นักวิจัยต่างชาติเผยรายงานโควิดจากแมวสู่คนของประเทศไทย 'น่าสนใจ' แต่สงสัยทำไมใช้เวลานานจึงจะพิสูจน์ได้ ชี้โอกาสแพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์ยังต่ำ-มนุษย์ยังเป็นแหล่งแพร่เชื้อหลักของไวรัสอยู่ดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับโควิด-19 หรือโคโรนาไวรัสว่าสืบเนื่องจากที่ผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศไทยได้มีการรายงานหลักฐานว่าสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะแมวนั้นสามารถแพร่เชื้อโควิดให้กับมนุษย์ได้
ล่าสุดทางด้านของ พญ.แองเจลา บอสโก-ลอธ นักวิจัยโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด สเตทส์ได้ออกมากล่าวว่าผลลัพธ์ดังกล่าวนั้นค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือ และส่วนตัวทางนักวิจัยก็ค่อนข้างประหลาดใจว่าทำไมถึงใช้เวลานานขนาดนี้จึงจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าในช่วงของการระบาดครั้งใหญ่นี้ ไวรัสนั้นมีความสามารถที่จะแพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์จากสัตว์หรือว่าจากแมวไปสู่คนได้ เพราะอันที่จริงมันก็มีความเป็นไปได้ที่ว่านี้มาสองปีกว่าแล้ว
ส่วน พญ.แมเรียน คูปแมนส์ นักไวรัสวิทยาที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยราสมุส ในประเทศเนเธอร์แลนด์กล่าวว่าการศึกษาในช่วงต้นของการระบาดครั้งใหญ่นั้นพบว่าแมวสามารถหลั่งอนุภาคไวรัสและสามารถติดเชื้อไปยังแมวตัวอื่นนับสิบตัวได้ แต่ว่าการกำหนดทิศทางของการระบาดของไวรัสไม่ว่าจะเป็นจากแมวสู่คนหรือว่าจากคนไปสู่แมวนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากดังนั้นกรณีการศึกษาในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นตัวอย่างที่ดีในการติดตามการติดต่อโรคที่จะสามารถดำเนินการได้
อนึ่งผลการศึกษาที่ประเทศไทยนั้นมาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ผ่านวารสาร โรคติดต่อ “อิเมอร์จิ่ง อินเฟ็คเชียส ดีซีส” Emerging Infectious Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อหรือซีดีซี โดยมีการระบุว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่าเป็นการติดจาก “แมวสู่คน”
โดย นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่า การแพร่กระจายเชื้อจากแมวไปสู่คน เหตุการณ์เกิดเดือนสิงหาคม วันที่ 4 ส.ค.64 แมวอายุ 10 ปี อยู่กับเจ้าของ 2 คน ใน กทม. เมื่อติดเชื้อโควิด ซึ่งในขณะนั้นในกทม. มีเตียงรักษาจำกัด จึงวางแผนมารักษาตัวกับญาติ ที่ จ.สงขลา
โดยผู้ป่วยทั้ง 2 คน นั่งรถส่วนตัวมาจาก กทม. พร้อมแมว เมื่อ 8 ส.ค. 64 รักษาในหอผู้ป่วยโควิดของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และสัตวแพทย์เกรงว่า แมวจะติดเชื้อ ในวันที่ 10 ส.ค. 64 หลังผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2 วัน สัตวแพทย์จึงตรวจแมวด้วยการแยงรูจมูกและรูทวาร และผลยืนยันติดเชื้อโควิด แต่ตอนที่เก็บสิ่งส่งตรวจ แมวจามออกมา ซึ่งขณะนั้นสัตวแพทย์ ซึ่งใส่แมสพร้อมซีลแมสแน่นหนา แต่ไม่ได้ใส่เฟซชีล เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่อีก 2 คนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ป่วย
ขณะที่ทางด้านของ นพ.ลีโอ พูน นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่ากรณีเรื่องของการแพร่เชื้อระหว่างแมวไปสู่คนนั้นอาจจะเป็นเรื่องหายาก โดยการศึกษาทดลองนั้นแสดงให้เห็นว่าเชื้อไวรัสที่หลั่งออกมาจากแมวที่ติดเชื้อนั้นไม่ได้มีจำนวนไวรัสที่มากนัก และหลั่งไวรัสได้ออกมาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น
“ก่อนหน้านี้ก็มีสัตว์ที่น่าสงสัยว่าจะมีศักยภาพในการแพร่เชื้อโควิดไปสู่มนุษย์ อาทิ กรณีฟาร์มมิงก์ในทวีปยุโรปและในอเมริกาเหนือ ,กรณีแฮมสเตอร์เลี้ยงในฟาร์มที่ฮ่องกง และกรณีกวางหางขาวที่ประเทศแคนาดา ดังนั้นการเพิ่มแมวเข้าไปอยู่ในลิสต์เหล่านี้ ก็ทำให้เราเข้าใจศักยภาพของไวรัสในการแพร่เชื้อในสัตว์ได้มากขึ้น” นพ.พูนกล่าว
อย่างไรก็ตาม พญ.บอสโก-ลอธกล่าวว่าเหตุการณ์แพร่เชื้อจากสัตว์ไปสู่คนที่ว่านี้นั้นยังเป็นกรณีที่หายาก และมนุษย์นั้นยังคงเป็นแหล่งสำคัญในการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19
เรียบเรียงจาก:https://www.nature.com/articles/d41586-022-01792-y