ครม.เคาะมาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน ตรึงราคาขายปลีก NGV แจกส่วน LPG สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อุดหนุนดีเซลเฉพาะส่วนที่เกิน 35 บาทต่อลิตร พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการส่งกำไรค่าการกลั่นบางส่วนเข้ากองทุนน้ำมัน 3 เดือน ลดภาระค่าน้ำมันดีเซล-เบนซินของประชาชนมีผล ก.ค.-ก.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้หลายคนต้องการทราบคือมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือประชาชน ภาคธุรกิจ จากสถานการณ์วิกฤติพลังงานที่ยังยืดเยื้อในขณะนี้จากสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรป เราคาดว่าจะส่งผลกระทบหนักหน่วงสะสมในหลายมิติ ราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา บางประเทศส่งออกเท่าที่จำเป็นทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลกขาดแคลน มาผลผูกพันหลายเรื่อง เงินเฟ้อสูงทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป เงินเฟ้อสูงถึง 8% ในรอบหลายสิบปี ทำให้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าราคาแพง เสี่ยงที่จะฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ชะงักลงในปัจจุบัน
รัฐบาลติดตามต่อเนื่อง กังวลใจไม่น้อยกว่าทุกท่าน ได้สั่งการให้ประชุมหารือกันตลอดเวลา เพื่อศึกษา เสริมสร้างแนวทางอันเป็นประโยชน์ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหา บรรเทาความเดือดร้อน
ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนและภาคธุรกิจเร่งด่วน ทั้งมาตรการใหม่และขยายมาตรการเดิม อาทิ
1.ตรึงราคาขายปลีก NGV ราคา 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน NGV ในโครงการเพื่อลมหายใจเดียวกันสำหรับแท็กซี่และปริมณฑลอยู่ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัมเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่ 16 มิ.ย.-15 ก.ย.2565
2.กำหนดกรอบราคาขายปลีก LPG ที่ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย. รวมเวลา 3 เดือน
3.ขยายเวลาส่วนลดราคา LPG สำหรับร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน และส่วนลดการซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาทต่อราย สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.
4.อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล 50% ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่าลิตรละ 35 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.
5.คงค่าการตลาดน้ำมันดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
6.ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันนำส่งกำไรจากค่าการกลั่นส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดภาระค่าน้ำมันดีเซลและเบนซินให้ประชาชน รวม 3 เดือนตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.
“เป็นเรื่องของการขอความร่วมมือ ก็ขอบคุณบรรดาสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการภาษีสำหรับบริษัท นิติบุคคล การจัดอบรม สัมมนา ในสถานที่ราชการ งานจัดแสดงสินค้าในประเทศ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวเศรษฐกิจในประเทศ เริ่มตั้งแต่ 15 ก.ค.ถึงสิ้นปี 2565 สามารถหักรายจ่าย ค่าห้อง ค่าเดินทาง หรือที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถหักได้ 1.5 เท่าสำหรับเมืองหลัก และหักได้ 2 เท่าสำหรับเมืองรอง รวมถึงค่าเช่าพื้นที่ ออกร้าน งานแสดงสินค้าหักรายจ่ายได้ 2 เท่า
นอกจากนั้นยังขอความร่วมมือช่วยกันประหยัดพลังงาน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน อุตสาหกรรม ขนส่ง และประชาชน ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งออกนโยบายที่เหมาะสมตามศักยภาพของตนเอง ไม่ว่าจะเรื่องปิดไฟที่ไม่ได้ใช้ ลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ส่งเสริมการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ประชุมออนไลน์ เป็นต้น
ส่วนการประมวลสถานการณ์ คาดว่าสถานการณ์คงไม่สิ้นสุดในระยะเวลาอันใกล้ จะมีการประชุมร่วมกันหารือ เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ตามสมมติฐาน หากยืดเยื้อแต่ละช่วงเวลาจะทำอะไรได้บ้าง ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณด้านการเงินการคลัง ซึ่งต้องเตรียมแผนความพร้อมตรงนี้ด้วย ทั้งมิติพลังาน อาหาร หลายอย่างมีผลกระทบทั้งสิ้น
“รัฐบาลยืนยันว่าจะหาทางช่วยประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการ บนพื้นฐานที่วินัยการเงินการคลังที่มีความสมดุล ที่ต้องไม่ก่อเกิดภาระในอนาคตมากเกินไป ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย เราได้ลดภาษี รายได้เราก็ลดลงอยู่แล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องใช้งบอย่างคุ้มค่าด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว