‘ธปท.’ ปรับมาตรการกำกับ ‘สถาบันการเงิน’ ยกเลิกจำกัดการจ่ายเงิน ‘ปันผล’-เก็บเงินเข้ากองทุน FIDF ในระดับปกติ 0.46% ต่อปี ตั้งแต่ต้นปี 2566 พร้อมเพิ่มมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ให้ยืดการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 5% ออกไปถึงปี 66
....................................
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท.ได้ออกมาตรการทางการเงินรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) รวมถึงมีกลไกให้สถาบันการเงิน (สง.) ส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ได้ครอบคลุมมากขึ้น นั้น
ในวันนี้ (30 มิ.ย.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เห็นว่า เศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แม้การฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ แต่ก็เริ่มส่งผลดีต่อสถานะของลูกหนี้หลายกลุ่ม ขณะที่ระบบ สง. มีความมั่นคงสะท้อนจากเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง ทำให้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ผ่อนปรนและมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ส่งผลเป็นวงกว้าง (broad-based) มีความจำเป็นลดลง
และสามารถทยอยปรับเข้าสู่ระดับปกติได้ (policy normalization) โดยยังเน้นมาตรการเฉพาะจุด (targeted) เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง ในการนี้ ธปท. จึงเห็นควรปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล ดังนี้
1.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและฐานะของ สง.
1.1 ยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผล จากเดิมที่จำกัดอัตราการจ่ายไม่เกินร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิประจำปี เนื่องจากผลการทดสอบระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ภายใต้ภาวะวิกฤต (stress test) ชี้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนและเงินสำรองเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า รวมทั้งผู้กำกับดูแลในต่างประเทศส่วนใหญ่ ก็ได้ยกเลิกนโยบายจำกัดการจ่ายเงินปันผลเพื่อดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินในช่วงระบาดของโควิด 19 แล้ว
1.2 ปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป จากที่เคยปรับลดลงเหลือร้อยละ 0.23 ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปช่วยเหลือลูกหนี้ในรูปแบบต่างๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19
โดยการให้ สง. กลับมานำส่งเงินเข้า FIDF ในอัตราเดิมนี้ สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ซึ่งการที่ สง. ยังมีฐานะเข้มแข็ง ก็จะสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกหนี้ในระยะต่อไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการลดเงินนำส่ง FIDF และยังจะช่วยให้หนี้ของ FIDF ทยอยลดลงตามเป้าหมาย ไม่สร้างภาระต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโดยไม่จำเป็นในระยะยาว ทั้งนี้ การนำส่งเงินเข้า FIDF ที่อัตราร้อยละ 0.23 ยังมีผลถึงสิ้นปี 2565 ดังนั้น สง. จะยังต้องให้ความสำคัญต่อการส่งผ่านต้นทุนในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนอย่างต่อเนื่อง
2.ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ด้วยมาตรการที่เฉพาะเจาะจง ทั้งการผลักดันผ่านมาตรการที่ยังมีผลอยู่ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างหนี้เดิม การเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงมีมาตรการใหม่เพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่ยังเปราะบาง ดังนี้
2.1 มาตรการเดิมที่ยังมีผลอยู่
(1) มาตรการแก้หนี้ระยะยาว ที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 2566
(2) โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถโอนทรัพย์มาชำระหนี้ได้ โดยให้สิทธิซื้อคืนภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566
(3) การเพิ่มสภาพคล่องภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อรองรับการฟื้นตัวและการปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งจะสามารถใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566
2.2 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบาง ดังนี้
(1) คงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ ที่ร้อยละ 5 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 และที่ร้อยละ 8 ในปี 2567 โดยให้กลับสู่เกณฑ์ปกติที่ร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และคงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 1 ปี ออกไปจนถึงสิ้นปี 2566 จากเกณฑ์ปกติที่กำหนดไว้ 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง
(2) ปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งจะทำการเพิ่มทางเลือกในการผ่อนชำระ เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังในการชำระหนี้สามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่เลือกแผนการชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้น จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนขึ้น และเตรียมการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางสามารถขอรับความช่วยเหลือได้
“จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีความเท่าเทียมกันในแต่ละภาค ในขณะที่สถาบันการเงินเองมีความมั่นคง สะท้อนได้จากระดับเงินกองทุนที่สูงมากและเงินสำรองที่เพียงต่อการรองรับหนี้ที่เสื่อมลง รวมถึงสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ส่งผลในวงกว้าง จึงมีความจำเป็นลดลง และต้องปรับเข้าสู่ระดับปกติ (policy normalization)
เราจึงยกเลิกการจำกัดการจ่ายเงินปันผลของสถาบันการเงิน แต่สถาบันการเงินยังต้องระมัดระวังในการจ่ายปันผล และให้สถาบันการเงินกลับไปส่งเงินให้กับ FIDF ในอัตรา 0.46% ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ธปท.จะให้ความสำคัญในการผลักดันมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน โครงการพักทรัพย์พักหนี้ และการเพิ่มสภาพคล่องภายใต้สินเชื่อฟื้นฟู รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบางให้ตรงจุดมากขึ้น” นายรณดล กล่าว
(รณดล นุ่มนนท์)
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ในช่วงต้นวิกฤติโควิด หรือในช่วงปี 2563 ธปท.ได้ดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในลักษณะเป็นการปูพรมเป็นวงกว้าง เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงต้นปีหน้า ธปท. จึงได้ปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ (policy normalization) แต่จะไม่ละทิ้งกลุ่มเปราะบางและลูกหนี้รายย่อย
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการดำเนินนโยบายของภาครัฐ การดำเนินนโยบายการเงิน และการดำเนินนโยบายด้านสถาบันการเงิน ในลักษณะที่เป็นการพยุงเศรษฐกิจที่มากอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพื่อทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะไม่หยุดชะงัก และสถาบันการเงินทำงานต่อไปได้ รวมถึงการส่งผ่านความช่วยเหลือไปให้กับลูกหนี้ เป็นต้น
แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป คือ เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดย ธปท.คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.3% และปี 2566 ขยายตัว 4.2% การบริโภคเอกชนกลับมาได้ค่อนข้างดี นักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัว โดยปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 6 ล้านคน และปีหน้าที่ 19 ล้านคน จำนวนผู้ว่างงานลดลงและกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวเกือบ 7% ดังนั้น การใช้มาตรการที่เป็นวงกว้าง (broad-based) จึงมีความจำเป็นลดลง