สภาการสื่อฯ จัดงานครบรอบ 25 ปี วงเสวนาชี้ข่าวเชิงสืบสวนยังไม่ตาย แค่เปลี่ยนประเด็น พบตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันลดจำนวนลง-ข้อมูลปัจจุบันหายากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเวทีเสวนา 'จริยธรรมในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน' เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า ข่าวเชิงสืบสวนยังสำคัญและจำเป็นมาก องค์กรตรวจสอบทุจริตจะดำเนินงานต่อเนื่อง โดยอาศัยสารตั้งต้นจากข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เป็นเครื่องยืนยันความสำคัญของคนทำข่าวประเภทนี้
ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน มีความสามารถในการอ้างอิง และลำดับข้อมูลที่นำเสนอต่อสาธารณชน และมีความน่าเชื่ออย่างมาก ขณะที่การเข้าถึงความจริงที่ประชาชนพบเจอ แต่อาจจะไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นความจริงใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นการอ้างอิงและการลำดับข้อมูลน่าสนใจ ทำให้เกิดความเชื่อถือมาก
"ตนทำหน้าที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันในองค์กร ACT การนำเสนอข้อมูลออกมาในแต่ละเรื่อง คงมีลักษณะคล้าย ๆ กับผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวเชิงสืบสวน ประสบการณ์แบบนี้จะคล้ายกันในทำนองเดียวกัน" ดร.มานะ กล่าว
ดร.มานะ กล่าวอีกว่า ข่าวที่นำเสนอแก่สังคมจะมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือวิธีการได้มาของข่าวและข้อมูล อีกส่วนคือการนำเสนอข้อมูลออกไป ทั้ง 2 ด้านมีประเด็นด้านจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ดังนั้น การนำเสนอข่าวที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่ถูกตอบโต้ด้วยกฎหมาย แต่เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ทำข่าวและแหล่งข่าวด้วย
แต่สิ่งที่นำเสนอไปแล้วด้อยจริยธรรม จะเป็นการทำให้ประชาชนมองหรือพุ่งความสนใจในประเด็นที่ไม่ถูกต้อง ตรงนี้เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เราต้องให้ความสนใจ หากเรานำเสนอแล้ว นำเสนอทำให้ประชาชนมองไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องการเสียโอกาสเพื่อส่วนรวม แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดก้าวเดินไปข้างหน้าต่อได้
“ทุกท่านคงเห็นว่าด้วยบทบาทสำคัญขนาดนี้ แต่ไม่มีใครตั้งกฎกติกาควบคุมทุกท่านได้ ไม่มีใครมาตรวจสอบเบื้องหลังจริง ๆ ได้ว่า มีกระบวนการหาข่าวอย่างไร มีวิธีการในการเปิดเผยข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอออกไป ไม่มีใครตรวจสอบได้ ตรงนี้คือความรับผิดชอบ ภายใต้จริยธรรมในใจของตัวท่านเอง ของผู้สื่อข่าวเอง และขององค์กรท่านเอง คำถามจึงต้องตั้งมาช่วยกันถามว่า พวกเราจะใช้อาวุธในมือพวกเราอย่างไร จึงจะเกิดความน่าเชื่อถือของสังคมว่า พวกเรากำลังทำหน้าที่อย่างมีจริยธรรม” ดร.มานะ กล่าว
ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า ในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน มีข้อจำกัดเยอะ ในการหาข้อมูล และมีข้อจำกัดอยู่มากที่เราไม่สามารถนำเสนอข่าวสารนั้น ๆ ออกไปนำเสนอประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าด้วยข้อจำกัดข้อมูลที่มี หรือข้อจำกัดทางกฎหมายก็แล้วแต่ เมื่อนำเสนอออกไปไม่ได้ เป็นไปได้หรือไม่เราจะเปิดหน้าต่างอีกบาน เพื่อให้ประชาชนเขาได้ตรวจสอบเรา ได้ประเมินเราเหมือนกันว่า สิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เรามีข้อมูลในมือมันครบถ้วน หรือว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร การตรวจสอบจะได้มีความชัดเจนมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น กรณี เรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือข้าราชการระดับสูงอื่น ๆ ที่สังคมรับรู้ แต่ไปไม่ถึงไหน ทำอะไรไม่ได้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำอะไรได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ต้องบอกสังคมว่า เรื่องแบบนี้เราท้อไม่ได้ ปล่อยวางไม่ได้
