ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงทำหนังสือร้อง ‘บิ๊กตู่’ ขอตรวจสอบมติ กพช.อนุมัติ กฟผ.ซื้อไฟฟ้าเพิ่มจาก 2 เขื่อนลาว ราคาแพงกว่าราคารับซื้อเฉลี่ยประเทศ ซ้ำยังขาดการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2565 นายอำนาจ ไตรจักร ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง เปิดเผยว่า ประชาชาชนริมแม่น้ำโขงได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการเขื่อนปากลาย และโครงการเขื่อนหลวงพระบาง โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA ซึ่งเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม และเห็นว่าอาจส่งผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง
สำหรับ หนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ระบุถึงข้อกังวลใจของชาวบ้านว่าการเร่งรัดการลงนามสัญญาดังกล่าว โดยไม่มีส่วนร่วมของประชาชน และไม่คำนึงถึงข้อมูลข้อเท็จจริงของสถานการณ์พลังงานในประเทศที่มีปริมาณไฟฟ้าสำรองในระบบสูงมากกว่า 50 % นอกจากนั้นยังพบว่าสัญญาฉบับนี้ กฟผ.เป็นการซื้อไฟฟ้าในราคาที่แพงกว่าปัจจุบันที่รับซื้อจาก สปป.ลาว เนื่องจาก กฟผ.ทำสัญญากับโรงไฟฟ้าเอกชนแบบ take or pay หรือไม่ใช้ก็ต้องจ่าย
สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ห่างจากเมืองหลวงพระบางเพียง 24 กิโลเมตร เมืองหลวงพระบางได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) นับตั้งแต่ปี 2538 เมื่อมีการเสนอโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2564 ให้ชะลอการก่อสร้างออกไป และให้รัฐบาลลาวจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อมรดกโลก (Heritage Impact Assessment-HIA) และรายงานการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง โดยมีกำหนดแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่าได้มีการศึกษาหรือไม่อย่างไร และไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะถึงผลของการศึกษาดังกล่าวเพื่อใช้ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจต่อโครงการเขื่อนแต่อย่างใด
การที่ประเทศไทย โดย กฟผ. จะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง จำเป็นอย่างยิ่งต้องนำผลการศึกษารายงานผลกระทบต่อมรดกโลก (HIA) ดังกล่าว และความเห็นของคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง
“กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจของไทย หากลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว เสมือนหนึ่งกระทำการในนามรัฐบาลไทยภายใต้ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และส่งผลโดยตรงต่อการบริหารจัดการไฟฟ้าที่ไร้ประสิทธิภาพในปัจจุบัน จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กฟผ. เพื่อให้เกิดการปกป้องคุ้มครองประโยชน์ของชาติ ประโยชน์สาธารณะ ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม” หนังสือร้องเรียน ระบุ
นอกจากนี้เครือข่ายประชาชนลุ่มแม่น้ำโขง 8 จังหวัดยังได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย
ด้านนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาลุ่มน้ำโขง (MEENet) และนักวิเคราะห์ด้านพลังงาน กล่าวว่า ประเด็นราคาค่าไฟฟ้าที่มีการตกลงสำหรับ 2 โรงไฟฟ้าเขื่อนแม่น้ำโขงในครั้งนี้ เป็นราคาที่สูงกว่าที่มีการรับซื้อจากพลังงานหมุนเวียน solar rooftop จากประชาชนในประเทศไทย สะท้อนว่ากำลังจะให้ประโยชน์กับทุนขนาดใหญ่หรือไม่ ที่ผ่านมาเหตุผลที่อธิบายการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวคือบอกว่าไฟฟ้าราคาถูก แต่ครั้งนี้ถือว่าไม่จริง เพราะมีราคาซื้อแพงกว่าราคารับซื้อเฉลี่ยในไทย
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า สัญญาฉบับดังกล่าวยังมีอายุสัญญา 35 ปี ถือว่ายาวนานและไม่เคยมีมาก่อน เท่ากับว่าไม่ให้โอกาสในการทบทวนแผนในอนาคต ซึ่งจะกลายเป็นหนี้คงค้าง เป็นภาระที่จะผูกพันในอนาคตโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีความจำเป็นหรือไม่ เป็นภาระที่นำมาสู่ค่าไฟฟ้าแพงสำหรับประชาชน คือค่าความพร้อมจ่ายที่ลงนามล่วงหน้ารับซื้อไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
"น่าสังเกตกว่าบางโครงการไม่เคยอ้างไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟ้ฟ้าของประเทศไทย (PDP) มาก่อนเลย แต่กลับมีบริษัทผู้ลงทุนสามารถทำให้โครงการของตนสามารถได้ทางลัด fast track ทั้ง ๆ ที่เวลานี้โรงไฟฟ้าของบริษัทดังกล่าว ก็มีสัดส่วนกำลังผลิตอยู่ในระบบสูงมากอยู่แล้ว และกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้เดินเครื่องเลยในช่วงโควิด แต่กลับมีโครงการใหม่เข้ามาอีก เห็นได้ชัดถึงกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลสูงมากในเวลานี้" นายวิฑูรย์ กล่าว