ก.ล.ต.สั่งปรับ ‘บิทคับ-สตางค์คอร์ปอเรชั่น-พวก’ รวม 48 ล้าน ทำผิดฐานสร้างปริมาณเทียม ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ พร้อมสั่งลงโทษผู้เกี่ยวข้องห้ามเป็น ‘กรรมการ-ผู้บริหาร’
...............................
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub (ศูนย์ซื้อขาย Bitkub) ของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (บริษัทบิทคับ) โดยให้ผู้กระทำผิดชำระเงินรวม 24,161,292 บาท กำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบเหตุสงสัยว่าอาจมีการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Bitkub จึงได้ตรวจสอบโดยพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 3 ราย ได้แก่ (1) บริษัทบิทคับ (2) นายอนุรักษ์ เชื้อชัย ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Bitkub
และ (3) นายสกลกรย์ สระกวี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทบิทคับ สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิดดังกล่าว
บริษัทบิทคับ โดยนายสกลกรย์ ได้ทำสัญญากับนายอนุรักษ์ให้นายอนุรักษ์ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Bitkub และได้ให้นายอนุรักษ์ยืมเงินเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นายอนุรักษ์ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี จำนวน 4 เหรียญ ได้แก่ Bitcoin (BTC) Bitcoin Cash (BCH) Ethereum (ETH) และ Ripple (XRP)
โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของตนเองในศูนย์ซื้อขาย Bitkub ซึ่งการจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดังกล่าว มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 84 – 99 ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของนายอนุรักษ์ และตั้งแต่ร้อยละ 57 – 99 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด โดยบริษัทบิทคับและนายสกลกรย์รับทราบถึงการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายของนายอนุรักษ์ แต่ไม่ได้มีการทักท้วงการส่งคำสั่งซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของนายอนุรักษ์ดังกล่าว
การกระทำของบริษัทบิทคับและนายอนุรักษ์เป็นความผิดฐานส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
ส่วนการกระทำของนายสกลกรย์เป็นความผิดในฐานะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทบิทคับ สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิดในกรณีข้างต้น ซึ่งต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด มาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนี้
(1) ให้บริษัทบิทคับ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท
(2) ให้นายอนุรักษ์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
(3) ให้นายสกลกรย์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท และให้นายสกลกรย์ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัทบิทคับอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลและการกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 4 ราย กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Satang Pro (ศูนย์ซื้อขาย Satang Pro) ของบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (บริษัทสตางค์) โดยให้ผู้กระทำผิดชำระเงินรวม 24,161,292 บาท กำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบเหตุสงสัยว่าอาจมีการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro จึงได้ตรวจสอบโดยพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 4 ราย ได้แก่ (1) บริษัทสตางค์ (2) บริษัท LLC Fair Expo ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro (3) นายปรมินทร์ อินโสม ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทสตางค์
และ (4) Mr. Mikalai Zahorski เจ้าของและกรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ของบริษัท LLC Fair Expo เป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo (ตามลำดับ) สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo กระทำความผิดดังกล่าว
บริษัทสตางค์ โดยนายปรมินทร์ ได้ทำสัญญากับบริษัท LLC Fair Expo โดย Mr. Mikalai ให้บริษัท LLC Fair Expo ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro และได้ให้วงเงินซื้อขายเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 บริษัท LLC Fair Expo ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี จำนวน 3 เหรียญได้แก่ Bitcoin (BTC) Ethereum (ETH) และ Ripple (XRP)
โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของ Market Maker ในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro ซึ่งการจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดังกล่าว มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 96 – 99 ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของบัญชีซื้อขายของ Market Maker หรือคิดเป็นร้อยละ 81 – 97 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของ Market Maker ได้มีการนำส่งรายงานการซื้อขายในบัญชี Market Maker ให้บริษัทสตางค์รับทราบทุกเดือน
การกระทำของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo เป็นความผิดฐานส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 3 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
ส่วนการกระทำของนายปรมินทร์ และ Mr. Mikalai เป็นความผิดในฐานะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo (ตามลำดับ) สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo กระทำความผิดในกรณีข้างต้น ซึ่งต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 3 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 4 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด มาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนี้
(1) ให้บริษัทสตางค์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท
(2) ให้บริษัท LLC Fair Expo ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท และกำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน
(3) ให้นายปรมินทร์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท และให้นายปรมินทร์ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัทสตางค์อย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
(4) ให้ Mr. Mikalai ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท และให้ Mr. Mikalai ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัท LLC Fair Expo อย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลและการกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) สั่งการให้ Bitkub แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB ในการเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ศูนย์ซื้อขายฯ) ของ Bitkub ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565
โดยให้ Bitkub ประสานกับบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) ซึ่งเป็นผู้ออกเหรียญ KUB โดยให้ BBT แก้ไขมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจคของเหรียญ KUB ให้เป็นไปตามคะแนนที่ Bitkub ได้พิจารณาไว้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 และให้ Bitkub แสดงหลักฐานอย่างชัดเจนต่อ ก.ล.ต. ว่า มาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจคของเหรียญ KUB เป็นไปตามคะแนนที่ Bitkub ได้พิจารณาไว้
สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 Bitkub ได้พิจารณาอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ของ Bitkub โดยที่เหรียญ KUB มีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ของ Bitkub ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
โดย ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการคัดเลือกเหรียญ KUB แล้ว พบว่า Bitkub มีการให้คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB เพื่ออนุมัติให้เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ของ Bitkub ไม่เป็นไปตาม Listing Rule ของ Bitkub ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดย Bitkub ให้คะแนนในเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจคในระดับที่ “สูงกว่ามาตรฐานและไม่เคยมีมาก่อน” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า เหรียญ KUB มีเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่จริง
นอกจากนี้ Bitkub ยังให้คะแนนในหัวข้อการระดมทุนและหัวข้อส่วนลด Pre-ICO Sale ที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของเหรียญ KUB ด้วย จึงทำให้ ก.ล.ต. เห็นว่า คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB โดยรวมไม่ถึงเกณฑ์ที่จะอนุมัติเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้