สธ.เผย BA.4-BA.5 ครองพื้นที่ระบาดในไทยกว่า 45% แพร่เร็วขึ้น 1.5 เท่า-หลบภูมิมากขึ้น มีผู้ป่วยยืนยันรวมแล้ว 181 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 133 อีก 48 รายมาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่พบใน กทม. ชี้เคยติดโอไมครอนอื่นแล้ว ก็ติดซ้ำได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อว่า จากการที่กรมได้มีการกเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลระหว่างวันที่ 18-22 มิ.ย.2565 โดยสุ่มตรวจจากกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศและกลุ่มอื่นๆภายในประเทศ จำนวน 396 ราย พบเป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 จำนวน 2 ราย BA.2 จำนวน 213 ราย และ BA.4-BA.5 จำนวน 181 ราย แบ่งเป็น ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย 48 ราย ติดเชื้อในประเทศ 133 ราย ส่วนใหญ่พบผู้ติดเชื้อใน กทม. เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสุ่มตัวอย่างมาตรวจมากที่สุดได้มีการส่งรายงานเข้าไปยังระบบฐานข้อมูลโควิด-19 โลก (GISAID) แล้ว
ภาพรวมสัดส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยขณะนี้เป็น โอไมครอน BA.1 คิดเป็น 0.5 % BA.2 คิดเป็น 53.8 % และ BA.4/BA.5 คิดเป็น 45.7 %
ในช่วงสัปดาห์ก่อนมีการส่งตัวอย่างเข้ามาตรวจมากขึ้น จากทั้งโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบ BA.4/BA.5 ราวๆ 81 ตัวอย่าง กำลังจะรายงานเข้าไปยัง GISAID แต่ตัวเลขอาจจะทับซ้อนกับรายงานก่อนหน้านี้
ดังนั้นจึงพอสรุปคร่าวๆ ได้ว่ามีการพบสายพันธุ์ย่อยนี้ประมาณ 200 ตัวอย่างนิดๆ ส่วนใหญ่พบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ศูนย์ตรวจ เลยส่งตรวจมามาก แต่ไม่ใช่ว่าพบความผิดปกติเลยส่งมาตรวจ แต่เพราะติดตามสถานการณ์โลก จึงเฝ้าระวังกันมากขึ้น
โดยในจำนวนนี้ 72.7% เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ อีก 27.3% เป็นการติดเชื้อในประเทศ และคงต้องรออีก 2-3 สัปดาห์ถึงจะเห็นแนวโน้มจริงของการระบาดของสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย
“ยังไม่มีรายงานผู้ที่มีอาการหนัก หรือเสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้เข้ามา ส่วนพื้นที่กทม.ที่มีรายงานอาการหนักครองเตียงเพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้มีการตรวจหาสายพันธุ์ในกลุ่มผู้มีอาการหนักตรงนี้ ส่วนเรื่องยารักษาโรคปัจจุบันที่มีอยู่นั้นยังสามารถรักษาได้ อีกทั้ง ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าจะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ แต่คนที่เคยติดเชื้อโอไมครอน BA.1 BA.2 มาก่อนสามารถติดเชื้อ BA.4 BA.5 ซ้ำได้ โดยคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะพบว่า เมื่อมาติด BA.5 ภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับเชื้อลดลงไป 6-7 เท่า ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับเชื้อลด 1-2 เท่า” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ส่วนข้อมูลก่อนหน้านี้ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 จำนวน 81 ราย นพ.ศุภกิจ ระบุว่า เป็นข้อมูลที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานเข้าสู่ระบบฐานกลาง GISAID (จีเซท) พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการปกปิดข้อมูลการรายงาน โมีการรายงานผลการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ขึ้นระบบฐานข้อมูลกลาง หรือ จีเซท โดยไทยยังคงมีวิธีการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่มีทั้งตรวจแบบเร็วภายใน 1 วัน ยังคงตรวจอยู่ภายในศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ถึงแม้จะมีการลดจำนวนตัวอย่างลง และอีกวิธีที่มีการทำอย่างต่อเนื่อง คือการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์โดยตรวจตัวอย่างประมาณ สัปดาห์ละ 500-600 ตัวอย่าง
