'สถานทูตแคนาดา' ทำหนังสือขอพบ 'วิษณุ เครืองาม' จี้หารือตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศ,กระทรวงพาณิชย์,กระทรวงยุติธรรม หลังพบเอกชนไทยหลายแห่งทำสัญญาถุงมือยางกับบริษัทต่างชาติกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท รับเงินแล้ว 2.8 พันล้าน แต่ส่งของจริงแค่ 17 ล้านบาท-เจ้าตัวแจงส่งเรื่องไปสำนักปลัดฯ เพราะมี กก.รับผิดชอบ แต่ว่ายุบ กก.ไปแล้ว
สืบเนื่องจากที่ปรากฏเป็นข่าวบนเว็บไซต์สำนักข่าว ProPublica ว่าประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงถุงมือยางไนไตรล์ โดยนายนายบยอร์น เชย์ (Bjorn Chay) ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวดังกล่าวว่าตัวเขานั้นได้มีการโอนเงินไปยังบัญชีบริษัทหลายแห่งในประเทศไทยและประเทศเวียดนามจำนวนเงินกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (105,270,000 บาท)
อย่างไรก็ตาม เมื่อนายเชย์ได้เดินทางมาตรวจโรงงานในประเทศไทยซึ่งเป็นสถานที่ผลิตถุงมือยางส่งออก ปรากฎว่าสถานที่ดังกล่าวนั้นกลับเป็นแค่ตึกเปล่า ๆ เท่านั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนาม ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถานทูตแคนาดา ได้ทำหนังสือถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอหารือความช่วยเหลือเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อหรือว่าพีพีอี
รายละเอียดในหนังสือระบุว่า "สถานทูตแคนาดามีความชื่นชมเป็นอย่างยิ่งต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ขอความช่วยเหลือจากนายวิษณุ
ในฐานะที่เป็นตัวแทนของสถานทูตแคนาดา,สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และเยอรมนี สถานทูตจึงมีความต้องการเป็นอย่างยิ่งในการที่หารือไม่ว่าจะเป็นการหารือทางไกลแบบเสมือนจริง (เวอร์ชวล) หรือว่าหารือโดยตรงกับตัวแทนของกระทรวงยุติธรรม,กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ไทย ในประเด็นเรื่องข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงผลิตภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อหรือว่าพีพีอี
โดยกรณีดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับบริษัทจำนวนมากที่ตั้งอยู่ในประเทศของเรา และเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ถูกจดทะเบียนในประเทศไทย "
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า นอกจากการส่งหนังสือฉบับดังกล่าวไปถึงนายวิษณุแล้ว ยังมีการส่งหนังสือไปให้กับกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้เพื่อให้รับทราบข้อมูลอีกทางหนึ่งด้วย
ขณะที่ในส่วนของหนังสือยังได้แนบตารางรายละเอียดระบุข้อมูลบริษัทต่างประเทศที่มีการสั่งซื้อถุงมือยางจากประเทศไทย บริษัทซัพพลายเออร์ในประเทศไทยจำนวนมากกว่า 20 แห่ง สถานะการดำเนินคดีกับบริษัทซัพพลายเออร์ในประเทศไทยเหล่านี้ เนื่องมาจากว่าไม่มีการส่งถุงมือยางให้ตามสัญญาที่ทำไว้ ซึ่งบริษัทซัพพลายเออร์บางแห่งเป็นบริษัทที่เคยปรากฏชื่ออยู่ในข่าวคดีฉ้อโกงถุงมือยางก่อนหน้านี้ด้วย
โดยรายละเอียดท้ายตารางระบุว่า บริษัทเอกชนต่างประเทศ มีการทำสัญญาจัดซื้อกับบริษัทในประเทศไทยดังกล่าวนี้คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 746.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (26,376,480,900 บาท) มีการจ่ายเงินไปแล้วจริงๆคิดเป็นมูลค่า 79.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,802,779,200 บาท) แต่ปรากฎว่ามีการส่งถุงมือยางมาให้คิดเป็นมูลค่าแค่ประมาณ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (17,672,000 บาท) เท่านั้น ซึ่ง ณ ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานั้น มีการคิดค่าดอกเบี้ยจากการที่บริษัททั้งหมดเหล่านี้ได้ผิดสัญญาคิดเป็นมูลค่ากว่า 58.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,078,227,200 บาท)
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าในช่วงบ่ายของวันที่ 21 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้สอบถามนายวิษณุเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยเมื่อสอบถามถึงการที่สถานทูตแคนาดาขอเข้าพบ นายวิษณุกล่าวว่า จำไม่ได้ เพราะว่าที่ผ่านมาก็มีคนมาขอเข้าพบในหลายเรื่องมาก ดังนั้นจึงจำรายละเอียดไม่ได้จริงๆ
แล้วนายวิษณุจึงถามผู้สื่อข่าวกลับว่าเขามาพบเรื่องอะไร
เมื่อผู้สื่อข่าวตอบว่าเรื่องถุงมือยาง นายวิษณุจึงกล่าวว่าก็มีการขอเข้ามาพบเรื่องถุงมือยางอยู่ ซึ่งตนได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เพราะเขามีกรรมการที่รับผิดชอบชุดนี้อยู่ แต่กรรมการชุดดังกล่าวนั้นก็ได้ยุบไปแล้ว ถ้าหากมีเรื่องอะไรให้ไปถามทางปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดีกว่า