‘ปริญญา’ พลิกตำราเปิดสูตรฆ่ารัฐประหาร 5 ประการ ‘โภคิน’ กระตุกฝ่ายตุลาการเลิกค่านิยมรับรอง ชูหลักนิติธรรมใช้เป็นหลัก เขียนนิรโทษกรรมทุกแบบขัดหลักการนิติธรรมทั้งหมด ด้าน ‘ธงทอง’ ติงควรมีข้อมูลมากกว่านี้ ก่อน เผยการแก้รัฐธรรมนูญตามข้อเสนอเป็นเรื่องยาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 27 มิถุนายน 2565 นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานนำเสนอบทความวิชาการเนื่องในวาระ 90 ปีประชาธิปไตย หัวข้อ ‘การทำให้รัฐประหารหมดไปจากประเทศไทยด้วยมาตรการทางกฎหมายและบรรทัดฐานของศาล’ ตอนหนึ่งว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นความผิดร้ายแรงในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ที่บัญญัติว่า
‘ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต’
แต่ที่ผ่านมาไม่มีการใช้มาตรานี้กับการรัฐประหาร เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมามีการรองรับโดยฝ่ายตุลาการว่ายึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ ย่อมมีสิทธิ์ประกาศกฎหมายใช้บังคับได้ ดังนั้น หัวใจสำคัญที่จะทำให้รัฐประหารหมดไปคือ ฝ่ายตุลาการ ต้องเลิกรับรองการรัฐประหาร แต่ในทางปฏิบัติก็ยากถึงทำไม่ได้ เพราะการรัฐประหาร ยิ่งทำยิ่งซับซ้อนในการหาทางรับรองก็มีมากขึ้น นักกฎหมายที่ไปร่วมกับคณะรัฐประหารก็พยายามหาทุกหนทางที่จะแก้ปัญหานี้
“แม้การรัฐประหารในรอบเริ่มต้นจะเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจการบริหาร ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ โดยใช้ประกาศคณะปฏิวัติ แต่เพียงไม่กี่เดือนต่อมาหลังจากนั้นก็จะมีการออกรัฐธรรมนูญชั่วคราวรองรับประกาศคณะปฏิวัติชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อคดีถึงศาล ต่อให้ศาลอยากเปลี่ยนบรรทัดฐานก็เปลี่ยนไม่ได้แล้ว เพราะประกาศคณะปฏิวัติกลายเป็นกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปเสียแล้ว ดังนั้นการที่เราพูดกันในหลักการว่า ศาลต้องเปลี่ยนบรรทัดฐาน ทำไม่สำเร็จ เพราะเมื่อถึงการปฏิวัติในครั้งหน้า ก็ทำไม่ได้แล้ว” นายปริญญากล่าว
5 ขั้นตอน ฆ่ารัฐประหาร
ดังนั้น หนทางที่การทาให้การรัฐประหารหมดไปจากประเทศไทย เรื่องแรกคือ ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของเราที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่บัญญัติว่า รัฐประหารยึดอำนาจเป็นสิ่งที่ทำได้ถ้าทำสาเร็จ โดยฝ่ายตุลาการต้องเปลี่ยนบรรทัดฐานที่รับรองการรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2496 เพราะนั่นคือการอนุญาตให้รัฐประหารได้มาจนถึงวันนี้และยังเป็นการอนุญาตต่อไปในอนาคต โดยสามารถกล่าวโดยสรุปได้คือ
1. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรับรองเฉพาะประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คสช. เท่านั้น มิได้รับรองประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้
2. รัฐธรรมนูญที่เคยรับรองประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารในอดีตล้วนแต่ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว สถานะความชอบด้วยกฎหมาย หรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารในอดีตจึงควรต้องสิ้นผลไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญเหล่านั้นด้วย
3. สำหรับประกาศและคำสั่ง คสช. ที่มีสถานะเป็นพระราชบัญญัติ ย่อมสามารถดาเนินการโดยใช้กระบวนการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญหลังประกาศใช้ ได้เหมือนกับพระราชบัญญัติอื่น และควรต้องมีการยกเลิกมาตรา 279 เพื่อเลิกสถานะชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศและคำสั่งของ คสช.
4. ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ทั้งหมดด้วยการตราเป็นพระราชบัญญัติ
5. ให้มีการตราในรัฐธรรมนูญไม่ให้มีการรัฐประหารและไม่ให้มีการรับรองการรัฐประหาร โดยทำให้เป็น 'สัญญาประชาคม' สัญญาประชาคมที่ว่าต้องร่วมกันทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อที่จะไม่ให้มีการรัฐประหารและไม่ให้มีการรับรองการรัฐประหารนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของทหาร และฝ่ายตุลาการ หากเป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองและประชาชนทุกคนด้วย ที่จะไม่ยอมรับการรัฐประหารและไม่เรียกร้องให้มีการรัฐประหารมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอีก
นอกจากนี้แล้ว อาจารย์กฎหมาย ก็ต้องเลิกสอนว่า ทหารยึดอำนาจได้สาเร็จย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ประกาศสิ่งใดมาย่อมเป็นกฎหมายใช้บังคับประชาชนได้ เพราะนี่เองคือต้นเหตุสาคัญของการรับรองการรัฐประหารโดยฝ่ายตุลาการ และการมี ‘เนติบริกร’ หรือนักกฎหมายที่ไปช่วยทำให้การรัฐประหารชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายอย่างซับซ้อนและฝังลึกมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ รวมถึงอาจจะต้องให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพ จะต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง ว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญด้วย
ทั้งนี้ นายปริญญาทิ้งท้ายว่า 8 ปีที่ผ่านมาน่าจะสรุปได้แล้วว่า การรัฐประหารไม่ได้แก้ไขปัญหาการเมืองอย่างยั่งยืนได้เลย ไม่ได้ทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ที่มั่นคงขึ้นมาได้ ได้แต่เพียงผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่ที่ตรวจสอบได้ยากกว่าเดิมหรือตรวจสอบไม่ได้เลย และได้รัฐธรรมนูญที่แย่ลงทุกครั้ง แต่ทุกครั้งก็จะมีการรับรองหรือเขียนวิธีการสืบทอดอำนาจที่ซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น ต้องช่วยกันดำเนินการทุกภาคส่วน
วงจรอุบาทว์ เพราะศาลรับรองตั้งแต่ 2496
ด้านนายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า ตนพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังสอนเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญว่า วงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะองค์กรตุลาการไปรับรอง ถ้าองค์กรตุลาการไม่รับรอง การรัฐประหารก็คงหมดไปนานแล้ว แต่เมื่อมีการรับรอง คนที่ทำรัฐประหารก็ไม่เกรงกลัว แม้จะมีการตราในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2517 มาตรา 4 ว่า ‘การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มลางสถาบันพระมหากษัตรยหรือรัฐธรรมนญ จะกระทำมิได ้’ แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกฉีกทิ้ง
ทั้งนี้ ในอดีตประเพณีที่ยึดอำนาจแล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์ทำอะไรก็ได้ทั้งหมดนั้น เรื่องนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ หยุด แสงอุทัย อดีตราชบัณฑิตในสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ประเภทสังคมศาสตร์ สาขานิติศาสตร์ เคยมีบันทึกท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 45/2496 ว่า
‘คําพิพากษาฉบับนี้เป็นตัวอย่างอันดีที่จะพิจารณาว่าศาลยุติธรรมจําต้องรับรองผลของการปฏิวัติหรือรัฐประหารซึ่งทําได้สําเร็จ และผู้กระทําได้กลายเป็นผู้มีอํานาจอันแท้จริงในรัฐอย่างแน่นอน โดยที่การรัฐประหารเมื่อ 2490 มีลักษณะอย่างเดียวกับการปฏิวัติเยอรมัน ค.ศ. 1918 หลังสงครามโลกคราวแรก และรัฐบาลของประชาชน (คือรัฐบาลปฏิวัติ) ได้ดําเนินการสําเร็จทุกหนทุกแห่ง และสามารถขจัดกลุ่มของประชาชนที่ขัดขืนโดยอาศัยปัจจัยแห่งอํานาจที่รัฐบาลนี้ มีอยู่ได้สําเร็จเด็ดขาดเท่านี้ก็เป็นอันเพียงพอที่อํานาจที่รัฐบาลนี้มีอยู่อย่างแท้จริงจะได้รับรองจากกฎหมาย’
ยกปี 15/49/57 ฟ้องก็เอาผิดไม่ได้
จากบันทึกนี้ ทำให้กลายเป็นสิ่งที่บรรดาองค์กรตุลาการยึดถือมาโดยตลอด และทำให้การรัฐประหารตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินคดีกับคณะรัฐประหารได้เลย แม้ในบางโอกาสจะมีคนไปฟ้องร้องคณะรัฐประหารก็ตาม
เช่น ในปี 2515 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.จังหวัดชลบุรี นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก และนายบุญเกิด หิรัญคำ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจอมพลถนอม กิตติขจรกับพวก รวม 17 คน ต่อศาลอาญาในข้อหาความผิดฐานกบฏในการทำรัฐประหารเมื่อปี 2514 แต่สุดท้ายศาลยกฟ้อง เพราะศาลวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง
หรือในปี 2549 ร.ต.ฉลาด วรฉัตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะรัฐประหารและผู้สนับสนุน รวมทั้งสิ้น 308 ราย ต่อศาลอาญา ในข้อหาความผิดฐานกบฏ ตามมาตรา 113 และความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2550 สุดท้ายศาลยกฟ้องเพราะเห็นว่าคดีไม่มีมูล อ้างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญชั่วคราวเรื่องนิรโทษกรรม
