'หมอยง' ขออย่าด้อยค่าวัคซีนเชื้อตาย เผยฉีด 3 เข็ม แล้วติดโควิด เหมือนได้วัคซีนเข็ม 4 เป็นภูมิคุ้มกันลูกผสมที่ดี ชี้โอไมครอน BA.4-BA.5 ไม่น่ากังวล ยังไม่มีหลักฐานความรุนแรง ย้ำให้ป้องกัน-ระวังตัวเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้ถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยโควิด-19 ใน กทม. จำนวน 206 ราย พบว่ายังเป็นสายพันธุ์ย่อยโอไมครอน BA.2 แต่ข้อมูลทั่วโลกพบ BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเดือนมิถุนายน เป็น 30%
ขณะที่ประเทศไทย พบรายงานการเพิ่มขึ้นของ BA.5 ในเดือน พ.ค. จาก 1.6% ขยับเป็น 8% ในเดือน มิ.ย. นับเป็นสัญญาณเตือนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ต้องกลัว เพราะยังไม่มีหลักฐานความรุนแรง รวมถึงการเสียชีวิตที่เพิ่ม อีกทั้งการถอดรหัสพันธุกรรมในหลายประเทศมีแนวโน้มลดลง ความถูกต้องแม่นยำก็น้อยลง
ศ.นพ.ยง กล่าวถึงการศึกษาการระบาดในเด็ก ระลอก 4 (ม.ค.-16 เม.ย. 2565) พบว่า โอกาสเสียชีวิตต่ำมาก ข้อมูลเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 เด็กอายุ 0-14 ปี ที่ติดเชื้อ 2.3 แสนราย พบเสียชีวิต 41 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็นหลักอยู่ที่ 1 ใน 150,000 คน
เช่นเดียวกับ การศึกษาวิจัยเด็ก 5-6 ปี ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน จำนวน 350 ราย โดยเจาะเลือดตรวจพบว่าช่วงสายพันธุ์โอไมครอนมีเด็กติดเชื้อ 27% หรือประมาณ 1 ใน 4 เทียบกับช่วงสายพันธุ์เดลต้า มีเด็กติดเชื้อ 7-8% เมื่อซักประวัติพบว่าครึ่งหนึ่งไม่แสดงอาการ ดังนั้น เด็กเหล่านี้ที่ติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยมาก จึงมีความเสี่ยงจะแพร่เชื้อที่โรงเรียนและนำไปสู่ครอบครัวได้
"จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า เด็กจำนวนหนึ่งติดเชื้อไม่มีอาการ ในช่วงที่มีการเปิดเทอมจะพบการแพร่ระบาดมากขึ้น สำหรับดือน ก.ค. คาดว่าจะเห็นยอดติดเชื้อสูงขึ้น จนถึงเดือน ส.ค. ดังนั้น ต้องเตรียมรับมือ จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงไปต่ำสุดช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. เพราะเป็นช่วงปิดเทอม และจะกลับสูงอีกทีช่วงเปิดเทอม เดือน ม.ค. โดย อาการหลักๆ ที่เห็นคือเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย สมองมึนตื้อ หายใจไม่สะดวก ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะลดลง" ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์วัคซีนในประเทศไทย ขณะนี้มีการให้วัคซีนถึง 5 เข็มแล้ว โดยมีการฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 อยู่ที่ประมาณ 80% และเข็ม 3 อยู่ที่ประมาณ 40% ส่วนเข็ม 4-5 มีจำนวนน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าอัตราการฉีดวัคซีนของไทยไม่ค่อยคืบหน้า โดยเฉพาะเข็ม 1-2 ที่ปัจจุบันควรครอบคลุม 90% แล้ว
"การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ส่วนตัวไม่อยากให้ด้อยค่าวัคซีนเชื้อตาย เพราะมีผลวิจัยยืนยันเชื้อตายเป็นตัวปูพื้น ทำให้ร่างกายจำลองการติดเชื้อได้ดี ควรนับรวม หากจะกระตุ้นเข็มที่ 5 ควรให้ห่างนาน 4-6 เดือน หรือมีอะไรเปลี่ยนแปลงค่อยว่ากัน สำหรับการติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 แม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วมีโอกาสเกิดได้แต่น้อย ดังนั้น จึงต้องป้องกันและระวังตัวเอง" ศ.นพ.ยง กล่าว
