‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษายกฟ้องคดี AIS ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่ง กสทช. ที่ให้ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 1 แสนบาท ตั้งแต่ปี 2555 กรณีกำหนด ‘วันหมดอายุ’ การให้บริการโทรศัพท์มือถือแบบ ‘เติมเงิน’
.....................................
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือค่าย AIS (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ที่ให้ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 100,000 บาท กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549
เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า
ประเด็นแรก ผู้ฟ้องคดี (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ตามหนังสือลงวันที่ 31 พ.ค.2555 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท ภายในระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่
ศาลฯเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดี (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) นำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ในวันที่ 11 ม.ค.2556 นั้น พ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องในข้อหานี้ไว้พิจารณา
ประเด็นที่สอง คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทช.) ในการประชุมครั้งที่ 35/2555 เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2555 ที่มีมติยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลฯเห็นว่า ก่อนที่จะวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ในการประชุมครั้งที่ 35/2555 เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2555 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจำเป็นต้องพิจารณาก่อนว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 5011/9627 ลงวันที่ 31 พ.ค.2555 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ฟ้องคดี (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) กำหนดเงื่อนไขการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า (Pre-Paid) โดยให้ผู้ใช้บริการเติมเงิน 50 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 5 วัน หรือเติมเงิน 300 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 30 วัน หรือเติมเงิน 500 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 50 วัน หรือเติมเงิน 1,500 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 365 วัน
อันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กทช. ที่มีอำนาจในขณะนั้น ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ประกอบมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดี (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) ในฐานะผู้รับใบอนุญาตระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด
แต่เมื่อผู้ฟ้องคดี (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) ยังมิได้ดำเนินการปรับปรุงเงื่อนไขการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีอำนาจตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 กำหนดค่าปรับทางปกครองแก่กรณีของผู้ฟ้องคดี
กรณีจึงเป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติตามกฎหมาย ไม่อาจรับฟังได้ว่าขัดหรือแย้งกับหลักนิติธรรมและสิทธิที่ผู้ฟ้องคดี (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) เคยได้รับ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญดังข้ออ้างของผู้ฟ้องคดี อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีกรณีนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดี (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) อุทธรณ์ว่า อัตราค่าปรับที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) กำหนดจำนวน 100,000 บาท/วัน เกินเกว่าที่กำหนดในมาตรา 58 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) มีอำนาจปรับผู้ฟ้องคดีได้ไม่เกินอัตราวันละ 20,000 บาท/วัน นั้น
ศาลฯพิเคราะห์แล้งเห็นว่า มาตรา 58 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดกรณีพิพาท บัญญัติว่า คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำ ถ้าผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1)... (2) ให้มีการชำระค่าปรับทางปกครองตามจำนวนที่สมควรแก่เหตุแต่ต้องไม่เกินสองหมื่นบาทต่อวัน
มาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า ถ้าบทกฎหมายใด กำหนดมาตรการบังคับทางปกครองไว้โดยเฉพาะแล้ว แต่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามาตรการบังคับนั้น มีลักษณะที่จะเกิดผลน้อยกว่ามาตรการบังคับตามหมวดนี้ เจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามหมวดนี้แทนก็ได้
จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้การบังคับทางปกครองเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะ จึงไม่อาจนำมาตรา 58 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539ในส่วนที่กำหนดค่าปรับทางปกครองไม่เกินวันละ 20,000 บาท และบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวกับการบังคับทางปกครอง มาใช้บังคับแก่กรณีในคดีนี้ได้
แต่หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าเมื่อใช้กฎหมายเฉพาะในการบังคับทางปกครองแล้ว จะเกิดผลน้อยกว่า ก็อาจเลือกใช้การบังคับทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราซการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) จึงมีอำนาจกำหนดค่าปรับทางปกครองเกินกว่า 20,000 บาท/วันได้
“ด้วยเหตุผลดังกล่าว คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 5001/9627 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ในการประชุมครั้งที่ 35/2555 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 ที่มีมติยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.660/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อ.340/2565 ระบุ
สำหรับคดีนี้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ฟ้องว่า เลขาธิการ กสทช. กับ พวก กรณีที่มีหนังสือที่ สทช. 5011/9627 ลว. 31 พ.ค.2555 ให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549
ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์กรณีดังกล่าว และได้รับแจ้งผลการพิจารณาตามมติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในการประชุมครั้งที่ 35/2555 ให้ยื่นตามคำสั่งเดิมเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดี (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกำหนด
การที่ผู้ฟ้องคดีให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะที่เรียกเก็บเงินล่วงหน้า (แบบ Pre-Paid) โดยมีการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการที่ต้องใช้บริการภายในเวลาที่กำหนด เป็นการที่ผู้ฟ้องคดีฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ได้มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน และในภายหลังได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการตามประกาศดังกล่าว หากฝ่าฝืนจะกำหนดค่าปรับทางปกครอง แต่ผู้ฟ้องคดียังคงฝ่าฝืน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ย่อมมีอำนาจที่จะออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับทางปกครอง ตามมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
ส่วนการกำหนดจำนวนค่าปรับทางปกครองนั้น เห็นว่า การพิจารณาค่าปรับทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ประเมินจากผลกระทบด้านต่าง ๆ ดังนี้ (1) ผลกระทบต่อการประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาตทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์เป็นเงินจำนวนมาก สมควรปรับ 40,000 บาท (2) ผลกระทบต่อการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม สมควรปรับ 20,000 บาท (3) ผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ทำให้ผู้ใช้บริการถูกบังคับให้ใช้บริการในระยะเวลาที่กำหนด สมควรปรับ 40,000 บาท รวมเป็นค่าปรับ 100,000 บาท/วัน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้กับผู้ประกอบการทุกราย
ทั้งนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีให้ผู้ใช้บริการใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับประโยชน์ ซึ่งขณะนั้นผู้ฟ้องคดีมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจ่ายล่วงหน้า 31.7 ล้านเลขหมาย เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนค่าปรับกับรายได้ผู้ฟ้องคดีแล้ว การกำหนดค่าปรับดังกล่าวจึงไม่กระทบผู้ฟ้องคดีจนเกินสมควร การกำหนดค่าปรับทางปกครองวันละ 100,000 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องดังกล่าว