‘ชัชชาติ-ธงทอง-เคที’ ถกสัญญาสายสีเขียวต่อขยาย 1-2 จ่อตั้งโต๊ะเจรจา BTSC หาทางออก คาดเริ่มเจรจากันภายในเดือน ก.ค.นี้ เผยส่วนต่อขยายที่ 2 เก็บค่าโดยสาร ส.ค.นี้ สบช่องเปิดสัญญาใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง ส่อไม่รับโอนหนี้ รฟม. 5.4 หมื่นล้าน หลังมองอยู่นอกเขตกทม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) เปิดเผยว่า การประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงบางจาก - สำโรง และช่วงกรุงธนบุรี - บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ พบว่า ทั้ง 2 ส่วนอยู่ภายใต้สัญญาที่ต่างกันในประเด็นการพิจารณาอนุมัติโดยสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.)
ในส่วนของส่วนต่อขยายที่ 1 ที่มีการทำสัญญาจ้างเดินรถเมื่อปี 2555 ไปสิ้นสุดสัญญาในปี 2585 นั้น เบื้องต้น มีข้อสรุปที่จะเจรจากับเอกชนคู่สัญญาคือ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในประเด็นค่าใช้จ่ายในการเดินรถ เพราะสูตรคำนวณมีความคลาดเคลื่อนในหลายประการ และมีตัวแปรอืนๆเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น จำนวนผู้โดยสาร หรือวิธีชำระค่าโดยสารที่หลากหลายกว่าเดิม เป็นต้น ซึ่งในสัญญามีระบุถึงการเปิดทางให้เจรจากันอยู่ คาดว่าจะสามารถเชิญชวนได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และจะมีการเริ่มต้นเจรจากันภายในเดือนนี้ด้วย
ใช้กม.แพ่ง เปิดสัญญา
อีกประเด็นหนึ่งคือ การเปิดเผยสัญญาต่างๆ ในสัญญาต่างๆที่ บจ.กรุงเทพธนาคม ทำกับเอกชนคู่สัญญา มีกำหนดไว้ว่า ห้ามเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ แต่เมื่อศึกษาดูแล้ว กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของกรุงเทพธนาคม น่าจะมีอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในการขอทราบข้อมูลของกิจการได้ แต่หลังจากนั้น กทม. จะเอาข้อมูลไปทำอะไร ก็เป็นเรื่องของ กทม. ต้องว่าไปตามกฎหมาย
สแกนข้อพิพาท-ปัดคุย 'วิษณุ เครืองาม'
ขณะที่ข้อพิพาทกับ BTSC ในประเด็นการฟ้องร้อง กทม. และกรุงเทพธนาคม กับศาลปกครองในประเด็นที่ไม่จ่ายหนี้สะสมรวม 38,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 18,000 ล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท นั้น หลังจากกรรมการของกรุงเทพธนาคมชุดนี้เข้ามา ก็เป็นโอกาสที่จะได้ตรวจสอบคำให้การและประเด็นเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะทำคู่ขนานไปกับการเจรจากับ BTSC
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า มีการติดต่อไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในประเด็นเอกสารสัญญาของโครงการนั้น ไม่ได้ติดต่อไป คุยแต่กับนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่ากทม. เท่านั้น ไม่เคยติดต่อไปถามเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว คุยแต่เรื่องกินข้าวร้านไหนอร่อยเท่านั้น
ส่วนที่ 1 ‘สัญญา’ - ส่วนที่ 2 ‘มอบหมายงาน’
“ความต่างสำคัญของส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 คือวิธีการมอบหมายงาน กรุงเทพธนาคมจะทำธุรกรรมกับเอกชนมีสาระสำคัญไม่เหมือนกัน ในส่วนต่อขยายที่ 1 เป็น ‘สัญญา’ ระหว่างกทมกับกรุงเทพธนาคมว่าค่าใช้จ่ายที่จะส่งให้แก่กันมันเป็นยังไง แล้วเอาไปจ่ายคนอื่นพอมีวิธีการอย่างไร แต่ในส่วนต่อขยายที่ 2 ความ ความสัมพันธ์ระหว่างกทม. กับกรุงเทพธนาคม ไม่ได้เป็นไปในรูปแบบ ‘สัญญา’ แต่เป็นไปในลักษณะ ‘มอบหมายงาน’ รวมทั้งกระบวนการมอบหมายงานก็มีขั้นตอนที่ขอให้กทม. ไปสอบถามดูด้วยว่าถูกต้องและได้เข้ากระบวนการตามสภากทม. หรือไม่” นายธงทองระบุ