จากการตรวจภูมิต้านทานของผู้ใหญ่ พบว่า การให้วัคซีน 2 เข็มแรก ระดับภูมิต้านทานจะขึ้นไม่สูง ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไรก็ตาม ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องให้เข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานให้สูงขึ้น เพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งโอไมครอนต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าสายพันธุ์เดิมอู่ฮั่นมาก
ดังนั้น หลังฉีดวัคซีนนานเกิน 4 เดือนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 หรือ 4 ภูมิต้านทานก็จะลดลงในระดับที่ต่ำกว่าระดับป้องกันการติดเชื้อ จึงแนะนำว่าให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นหลัง 4-6 เดือน
"ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนยี่ห้ออะไรก็ขอให้ฉีด 3 เข็ม นับทุกยี่ห้อเท่ากัน สำหรับผู้ที่ติดโควิดแล้วนั้น ให้นับการติดโควิดเป็นการฉีดวัคซีน 1 เข็ม เนื่องจากการติดโควิดสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูง ส่วนใครที่ฉีดวัคซีนแล้วลืม สามารถฉีดต่อได้เลย อย่างไรก็ดี เน้นย้ำว่าวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ป้องกันป่วยหนัก เสียชีวิต" ศ.นพ.ยง กล่าว
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก จากรายงานพบว่าขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง เนื่องจากหลายประเทศตรวจหาเชื้อลดลง ซึ่งคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงน่าจะมากกว่านี้ถึงประมาณ 10 เท่า รวมทั้งในไทยด้วย อย่างไรก็ดี อัตราการเสียชีวิตในระลอกของการระบาดสายพันธุ์โอไมครอนนั้น ถือน้อยกว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดสายพันธุ์เดลตามาก
สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหลักทั่วโลกขณะนี้ คือโอไมครอน โดยมีสายพันธุ์ย่อยเกิดขึ้นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันพบว่า สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานความรุนแรงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ จากข้อมูลทั่วโลกพบว่า ในเดือนมิ.ย. 65 พบ BA.5 เพิ่มขึ้นเป็น 30.3% จากเดือนพ.ค. ที่ 3.7% อย่างไรก็ดี ทั่วโลกมีการถอดรหัสพันธุกรรมน้อยลงเช่นเดียวกับที่ตรวจหาเชื้อลดลง ดังนั้น ประเทศไหนมีการถอดรหัสมากก็พบมาก ซึ่งส่งผลให้ความแม่นยำลดลงด้วย ในส่วนของประเทศไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็พบมากขึ้น โดยเดือนพ.ค. 65 อยู่ที่ 1.6% ส่วนมิ.ย. อยู่ที่ 8.1% อย่างไรก็ดี ต้องจับดูข้อมูลของสัปดาห์นี้ต่อไป
ศ.นพ.ยง กล่าวถึงในส่วนของอาการ Long Covid ว่า คำจำกัดความ คืออาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด ซึ่งตรวจหาได้ยาก และส่วนใหญ่มาจากคำบอกเล่า เช่น ไม่ได้กลิ่น หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น ส่วนอาการหลักๆ คือ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย สมองล้า หัวตื้อ และหายใจติดขัด สำหรับปัจจัยเสี่ยง คือ ผู้ป่วยหนักจะพบมากกว่า, พบในอายุมาก บ่อยกว่าอายุน้อย, พบในเพศหญิงมากกว่าชายเล็กน้อย, พบในผู้ที่มีโรคอื่นร่วมด้วย และผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
"จากข้อมูลพบว่า อาการ Long Covid ในช่วงที่เดลตาระบาดอยู่ที่ 12% แต่ในช่วงที่โอไมครอนระบาดพบ 3% และเชื่อว่าปีหน้าก็จะลดลงอีก เป็นเพราะคนเริ่มรู้จักโรค ทำให้กังวลหรือกลัวลดลง" ศ.นพ.ยง กล่าว