ถ้าหากสังคมมีการติดตามเรื่องพวกนี้ ตั้งประเด็นไว้ จะทำให้เกิดกลไกการตรวจสอบโดยภาคประชาสังคม ด้านหนึ่งทำให้ ป.ป.ช.แอ็คทีฟทำหน้าที่ว่า สิ่งที่เราเปิดประเด็นคงไม่จบในตัวมันเอง มันทำให้ภาคประชาชนตื่น และทำให้หน่วยงานตรวจสอบตื่นขึ้นมาด้วย
ดร.มานะ กล่าวอีกว่า สิ่งตามมา คือ กฎหมายที่หละหลวมจะต้องถูกแก้ไขโดยตัวของมันเอง อีกกรณีหนึ่งเรื่องใหญ่มากและมีหลายมิติทับซ้อน คือ กรณีรัฐมนตรีเกิดคดี สมัยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีปัญหาว่าถูกเอกชนฟ้องไม่จ่ายเงินค่าสินค้า เป็นคดีความถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ประเด็นที่คนควรจะได้รับรู้ว่า ทำไมเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ทำไมขั้นตอนในกระทรวงมหาดไทยถึงไม่ทำอะไร หรือดึงเรื่องให้ล่าช้า ไม่ปลดออกจากตำแหน่งมีเจตนาอะไรเบื้องหลังหรือไม่ ต่อมามีอีกคดีซ้อนมาคือกรณีเอกชนฮั้วประมูล เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สื่อเราควรเปิดหน้าต่างให้ประชาชนรู้ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องอะไรกับการฟ้องปิดปากรูปแบบใหม่หรือไม่
“ตอนนี้ ป.ป.ช.กำลังจะเป็นจำเลยเข้ามาอีกฝ่ายหนึ่ง แทนที่จะพูดเรื่องความเป็นธรรม ประโยชน์ส่วนรวม ต้องพูดเรื่องการฟ้องปิดปาก การกลั่นแกล้ง คดีอย่างนี้ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของอำนาจ ถ้ามีการบิดเบือน จะเกิดความเสียหายอย่างมากต่อกระบวนการของคนที่ขับเคลื่อนต่อต้านคอร์รัปชัน” ดร.มานะ กล่าว
นายกมล ชวาลวิทย์ บรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวน สำนักข่าว ThaiPublica กล่าวว่า การทำข่าวของสื่อมวลชน จะมีประเด็นเรื่องข้อกฎหมายมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะฉะนั้น จะต้องระมัดระวัง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากในแง่ของการใส่ร้ายใส่ความ
นอกจากนี้ ข้อมูลก็หาลำบากมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก็กังวลไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เป็นต้น อีกทั้ง ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับข้อมูลภาครัฐ ไม่ค่อยอัปเดต
ดร.มนตรี จุ้ยม่วงศรี บรรณาธิการศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) กล่าวว่า ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนในปัจจุบันมีเยอะมาก และไม่ได้ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับสมัยก่อน แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ในอดีต เมื่อพูดถึงข่าวสืบสวนคือข่าวทุจริต ข่าวตรวจสอบ แต่ทุกวันนี้ข่าวสืบสวนถูกนำไปใช้กับข่าวชาวบ้าน (Human Interest) มากกว่า
ส่วนข่าวสืบสวนเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชันลดจำนวนลง เพราะมีสื่อไม่กี่แห่งที่ยังทำอยู่ รวมถึงต้องระมัดระวังในการนำเสนอ ต้องใช้เวลาในการรวบรวม จึงไม่เป็นข่าวจำนวนที่เยอะ แต่ทั้งนี้ ยังเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ โดยข่าวเชิงสืบสวนยุคนี้มีการเปลี่ยนเนื้อหาออกไป เพราะยุคดิจิตอลทุกคนแย่งกันทำข่าว ตามที่คนพูดกันว่า 'เร็วกินช้า ลึกกินตื้น' แต่สื่อที่ทำข่าวทุจริตจะลดลงเรื่อย ๆ เพราะมีความเสี่ยงและการสนับสนุนไม่เยอะ