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ทั่วโลก ขณะนี้เหลือเพียงสายพันธุ์โอไมครอนเท่านั้นที่ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ตอนนี้แทบไม่มีสายพันธุ์อื่นๆ หลงเหลืออยู่เลย
ในส่วนของโอไมครอนนั้นมีสายพันธุ์ย่อยหรือลูกหลานที่น่ากังกวล คือ BA.2.12.1 , BA.2.9.1 BA.2.11 BA.2.13 และ BA..4 BA.5 แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ BA.4 BA.5 แต่เพราะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับสายพันธุ์เดลตา จากข้อมูลผลวิจัยจากห้องปฏิบัติการพบว่า เชื้อ BA.4 และ BA.5 ทำลายปอดและมีอาการปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น แต่ทางข้อมูลทางคลินิกยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ
ส่วนสายพันธุ์ดังกล่าว จะมีความรุนแรงเหมือนเชื้อเดลตาหรือไม่ ขณะนี้ยังเป็นข้อสันนิษฐานอยู่ ทำให้องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศถึงสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามองหลังในหลายประเทศพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายพบว่า สายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนตัวอื่นๆ มีการติดเชื้อลดลง มีเพียงสายพันธุ์ BA.5 เท่านั้น ที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% จึงต้องจับตาใกล้ชิดในสายพันธุ์ BA.5 มากกว่า
โดยขณะนี้พบใน 62 ประเทศ ซึ่งสถานการณ์ภาพรวมพบเพิ่มขึ้นอีกไม่นาน BA.5 จะเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดไปทั่วโลก ส่วน BA.4 พบใน 58 ประเทศ ส่วน BA 2.1.2.1 พบ 69 ประเทศ
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ในหลายประเทศ พบการเพิ่มจำนวนของ BA.5 เพิ่มขึ้น ส่วน BA.4 และ BA.2.1.2 มีแนวโน้มลดลง ส่วนอัตราการแพร่เร็วของสายพันธุ์ BA. 4 และ BA.5 ข้อมูลที่มีในปัจจุบัน พบชัดเจนว่าสายพันธุ์ดังกล่าวแพร่เร็วกว่าเดิม ประมาณ 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับ BA.2 เป็นการพบในห้องปฏิบัติการ โดยพบอีกว่า แอนติบอดีทำลายเชื้อ BA.4 และ BA.5 ได้น้อยลง ส่งผลทำให้ยารักษาบางชนิด ที่ต้องตอบสนองกับยาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยลงไปด้วย
สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ อาจจะติดเชื้อซ้ำสายพันธุ์ BA .4 และ BA.5 ได้ แต่หากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นก็จะทำให้ร่างกายมีภูมิสู้กับเชื้อได้ดี อย่าตื่นตระหนกและกังวลจนเกินไป เพราะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ข้อมูล ในสหรัฐอาณาจักร ที่ได้รายงานบนฐานข้อมูลกลาง พบว่า BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วกว่า BA.2 จริง เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกา
"ถ้าฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันในร่างกายสูงมากพอจะสู้ได้มากกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น เพราะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันมากพอ ช่วยลดความรุนแรงและอาการต่างๆ และมีมาตรการป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสม แม้จะมีการออกคำแนะนำว่าให้ใส่ตามสมัครใจ แต่การสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือเป็นความตระหนักรู้ของประชาชน ขอให้ถามตัวเองว่าหากเราอยู่คนเดียวไม่มีปัญหาอะไรอยู่ห่างไกลจากผู้คนก็ถอดได้ แต่ถ้าตอนไหนที่คิดว่ามีความจำเป็นไปพูดคุยกับคน ก็ใส่ไว้ป้องกันหลายโรคได้" นพ.ศุภกิจ กล่าว