เร่งเก็บค่าโดยสารส่วนที่ 2 ส.ค. 65
ด้านนายชัชชาติ ระบุว่า เรื่องนี้เกี่ยวพัน 4 องค์กร ได้แก่ กทม. สภากทม. กรุงเทพธนาคม และบริษัทเอกชน ความสำคัญกับเอกชนจะขึ้นอยู่กับทางกรุงเทพธนาคมเป็นหลัก ส่วน กทม.จะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวโดยตรง จะบริหารไปกับ สภากทม.และกรุงเทพธนาคม ดังนั้น ขั้นตอนแรกที่ต้องพิจารณาคือ ที่มาของหนี้ต่างๆว่า มีที่มาที่ไปถูกต้องไหม กระบวนการพิจารณาครบถ้วนหรือเปล่า ซึ่งจะดูทั้งหนี้ที่รับโอนทรัพย์สินหนี้สินมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และสัญญาจ้างเดินรถที่กรุงเทพธนาคมจ้าง BTSC เดินรถด้วย
ส่วนการเริ่มเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 จะดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ต้องดูตัวเลขที่ชัดเจนก่อน ซึ่งปัญหาที่เร่งด่วนคือเรื่องหนี้ ซึ่งต้องดูก่อนว่ามีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คาดว่าจะเก็บได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2565 นี้
ส่อไม่รับหนี้ รฟม. 5.4 หมื่นล้าน
เมื่อถามถึงประเด็นการรับโอนหนี้สินทรัพย์สินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงินประมาณ 54,000 ล้านบาท ที่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จนั้น นายชัชชาติระบุว่า ถ้าเอาจริงๆ เราก็อยากให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับรถไฟฟ้าทุกสาย กล่าวคือ รถไฟฟ้าทุกสายในกรุงเทพฯ รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่างานโยธา ถ้าให้เรามาแบกค่างานโยธา แล้วเก็บค่าโดยสารประชาชนมา ก็จะทำให้ค่าโดยสารมีราคาแพง ซึ่งอันนี้เป็นข้อเท็จจริง อย่างรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย - มีนบุรีและสายสีเหลืองช่ว งลาดพร้าว - สำโรง รัฐก็จ่ายเงินค่าโยธาคืนให้กับเอกชนที่ร่วมลงทุน ซึ่งเราก็ขอให้ไปในทางมาตรฐานเดียวกันเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าสายอื่น รัฐช่วยออกค่าลงทุนให้ ซึ่งก็ต้องแลกเปลี่ยนกัน
“หลายอัน (ส่วนต่อขยายที่ 2) ก็มีบางส่วนอยู่นอกเขตกรุงเทพฯด้วย ไปอยู่สมุทรปราการบ้าง ไปอยู่ปทุมธานีบ้าง ซึ่งเราไม่ได้มีส่วนแบ่งรายได้กับเขาเลย หากภาครัฐเข้ามาดูแลจะเป็นประโยชน์ และเป็นเรื่องที่เห็นตรงกันกับท่านรัฐมนตรี (ศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ด้วยว่า เป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง” นายชัชชาติกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า แต่ในขณะนี้กทม.ออกข้อบัญญัติ เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไว้แล้ว จะทำอย่างไรต่อไป นายชัชชาติ ตอบว่า ตอนนี้เห็นแต่มติที่ให้กู้เงินมาจ่ายหนี้ แต่ยังไม่เห็นมติที่ให้กทม.รับหนี้ จึงต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่า ความหมายคือ กทม. รับหนี้ก้อนนี้แล้วใช่ไหม หรือว่าเป็นแค่วิธีหาเงินในการมาจ่ายหนี้ เพราะทั้งสองเรื่องไม่ใช่เรื่องเดียวกัน จะอยู่คนละบริบท