"ข่าวทุกประเภทเป็นข่าวสืบสวนได้หมด อยู่ที่ว่าเราตั้งข้อเท็จจริงกับมันอย่างไร โดยข่าวสืบสวนเน้นเรื่อง 'ทำไม' เป็นสำคัญ จริง ๆ ตนสนใจประเด็นว่า การทำข่าวขาเข้าไปอยู่ในคุก หรือพูดความจริงแล้วตาย เป็นเรื่องที่ได้ยินมาตลอด ถ้าในการนำเสนอข้อมูลด้วย 'ข้อเท็จจริง' ต่อสาธารณะ มันจะเป็นเกราะป้องกันได้อย่างชัดเจน จากประสบการณ์จริงตามผู้บริหารไปศาลหลายครั้งคดีที่ถูกฟ้องร้อง ทุกคดีจะหลุดหมด เพราะศาลจะพูดเสมอว่า การทำข่าวสื่อมวลชนถ้าเน้นประโยชน์สาธารณะ และนำเสนอข้อมูลตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือน มีคดีหนึ่งเราเอาข้อมูลบริคณห์สนธิมาเปิดเผย ศาลตัดสินว่า ไม่ได้มีความผิด เพราะเราไม่ได้เขียนอะไรผิดจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่เลย หลักการทำข่าว" ดร.มนตรี กล่าว
ดร.มนตรี กล่าวถึงคุณสมบัติการทำข่าวดีว่า มี 3 ส่วน คือ 1) นำเสนอข้อมูลถูกต้องหรือไม่ 2) ให้ความเป็นธรรมหรือไม่ เปิดพื้นที่ให้แหล่งข่าวหรือไม่ และ 3) นำเสนอตามภววิสัยหรือไม่ ต้องไม่ใส่ความเห็น เป็นต้น แต่ปัญหาตอนนี้ คือ การหาข้อมูลเอกสารหลักฐาน ในยุคดิจิทัล การเปิดใหม่มีอะไรสวยงามเสมอ
เมื่อก่อนเวลาจะทำข่าว นักข่าวต้องพึ่งข้อมูล เช่น แหล่งข่าวจะต้องไว้ใจและมั่นใจในศักยภาพเสียก่อน ถึงจะต้องให้ข้อมูล ส่วนกรณี คือ นักข่าวหาเอง ในอดีตต้องไปทำหลายอย่าง ลงพื้นที่ แต่ปัจจุบันมีฐานข้อมูลออนไลน์ที่เปิดอยู่แล้ว สามารถสืบค้นได้ แต่ไม่เคยครบถ้วนเบ็ดเสร็จ
“สิ่งสำคัญในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ถ้าเราได้ข้อมูล หลักฐานเอกสารชัดเจน ไม่บิดเบือน เปิดโอกาสให้ผู้ถูกพาดพิงชี้แจงเต็มที่ ตนว่าไม่มีปัญหาในการทำงาน” ดร.มนตรี กล่าว
ดร.มนตรี กล่าวอีกว่า คิดว่าในไทยยังมีคนมีจิตใจไม่เห็นด้วยกับคอร์รัปชัน ช่องทางการให้ข้อมูลเดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยน เมื่อก่อนต้องหอบเอกสารมาหาสื่อมวลชน แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยน มีช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย หรือหลายเพจเกิดขึ้น เช่น ต้องแฉ หมาเฝ้าบ้าน ชมรม Strong เป็นต้น รับเรื่องร้องเรียนทุจริตจากชาวบ้าน
ปัจจุบันชาวบ้านเลือกที่จะไม่เข้าหาสื่ออีกแล้ว เพราะคิดว่าสื่อกระแสหลักไม่สนใจ สำนักข่าวอิศราก็มีปัญหานี้เช่นกัน เมื่อเรานำเสนอข่าวทุจริตจนเป็นภาพจำว่า ถ้าจะอ่านข่าวทุจริต จะต้องมาที่นี่ ชาวบ้านก็คาดหวัง ส่งเรื่องเข้ามา ปัจจุบันมีมากถึง 10 เรื่องต่อวัน แต่คนทำงานมี 4-5 คน จนทำไม่ทัน ชาวบ้านจะเริ่มรู้สึกว่า ไม่ส่งเรื่องดีกว่า ไม่มีประโยชน์
แต่จริงๆ แล้ว จะต้องเข้าใจกระบวนการว่า ไม่ใช่ส่งมาแล้ว สามารถลงทุกเรื่อง ต้องมีการตรวจสอบกลั่นกรองก่อน เพราะอาชีพสื่อมวลชนเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ ทำให้เรามีอำนาจในการดำเนินการอะไรก็แล้วแต่ แต่เมื่อใดละทิ้งความน่าเชื่อถือไปแล้ว มันก็ไม่มีผล ในขณะที่หลายเพจเขาทำหน้าที่ของเขา เป็นสารตั้งต้นในการเปิดเรื่องทุจริต และสื่อมวลชน หรือองค์กรตรวจสอบก็หยิบข้อมูลไปใช้ต่อ ทำให้คนเริ่มไปตรงนั้นเยอะ เป็นความหวัง
นอกจากนี้ ปาฐกถาพิเศษ โดย Sheila Coronel (ชีล่า โคโรเนล) อดีตนักข่าวฟิลิปปินส์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟเรนซ์จากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยมีนายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอิสระ เป็นผู้แปล
ชีล่า กล่าวในตอนหนึ่งว่า สื่อมวลชนในสมัยก่อน ขจัดเผด็จการคือสื่อมวลชนมีหน้าที่อย่างเดียวคือต่อสู้กับเผด็จการ และคิดว่าเราเอาชนะเผด็จการก็พอแล้ว ก็สิ้นสุดแล้ว แต่ว่าไม่เลย เพราะประเทศที่มีระบบเสรีนิยม ก็มีระบบที่ปิดกั้นสื่อเช่นกัน เช่น กรณีสังคมสหรัฐอเมริกาในช่วงโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ไม่ใช่รูปแบบของการเซนเซอร์สื่อ เช่น ลักษณะการสร้างข่าวปลอม
"ความเหลื่อมล้ำของเรื่องข้อมูลข่าวสารสำคัญ เพราะคนอยู่นอกเมืองหลวงถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครสนใจ เพราะข่าวทุกข่าวมาจากเมืองหลวง และเป็นตัวกำหนดประเด็นข่าว ดังนั้นสื่อต้องไม่ทอดทิ้งประชาชนที่มองไม่เห็น โดยเฉพาะคนนอกเมืองหลวง" ชีล่า กล่าว