สธ.เผยแนวโน้มสถานการณ์โควิดในไทยยังไม่ชัดเจน ส่วน กทม.พบผู้ป่วยเพิ่มกลังเปิดสถานบันเทิง พร้อมจับตาโอไมครอน BA.4-BA.5 หลังพบรายงานต่างประเทศว่า หลบภูมิเก่ง-ลงปอดง่ายขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่มีการคลายล็อกเปิดผับบาร์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้แนวโน้มการติดเชื้อของโควิด-19 ในภาพรวมของประเทศไทยนั้นยังไม่ชัดเจน
แต่ในพื้นที่ กทม.นั้น มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าในส่วนของ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และรพ.นพรัตนราชธานี มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นไปตามคาดการณ์ว่า เมื่อมีการผ่อนคลายก็จะติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในโรงเรียนด้วย เน้นย้ำความสำคัญของวัคซีนโควิด ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค คือฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนเข็มกระตุ้นในเด็กนักเรียนขอให้ติดตามประกาศจากกรมควบคุมโรคอีกครั้ง
“หากตรวจ ATK ด้วยตนเองที่บ้านแล้วพบว่าติดเชื้อ ขอให้ช่วยรายงานเข้าระบบด้วย ทั้งระบบการรักษาที่บ้าน (HI) หรือเจอแจกจบ (OPD) ที่จะมีแพทย์ติดตามใน 48 ชั่วโมงแรก เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลประเมินสถานการณ์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ส่วนสถานการณ์เตียงโควิด เฉพาะโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ใน กทม. ก่อนผ่อนคลายมาตรการ อัตราครองเตียงรวมกันไม่ถึงพันเตียง แต่ช่วงนี้เพิ่มขึ้นเป็นพันกว่าเตียงอัตราครองเตียงคิดเป็น 10% ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงเมื่อเทียบเฉพาะกับผู้ป่วยครองเตียง เช่น รพ.ราชวิถี ครองเตียง 30 ราย อาการรุนแรง 3 ราย คิดเป็น 10% ขณะที่เตียงโควิดยังว่างเยอะอยู่ เตียงไอซียูตอนนี้มีการครองเตียง 10-20%
ส่วนยารักษาโควิด-19 ในส่วนตอนนี้ยาแพล็กโลวิด และโมนูพิราเวียร์ ที่จ่ายให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยอาการสีเหลือง- แดง พบว่าประสิทธิภาพของยาได้ผลดี โดยยาทั้ง 2 มีประสิทธิภาพที่ไม่แตกต่างกัน ตอนนี้ยาทั้ง 2 ชนิดมีเพียงพอที่จะรองรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์การพบผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังและรายงานว่า เริ่มเจอผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้น ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวคาดว่าจะกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่หลบภูมิคุ้มกัน แต่ความรุนแรงยังไม่ชัดเจนว่า ทำให้ต้องเข้า รพ.มากขึ้นหรือไม่
โดยรายงานจากต่างประเทศที่นำเชื้อดังกล่าวไปทดลองในเซลล์ปอด พบว่าเชื้อลงปอดมากกว่า BA.1 และ BA.2 แต่ไม่ได้นำมาเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าที่เคยมีความรุนแรงที่สุด ขณะเดียวกันทวีปยุโรป พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นและเข้ารักษาในรพ.มากขึ้นพอสมควร
ทั้งนี้ การติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นได้แน่นอน แต่ระยะจะสั้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลจากกรมวิทย์อีกครั้ง แต่ในข้อมูลรายงานต่างประเทศที่ทดสอบกับเซลล์ปอดยืนยันได้ว่า BA.4 BA.5 ลงปอดมากกว่า BA.1 BA.2 ดังนั้น แนวโน้มว่าน่าจะรุนแรงกว่า
นอกจากนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึง มติ ศบค.ที่ให้ถอดหน้ากากอนามัยได้ในโล่งแจ้ง วันที่ 1 ก.ค. ว่า โควิดจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบของบุคคลมากขึ้น เป็นการประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง แต่คำแนะนำทางการแพทย์ยังอยากให้สวมหน้ากากอยู่ แต่ทางปฏิบัติหากเป็นการอยู่คนเดียว ในที่โล่งแจ้งก็ถอดได้ แต่หากอยู่ในสถานที่ปิด ใช้รถร่วมกับผู้อื่น อยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีคนมากๆ ก็ต้องสวมไว้
"ขอให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง ว่าหากอยู่ในสถานที่ปิด ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย แต่หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง เช่น การออกกำลังกาย เล่นกีฬา และมีคนไม่แออัดอาจจะไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย" นพ.สมศักดิ์ กล่าว