อาลัย 'ส.พลายน้อย' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2553 เสียชีวิตแล้วด้วยโรคโควิด หลังรักษาตัวที่โรงพยาบาลราว 3 วัน สิริอายุ 93 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2565 นายสมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2553 เสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าวันนี้จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลราว 3 วัน สิริอายุได้ 93 ปี
นายสมบัติ เกิดเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2472 ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล วัดประดู่ทรงธรรม ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และได้รับประกาศนียบัตร เปลื้อง ณ นคร
ชีวิตส่วนตัว สมรสกับนางจงกล พลายน้อย มีบุตรชาย 1 คน
ด้านการทำงาน รับราชการครั้งแรกเป็นเสมียนสรรพากรและเปลี่ยนอาชีพไปรับราชการครูเป็นเวลา 5 ปี สนใจเขียนหนังสือมาตั้งแต่ครั้งเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยสมัครเรียนวิชาการประพันธ์และการหนังสือพิมพ์ทางไปรษณีย์ของ เปลื้อง ณ นคร ระหว่างที่รับราชการครูอยู่นั้น อาจารย์เปลื้องเชิญให้ ส.พลายน้อย มาทำงานด้านวารสารของกระทรวงศึกษาธิการหลายฉบับ มีผลงานเขียน ประเภทบทความ บทละคร สารคดี และเรื่องสั้นพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก รวมถึงจัดรายการวิทยุศึกษาไปพร้อมกันด้วย
ต่อมา ในปี 2522 นายสมบัติได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานโสตทัศนูปกรณ์และเอกสารสิ่งพิมพ์ กองส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และเป็นบรรณาธิการวารสารวัฒนธรรมไทย กระทั่งพ.ศ. 2528 ก่อนเกษียณอายุราชการ 2 ปี ได้ลาออกจากราชการ เพื่อเขียนหนังสืออย่างเดียว โดยตลอดชีวิต มีผลงานเป็นจำนวนมาก
ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม นิทานปกิณกะ รวมกว่า 100 เล่ม อาทิ สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย, เล่าเรื่องบางกอก, เล่าเรื่องพม่ารามัญ, สารคดีน่ารู้สารพัดนึก, คนดังในอดีต, เกิดในเรือ, พระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนูปถัมภกผู้ยิ่งใหญ่, เกร็ดภาษาหนังสือไทย (ฉบับปรับปรุง), เกิดครั้งพุทธกาล, ครัวไทย, พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์, กระยานิยาย :เรื่องน่ารู้สารพัดรสจากรอบ ๆสำรับ เป็นต้น รวมทั้งยังมีผลงานเขียนในวารสารหลายฉบับ เช่น ศิลปวัฒนธรรม, สารคดี, เมืองโบราณ, วัฒนธรรมไทย, ต่วย’ตูน, ความรู้คือประทีป เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ‘สำนักพจนานุกรม ฉบับมติชน’ ในโครงการจัดทำพจนานุกรมฉบับมติชน อีกด้วย
ในช่วงท้ายของชีวิต นายสมบัติ ยังคงมีผลงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ คอลัมน์ ‘หนุมาน : เทพแห่งสรรพวิทยา’ ในหนังสือพิมพ์มติชน รายวัน ฉบับวันอาทิตย์
สำหรับรางวัลที่ได้รับ
-
พ.ศ. 2517 หนังสือเรื่อง 'พฤกษนิยาย' ได้รับรางวัลจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
-
พ.ศ. 2532 หนังสือเรื่อง 'ยาขอบ ชีวิตและงานของผู้แต่งอมตนิยายผู้ชนะสิบทิศ' ได้รับรางวัลในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
-
พ.ศ. 2536 หนังสือเรื่อง 'สัตว์หิมพานต์' ได้รับรางวัลของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพฯ
-
พ.ศ. 2535 หนังสือเรื่อง 'พฤกษนิยาย' ได้รับรางวัลในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
-
พ.ศ. 2538 หนังสือเรื่อง 'เกิดในเรือ' ได้รับรางวัลในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
-
พ.ศ. 2539 ได้รับประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี ) ประจำปีพ.ศ. 2539
-
พ.ศ. 2551 ได้รับประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นประจำปีพ.ศ. 2551
-
พ.ศ. 2551 ได้รับรางวัล 'นักเขียนอมตะ' คนที่ 4 ประจำปีพุทธศักราช 2551