มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยงานวิจัยการแพร่เชื้อโควิดจากแมวสู่คนเป็นกรณีแรกของโลก เหตุเกิด ส.ค.64 สัตวแพทย์ถูกแมวจามใส่ ไร้เครื่องป้องกัน อาการไม่หนัก ปลอดภัยทั้งแมว-คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2565 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แถลงชี้แจงกรณีสำนักข่าวต่างประเทศ The New York Times เผยแพร่ผลงานวิจัยของประเทศไทยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 ผ่านวารสาร Emerging Infectious Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) โดยระบุว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่า เป็นการติดจากแมวสู่คนเป็นครั้งแรกของโลกนั้น
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ป่วยโควิด-19 เป็นพ่อลูกชาว กทม. อายุ 64 ปี และ 32 ปี แต่เตียงมีไม่พอที่รักษา จึงประสานที่จะเดินทางมารักษายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องจากมีญาติอยู่ที่หาดใหญ่ด้วย และเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวกันมา 2 คน พ่อลูก พร้อมกับแมวที่เลี้ยงเอาไว้ด้วย 1 ตัว เป็นแมวไทย สีส้ม อายุ 10 ปี
จากนั้นในวันที่ 8 ส.ค.2564 ได้นำตัวผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาในหอผู้ป่วยโควิด-19 ของ ม.อ. ส่วนแมวนั้นได้มีการส่งไปให้ทางสัตวแพทย์ของโรงพยาบาลสัตว์ ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
ปรากฏว่าในระหว่างทำการตรวจอยู่นั้น แมวได้เกิดจามออกมาในช่วงที่กำลังเก็บสิ่งส่งตรวจ และโดนสัตวแพทย์หญิงท่านหนึ่งอายุ 32 ปี ซึ่งในขณะนั้นสวมเครื่องป้องกันแค่ถุงมือ และหน้ากากอนามัย ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันดวงตาแต่อย่างใด
ซึ่งหลังจากนั้นผลตรวจของแมวพบว่า เป็นบวกมีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ส่วนสัตวแพทย์หลังจากตรวจแมวได้ 3 วัน ในวันที่ 13 ส.ค.2564 เริ่มมีอาการไข้ ไอ และน้ำมูก และในวันที่ 15 ส.ค.2564 ก็ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเข้าสู่กระบวนการรักษา
โดยทั้งหมด ทั้งคู่พ่อลูก แมว และสัตวแพทย์อาการไม่หนักมาก และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้หลังรักษาตัวอยู่เกือบ 10 วันประมาณปลายเดือน ส.ค.2564 และจากการติดตามทั้งคนและแมวปลอดภัย แข็งแรงดี ไม่มีอาการข้างเคียง หรือโรคแทรกซ้อนแต่อย่างใด
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวอีกว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นได้มีตั้งสมมติฐานว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร เนื่องจากมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยพบความเชื่อมโยงอยู่ 2 อย่าง คือ ระยะการฟักตัวของโรค โดยในคนเชื่อจะอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ในสัตว์ประมาณ 5 วัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กันตามช่วงเวลา
และอีกส่วนคือการตรวจลำดับเบส และรหัสพันธุกรรม จากทั้งคู่พ่อลูกเจ้าของแมว แมวและสัตว์แพทย์ พบว่าตรงกัน
นอกจากนี้ยังมีการตรวจเทียบเคียงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์ใหญ่ๆ หลายจุดใน จ.สงขลา เนื่องจากอาจเป็นไปได้ว่า แมวอาจรับเชื้อมาจากชุมชนหรือแหล่งอื่นหรือไม่แต่พบว่าไม่ตรงกัน
จึงได้ข้อสรุปว่า แมวนั้นติดเชื้อโควิด-19 มาจากเจ้าของที่คลุกคลีกันมาตลอด และเจ้าของเองก็ไม่ทราบว่าแมวนั้นติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว ก่อนที่จะแพร่เชื้อไปยังสัตวแพทย์ที่ทำกาตรวจ เนื่องจากแมวได้จามออกมาใส่โดยตรง ซึ่งสัตวแพทย์ไม่ได้สวมเครื่องป้องกันทั้ง face shield และเครื่องป้องกันดวงตา จึงรับเชื้อเข้าไปเต็มที่ ส่วนทีมงานอีก 2 คน นั้นปลอดภัย เนื่องจากไม่ได้อยู่ใกล้
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยการแพร่เชื้อโควิด-19 จากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงในต่างประเทศมาบ้างแล้ว แต่การแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงคือแมวไปสู่คนนั้น น่าจะเป็นกรณีแรกที่มีการนำเสนอออกมาเป็นผลงานวิจัย
ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะสำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว หากสงสัยว่าตนเองอาจะตกเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือคาดว่าได้รับเชื้อโควิด-19 ให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงไปก่อนประมาณ 7-8 วัน เพื่อความปลอดภัย เพราะสัตว์เลี้ยงเมื่อได้รับเชื้อโควิด 19 ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆ และเชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่น้อยกว่าคนประมาณ 5 วันและหายไปเองได้
อย่างไรก็ตามการที่สัตว์เลี้ยงจะแพร่เชื้อไปสู่คนนั้นยากมากหรือน้อยมากเช่นเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่จะมาจากการไอ จาม น้ำมูก และอุจจาระ ซึ่งสิ่งเหล่านี้น้อยมากที่คนจะได้สัมผัส และเมื่อสัมผัสส่วนใหญ่ก็ล้างทำความสะอาดกันในทันทีอยู่แล้วด้วย
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวด้วยว่า งานวิจัยดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง แต่ยังถือว่าพบได้น้อยมาก แค่ขอให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและอย่าใช้เรื่องเหล่านี้เป็นข้ออ้างในการไม่ดูแลสัตว์เลี้ยง หรือเอาสัตว์เลี้ยงไปปล่อย เพราะความเข้าใจผิดๆ
ส่วนการจะมีหรือผลิตวัคซีนเพื่อใช้สำหรับป้องกันโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยงหรือไม่นั้น ทางทีมวิจัยไม่ได้มีข้อมูลในส่วนนี้ แต่หากพบการระบาดในสัตว์เลี้ยงเป็นวงกว้าง ทางภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็อาจจะเป็นผู้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป