‘ศาลปกครอง’ นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดี ‘สราวุธ เบญจกุล’ ยื่นอุทธรณ์ กรณีศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่ง ‘ไม่รับคำฟ้อง’ ขอเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง ‘กรรมการสอบฯ’ จัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคาร ‘ศาลจังหวัดพระโขนง’ 7 ก.ค.นี้
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 7 ก.ค.นี้ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ บ.271/2564 หมายเลขแดงที่ บ.188/2564 ระหว่าง นายสราวุธ เบญจกุล (ผู้ฟ้องคดี) กับ ประธานศาลฎีกา ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา)
สำหนับคดีนี้ นายสราวุธ (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องว่า ประธานศาลฎีกา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กับพวกรวม 5 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ลับ ที่ 889/2564 ลว. 19 ส.ค.2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี กรณีผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง ซึ่งเป็นกรณีถูกกล่าวหาหลังจากพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว
แต่การออกคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ทั้งที่ตามกฎหมายแล้วต้องดำเนินการทางวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน จึงนำคดีมาฟ้อง
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเนื่องจากศาลฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นั้น ได้มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในขณะนั้น จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และผลการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ (ประธานศาลฎีกา) จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง และมาตรา 75 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ประกอบกับมาตรา 8 และมาตรา 22 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มีคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ลับ ที่ 889/2564 ลว. 19 ส.ค.2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี กระบวนการตั้งแต่การสอบสวนข้อเท็จจริงต่อเนื่องจนถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี เพื่อให้สอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวน พ.ศ.2544 ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)
แม้ว่ากระบวนการดังกล่าวเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และเป็นขั้นตอนการพิจารณาทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางปกครองก็ตาม แต่ก็ถือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการของ ก.ต. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด