for Addiction and Mental Health ประเทศแคนาดา และหนึ่งในเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด กล่าวว่า สถานการณ์ของนโยบายกัญชาในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ระบยุว่า มีเพียงสารสกัดที่มี THC มากกว่า 0.2% เท่านั้นที่เป็นยาเสพติด
ส่วนพืชกัญชา เช่น ช่อดอก ที่มี THC 10-20% จะไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป เท่ากับว่าสถานการณ์ตอนนี้คือ 'กัญชาเสรี' ทุกคนสามารถสูบดอกกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แม้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีก็สามารถสูบได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเพียงพอ
ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวยกบทเรียนจากประเทศแคนาดาและบางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่แสดงถึงผลกระทบต่อเนื่องที่จะตามมาจากนโยบาย 'กัญชาทางการแพทย์' ว่า ด้านบวก กัญชาช่วยให้ผู้ปกครองทานได้ นอนหลับ ลดปวด ลดการใช้อนุพันธุ์ฝิ่น/สารเสพติดอื่น ลดค่าใชจ่ายด้านยาที่ใช้กัญชาทดแทนได้
แต่ในด้านลบ มีผลกระทบมากมายหลายข้อ ดังนี้
-
ส่งผลลบต่อพัฒนาการทางสมองของเยาวชน
-
โรคหัวใจเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดอาการวิกลจริต / โรคจิตเภท เพิ่มขึ้น
-
เพิ่มอุบัติเหตุจากการเมากัญชา
-
เพิ่มการเสียชีวิตจาก opioid overdose หลังจากที่ลดลงในช่วงปีแรกๆ ของนโยบาย
-
การใช้กัญชาเกินขนาด และ การเข้ารับการรักษาใน รพ. มากขึ้น
-
การอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ในบ้านเพิ่มความถี่ของการใช้กัญชา
-
การอนุญาตให้มีร้านจำหน่ายกัญชาเพิ่มจำนวนของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยการใช้กัญชาผิดปกติมากขึ้น
-
เยาวชนใช้เวลากับการเรียนลดลง ใช้เวลาเพื่อความบันเทิงเพิ่มขึ้น
-
เยาวชนมีทัศนคติยอมรับกัญชามากขึ้น เริ่มต้นใช้กัญชามากขึ้น พฤติกรรมการใช้กัญชามากขึ้น รัฐที่มีความชุกการเสพกัญชาในเยาวชนน้อยกว่าร้อยละ 8 จะมีความชุกมากขึ้น (ประเทศไทยมีความชุกร้อยละ 0.2)
-
กัญชานำไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่นที่ร้ายแรงกว่า
-
เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ทานกัญชาโดยไม่ได้ตั้งใจมากขึ้น
นอกจากนี้ ดร.นพ.บัณฑิต ยังกล่าวถึงผลกระทบต่อเนื่องที่จะตามมาจากนโยบาย 'กัญชาเสรี' เพื่อนันทนาการ จากบทเรียนจากต่างประเทศ พบข้อดีว่า กัญชาสามารถใช้ลดปวด ลดความเครียด ความกังวล ภาวะซึมเศร้า เพิ่มความอยากอาหาร
แต่ขณะเดียวกัน ในด้านลบ พบว่า รัฐที่มีนโยบายกัญชาเพื่อนันทนาการยอมรับและมีพฤติกรรมการใช้กัญชามากกว่า รัฐที่ไม่มีนโยบาย ส่งผลให้มีนโยบายกัญชาเพื่อนันทนาการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่เข้มข้นสูงกว่า และเข้าถึงได้ง่าย โดยสัดส่วนของเยาวชนที่ใช้กัญชาในรอบ 30 วันที่ผ่านมา สูงขึ้น หลังมีนโยบายกัญชาเพื่อนันทนาการ
"จะเห็นว่าแม้กัญชาจะมีส่วนที่เป็นประโยชน์ แต่กัญชามีโทษมหาศาล เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถใช้ได้สุ่มสี่สุ่มห้า" ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว
ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวว่า สถานการณ์ของนโยบายกัญชาเสรี ในสภาวะสุญญากาศ เนื่องจากเมื่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ยังไม่ได้รับการตราเป็นกฎหมาย จะเกิดสุญญากาศทางนโยบาย ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. คือ ไม่มีการควบคุมได้ๆ
