‘ก้าวไกล’ รอดยุบพรรค หลัง กกต.ยุติสอบ 10 เรื่องกล่าวหา ตามคำร้องของ ‘ณฐพร โตประยูร’ ชี้ ส.ส.ประกันตัวแกนนำม็อบ-ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน รวมถึงเสนอแก้ ม.112 ไม่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2565 พรรคก้าวไกล - Move Forward Party โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเห็นชอบตามที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีความเห็นให้ยุติเรื่องที่ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคกระทำการใน 10 ประเด็น
พรรคก้าวไกล ระบุด้วยว่า หลังการตรวจสอบ กกต.เห็นว่าการกระทำทั้ง 10 ประเด็น ยังไม่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92(2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
ทั้งนี้ยังระบุด้วยว่า กกต.ได้ชี้แจงเหตุผลที่ตีตก 10 ประเด็นที่ถูกยกมาร้องเรียน มีใจความสำคัญ ดังนี้
การใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส. ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองและคดีอาญา มาตรา 112 เป็นสิทธิเฉพาะตัวของบุคคล ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมีผลผูกพันพรรคก้าวไกล
ส.ส. เข้าร่วมชุมนุมและเข้าพื้นที่การชุมนุม เป็นการใช้สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานว่า ส.ส. ให้การสนับสนุนผู้ชุมนุมไม่ว่าทางการเงิน การเป็นแกนนำปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมชุมนุม หรือสนับสนุนอื่นใดให้ผู้ชุมนุมก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี
การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 และเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประชาชน หรือฉบับไอลอว์ เป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการกระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อยู่ในบทบัญญัติในมาตรา 255 และ 256
แถลงการณ์สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ไม่ปรากฏถ้อยคำใดที่มีลักษณะสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมก่อกวนคุกคามความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งการแสดงความคิดเห็นได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34
พรรคก้าวไกลมีมติให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และแสดงความเห็นว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม เป็นเพียงการแสดงความเห็นในการทำหน้าที่ของ ส.ส.ที่เห็นว่ากฎหมายใดเป็นอุปสรรคหรือไม่เป็นประชาธิปไตย และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าพรรคใช้กลไกระบบรัฐสภาเพื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา