‘ธงทอง จันทรางศุ’ เผยยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องสัมปทานสายสีเขียว โฟกัสส่วนต่อขยาย 1-2 เน้นปัญหาจ้างเดินรถยาว 30 ปี ควรทบทวนใหม่ ส่วนช่วงที่ 2 เป็นเรื่องนโยบายที่ต้องคุยกัน ชี้ยังต้องคุยต่อ นัดใหม่ 2 ก.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 มิถุนายน 2565 นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เคที เรื่อง รถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังไม่ได้ตกผลึกในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ค. 2565 นี้ เวลา 13.00 - 15.00 น. เพราะยังเป็นเพียงการหารือเบื้องต้นเท่านั้น และในวันดังกล่าว จะมีรายงานให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. ทราบหลังการประชุมด้วย
สาระสำคัญที่มีการพูดคุยกัน คือ การพิจารณาในโครงการ 2 ส่วน คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงกรุงธนบุรี - บางหว้า และช่วงบางจาก - แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงสำโรง - เคหะสมุทรปราการ
มอง 30 ปี จ้างเดินรถยาวเกินไป
ในส่วนต่อขยายที่ 1 ความเดิมมีการลงนามในสัญญาการใช้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการชนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่าง บมจ.ขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และบจ. กรุงเทพธนาคม (เคที) ระยะเวลา 30 ปี เริ่มเมื่อปี 2555 ไปสิ้นสุดในปี 2585 ซึ่งกรรมการเห็นว่า ล่วงเลยมา 10 ปีแล้ว ข้อเท็จจจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปจาก 10 ปีที่แล้ว ประกอบกับช่องทางการชำระเงินในยุคนี้มีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้น จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะทบทวนตัวเลขผลการศึกษาดังกล่าวใหม่อีกครั้ง แต่จะมีการแก้ไขให้สัญญาสิ้นสุดพร้อมตัวสัญญาสัมปทานหลักที่จะหมดอายุในปี 2572 หรือไม่นั้น ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องพูดคุยกัน ส่วนการเปิดเผยสัญญาเดินรถ ขอให้รอวันที่ 2 ก.ค.นี้
ถกนโยบายส่วนต่อขยายที่ 2
ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 2 เดิมทีไม่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพราะโครงข่ายอยู่นอกเขตรับผิดชอบของ กทม. โดยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ก่อสร้าง แต่เนื่องจากในช่วงปี 2559-2560 ในยุครัฐบาล คสช.มีการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ แล้วประสบปัญหา ไม่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีเตาปูนข้ามสายไปยังระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง ได้ เกิดเป็นสถานีฟันหลอ รัฐบาลต้องจัดรถเมล์รับส่งแทน
ทำให้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาในลักษณะนี้ให้จบทุกสายทาง ซึ่งสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 กำลังจะมีปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นในอนาคต จึงนำมาสู่การออกมติ ครม. เมื่อปี 2559 และ 2561 ในการโอนทรัพย์สินและหนี้สินโครงการส่วนนี้ให้ กทม. รับไปบบริหารทั้งหมด ซึ่งกรรมการเห็นว่า ควรมีการคุยกันในระดับนโยบาย ซึ่งเลยไปกว่าอำนาจของกทม.
ส่วนที่มีมติ ครม. กำกับให้โอนทรัพย์สินหนี้สิน ที่ผ่านมาครม.ชุดแล้วชุดเล่าผ่านมาก็ผ่านไปหลายชุด คิดว่า อาจมีประเด็นเกิดขึ้นก็ได้ เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง มันควรมีบางอย่างที่ต้องคิดใหม่ แต่จะคิดไปถึงขั้นโอนคืน รฟม. หรือไม่ ยังอยู่ในกระบวนการพูดคุย
ขณะที่คดีความที่ทาง BTSC ยื่นฟ้องกทม.ในส่วนต่อขยายที่ 2 ก็กำลังพิจารณาคำฟ้อง คำให้การมาศึกษาอยู่
“ความฝันเราอาจจะมีหลายอย่าง แต่ข้อจำกัดมันก็มี สัญญา กฎหมาย คดีความที่ผูกพันกันอยู่ เรามาทำต่อในวันที่กระดาษมีคนเขียนไปหลายอย่าง วันนี้เราจะเขียนได้แค่ไหน ก็ต้องติดตามกันต่อไป ผมคิดว่าหน้าที่กรรมการเคที คือการศึกษาความเป็นไปได้ในการมีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงให้ประโยชน์สาธารณะได้รับการดูแล และความกังวลสงสัยที่อธิบายไม่ได้ ก็ควรจะบอกได้แล้ว แต่อยากให้เผื่อใจนะว่า มันคงไม่ได้เป็นการลดราคาค่าโดยสารลงมาเยอะ ก็ต้องดูตัวเลขกันไป” นายธงทองกล่าว