และปี 2557 ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ยื่นฟ้องคสช. ปลัดกระทรวง และเจ้ากรมพระธรรมนูญ รวมทั้งสิ้น 27 คน ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานกบฏ และความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งต่อมาศาลอาญาได้มีคำสั่งในวันเดียวกับที่ฟ้องนั้น โดยมีคำสั่งยกฟ้อง ไม่รับฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าความผิดตามฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรถือได้ว่าเป็นความผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ แต่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ดังนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในคดีนี้
ชงทุกองค์กรยึดหลักนิติธรรม-เลิกนิรโทษฯต้องเขียนในรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น นายโภคินเสนอว่า ควรใช้มาตรา 3 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ซึ่งอันนี้จะเป็นสิ่งที่ตรึงทุกองค์กรไว้ว่า จะทำอะไรต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรม
“ความหวังจึงอยู่ที่ศาลและความกล้าหาญของศาลว่า พวกเหล่านี้ (คณะรัฐประหารและส.ว. 250 คน) กระทำการขัดหลักนิติธรรมโดยชัดแจ้งมาแต่ต้น และสุดท้ายที่คิดว่าสำคัญที่สุดและอยากพูดถึงคือ ต่อไปนี้การห้ามนิรโทษกรรมตัวเองต้องถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่จะเขียนใหม่ ต้องเขียนเอาไว้เลยว่า บทบัญญัตินี้ถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและจะดำรงอยู่ตลอดไปตราบที่เรายึดถือรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการนิรโทษกรรมทุกรูปแบบทั้งหมดให้ถือว่าขัดกับหลักนิติธรรมในมาตรา 3 ด้วย” นายโภคินทิ้งท้าย
โภคิน พลกุล
มองแก้ผลพวงรัฐประหารไม่ง่าย
ขณะที่นายธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้ ควรให้ความรู้ว่า การรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย และในปีเดียวกันอาจจะมีทั้งธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญด้วย สิ่งหนึ่งที่ควรทำให้กระจ่างมากขึ้นคือ มันขั้นตอนมาตรฐานในการทำรัฐประหาร คือ ในวันแรกที่มีการทำรัฐประหารจะไม่ออกกฎหมายอะไรออกมา การยึดอำนาจเอาไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่จะยาวสั้นแค่ไหนไม่ทราบ บางยุคก็ยาว บางยุคก็สั้น หลังจากนั้นจึงจะคั่นด้วย ‘ธรรมนูญการปกครอง’ ซึ่งจะใช้ชั่วคราว แต่จะชั่วคราวแค่ไหนก็แล้วแต่คณะรัฐประหาร สุดท้ายก็นำไปสู่การจัดทำ ‘รัฐธรรมนูญ’ ในที่สุด
ส่วนข้อเสนอที่ให้ลบล้างผลพวงจากคำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหาร ประเด็นนี้เห็นด้วยเพราะเป็นการส่งสัญญาณว่าของที่ผ่านมาแล้วไม่ชอบมาพากล บางอย่างต้องเลิก บางอย่างต้องปรับปรุง เช่น กรณีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งตามคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 164 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จนในยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีกลุ่มที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก มีการพูดถึงประกาศคณะปฏิวัติที่มีลำดับทางกฎหมายหลายอย่าง และมีแนวคิดจะชำระกฎหมายเหล่านี้ว่าจะยกเลิก ปรับปรุง หรือแก้ไขเนื้อหา อย่างคำสั่งคณะปฏิวัติที่จัดตั้งคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ต่อมาได้รับการปรับปรุงเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่กว่าจะเสร็จก็ปาเข้าไปปี 2538 แล้ว ดังนั้น สิ่งที่เป็นข้อเสนอของนายปริญญาควรจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่ม และจำแนกข้อเท็จจริงบางอย่างให้ง่ายต่อความเข้าใจของผู้คนทั้งหลาย
หรือแม้แต่ข้อเสนอที่ให้แก้ไขมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ควรไปดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมว่า มีเงื่อนไขล็อกอะไรบ้าง ซึ่งสาระสำคัญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นการแก้ไขร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งหมายถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการแต่งตั้ง 250 คน และในการลงคะแนนเสียงก็ตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง และต้องมีสมาชิกส.ว. 1 ใน 3 หรือประมาณ 80 คนเห็นชอบด้วย
“ข้อเสนอในทางทฤษฎีถือว่าเข้าท่าอยู่ แต่ในทางปฏิบัติต้องพูดถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยว่า มันหืดขึ้นคอ เพราะถึงแม้ส.ส.ทั้ง 500 คนจะเห็นด้วยทั้งหมด แต่ก็แก้ไขไม่ได้อยู่ดี มันเป็นการปิดประตูตายในประเด็นนี้ ส่วนการเปลี่ยนบรรทัดฐานศาล เป็นสิ่งที่ควรพูดกันให้มาก ถึงแม้จะไม่เกิดผลในปีหน้า แต่ก็ต้องมองว่าในอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้า จะต้องเกิดผล” นายธงทองกล่าว
ธงทอง จันทรางศุ