โดยอ้างอิงจากคำตอบของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ตอบคำถามเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ว่า การสูบกัญชาในครัวเรือนที่มีรั่วรอบขอบชิดสามารถทำได้ แต่หากการสูบที่ส่งกลิ่นหรือควันรบกวนผู้อื่น อาจเข้าบ่ายเป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขได้ ซึ่งแปลว่าไม่ได้ผิดกฎหมายยาเสพติด
ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า แม้กระทรวงสาธารุณสุขจะออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้กลิ่นและควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกันเป็นเหตรำคาญ พ.ศ.... จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนรำคาญที่ผู้สูบกัญชามีต่อผู้อื่นในระดับหนึ่ง แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ คือ ไม่สามารถควบคุมการปลูกและการน้ำช่อดอกกัญชาไปสูบโดยเยาวชนหรือประชาชนแต่ประการใด และแม้ว่าจะออกประกาศกระทรวงสาธรณสุข ให้กัญชาเป็นพืชควบคุม ซึ่งจะควบคุมได้แค่ การวิจัย/นำเข้า/จำหน่าย/แปรรูปเพื่อเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถควบคุมการสูบได้
"หลังจากปลดทันทีโดยไม่มีอะไรควบคุมอย่างเพียงพอ สถานการณ์ตอนนี้จึงเป็นสภาวะสญญากาศ ปลูกที่บ้านก็ไม่จำกัดจำนวน ปลูกพานิชย์ก็ไม่ต้องขออนุญาต เพราะ ไม่มีกฎหมายควบคุม, การสูบช่อดอกก็ไม่มีความผิด สามารถทำการค้ากับกัญชาได้เหมือนปลูกขายพริก/มะนาว/ถ้วงอก ถ้าไม่นำมาสกัด" ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว
สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวว่า จะต้องปิดกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที ซึ่งจะทำให้ผลกระทบจะลดลงและหายไป
นอกจากนี้ จะต้องจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายเพื่อร่วมออกแบบนโยบายกัญชาในประเทศไทย เพื่อให้ได้มาตรการที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ลดผลกระทบจากสภาวะสุญญากาศ และหลีกเลี่ยงกฎหมายกัญชา ที่ไม่รอบคอบ จากกระบวนการที่เร่งรีบ
"ประเด็นกัญชา เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาถกละเอียด เช่น ประเทศไทยจะปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดถาวรจริงหรือไม่ จะเป็นกัญชาทางการแพทย์/เพื่อการบริโภค (เศรุษฐกิจ)/เพื่อนันทนาการ จะให้ปลูกในครัวเรือนหรือไม่/ได้กี่ต้น/จะป้องกันเด็กและเยาวชนนำดอกกัญชาไปสูบได้อย่างไร จะข้องกันการนำกัญชาไปใส่อาหารขายโดยไม่บอกได้อย่างไร" ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว
ทางด้าน รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสิสังข์ รองอธิการบดี และอาจารย์ประจําภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลจากการใช้กัญชาในเด็กและเยาวชนระยะยาวว่า มีผลต่อพัฒนาการของสมอง โดยเฉพาะหากเริ่มใช้ตั้งแต่อายุน้อยสติปัญญาบกพร่อง ผลการเรียนตกต่ำ พุทธิปัญญาและพฤติกรรมผิดเพี้ยนชนิดไม่กลับคืน การตัดสินใจช้า
สำหรับการเสพติดกัญชา พบได้ 9% ในผู้ใช้ทั่วไป 17% หากเริ่มใช้ช่วงวัยรุ่น 25-50% หากใช้ทุกวัน โดยจะมีอาการทางจิต เช่น ประสาทหลอน หวาดระแวง ก้าวร้าว และเพิ่มความเสี่ยงของโรคจิตเรื้อรัง
อีกทั้ง ยังมีอาการข้างเคียงอื่นๆ จากการใช้กัญชา เช่น กลุ่มอาการอาเจียนอย่างรุนแรงจากกัญชา กลุ่มอาการหลอดเลือดสมองหดตัวแบบผันกลับได้
รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี กล่าวถึงข้อควรระวังจากการกัญชาว่า เนื่องจากปฏิกิริยาระหว่างยาของ THC และ CBD กับยาอื่น จึงต้องระวังการใช้ร่วมกับยาอื่นหลายชนิด เนื่องจาก THC และ CBD จะทำให้ระดับยาอื่นเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเกิดอาการข้างเคียงได้