นายเชย์กล่าวต่อ พร้อมกับเปิดโปงข้อมูลเอกสารแสดงให้เห็นว่าเขามีการโอนเงินไปยังบัญชีบริษัทหลายแห่งในประเทศไทยและประเทศเวียดนามจำนวนเงินกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (105,270,000 บาท) ซึ่ง ณ ตอนนี้บัญชีที่เกี่ยวข้องจำนวนหลายบัญชีก็ได้ถูกระงับไปแล้ว .....หลังจากที่ได้รอมาประมาณหนึ่งปี เขาก็เลยบินไปยังประเทศไทย เพื่อจะไปยังโรงงานที่ควรจะผลิตถุงมือยางส่งให้กับเขา “แต่เมื่อผมไปถึง เดาสิว่าเกิดอะไรขึ้น มันไม่มีอะไรเลย มันเป็นแค่ตึกเปล่าๆเท่านั้น” นายเชย์กล่าว
ประเด็นเรื่องปัญหาการฉ้อโกงถุงมือยางของประเทศไทย ทั้งการส่งออกถุงมือยางที่ไม่ได้คุณภาพไปต่างประเทศ หรือการไม่ยอมส่งของไปต่างประเทศ ทั้งๆที่บริษัทผู้ซื้อจากต่างประเทศนั้นได้จ่ายเงินซื้อถุงมือยางจากบริษัทในไทยเป็นจำนวนเงินมหาศาล
เรื่องเหล่านี้ถือว่าเป็นปัญหาที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และดูเหมือนว่าจะยังไม่เห็นทางออกว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ที่ต้นเหตุได้อย่างไรบ้าง
ล่าสุดสำนักข่าว Propublica ซึ่งเป็นสำนักข่าวเชิงสืบสวนไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐอเมริกา ได้ลงบทความเกี่ยวกับประเด็นการฉ้อโกงถุงมือยางในหลายประเทศและโยงมาถึงประเทศไทย ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)ได้เอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยมีรายละเอียดดังนี้
นายทิม มอร์แกน นั้นถือว่าเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจที่เกี่ยวข้องอยู่บ้าง ก่อนจะเข้ามาอยู่ในตลาดการซื้อขายชุดพีพีอีหรือชุดป้องกันการติดเชื้อในช่วงต้นของการระบาดของไวรัสโควิด-19 เขาเคยมีประสบการณ์การสอนภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น รวมไปถึงประสบการณ์การเดินทางไปทั่วประเทศเอเชียเพื่อจะหาโรงงานในการผลิตนาฬิกาไนกี้และแว่นกันแดดสำหรับยี่ห้อ Sunglass Hut และก่อนในช่วงปี 2543 เขาก็ก่อตั้งบริษัททำธุรกิจนำเข้าผลิตภัณฑ์แห่งหนึ่งในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอคลาโฮมา ที่ชื่อว่าบริษัท International Sourcing Group
นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ 20 ปีหลังจากนั้นเขาได้รับคำขอมากมายจากทั้งโรงพยาบาลและบริษัทหลายแห่งให้ดำเนินการจัดหาถุงมือไนไตรล์ในราคาที่ถูกแต่ว่ากลายเป็นสินค้าที่ค่อนข้างหาได้ยาก แม้ว่าตัวนายมอร์แกนจะไม่อยากเอาบริษัทของเขาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดหาชุดพีพีอีก็ตาม เพราะเขาทราบดีว่าในตลาดนี้นั้นมีเรื่องของความสับสนและการฉ้อโกงกันอยู่ค่อนข้างมาก
“ความต้องการถุงมือยางนั้นพุ่งสูงมากรวมกับว่าจะระเบิดออกมา เพราะว่าภาคธุรกิจต่างๆนั้นพยายามที่จะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งหนึ่ง ทำให้บริษัทต่างๆต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะทำให้คนงานของตัวเองปลอดภัย” นายมอร์แกนกล่าว
สองปีให้หลัง หรือก็คือ ณ เวลานี้ นายมอร์แกนได้กลายเป็นผู้นำกลุ่มนักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งรวมกลุ่มกันด้วยจุดประสงค์ว่าพวกเขาต้องการทวงคืนเงินค่าเสียหายคิดเป็นประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3,505,500,000 บาท) ซึ่งความเสียหายดังกล่าวนั้นเกิดจากการหลอกลวงของนักต้มตุ๋น ที่แสวงหาผลประโยชน์จากความต้องการของสหรัฐฯ ที่ต้องการชุดพีพีอีพุ่งสูงขึ้นมาก
โดยกลุ่มของนายมอร์แกนนั้นมีชื่อว่า PPE Fraud Coalition หรือก็คือแนวร่วมของผู้ที่ถูกฉ้อโกงชุดพีพีอี โดยสมาชิกแนวร่วมดังกล่าวได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าภาวะโรคระบาดดังกล่าวนี้เปิดโปงจุดอื่นในระบบการค้าระหว่างประเทศ และทำให้ผู้นำเข้าหลายรายที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือนั้นได้รับความเสียหายและประสบกับความโกลาหลเป็นอย่างยิ่ง
หน้าเว็บไซต์กลุ่ม PPE Fraud Coalition หรือก็คือแนวร่วมของผู้ที่ถูกฉ้อโกงชุดพีพีอี ซึ่งให้ผู้เสียหายเข้าไปลงชื่อว่าถูกฉ้อโกงได้
“เรื่องแบบนี้นั้นถือว่าส่งผลกระทบต่อนักธุรกิจของชาวอเมริกันเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่เชื่อว่าตัวเองนั้นปลอดภัยในการที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนาม และตัวผมเองก็คิดว่ามันน่าจะปลอดภัยในการทำธุรกิจในประเทศจีน แต่ว่านับตั้งแต่มีการระบาดขึ้นมา ข้อบกพร่องทั้งหมดในระบบนั้นก็ได้ถูกเปิดโปงออกมา” นายมอร์แกนกล่าว
สำหรับเรื่องของนายมอร์แกนนั้นเริ่มต้นมาจากชาวอเมริกันที่เขารู้จักในประเทศเวียดนาม ซึ่งชาวอเมริกันคนนี้นั้นได้พาเขาให้ไปรู้จักกับโรงงานถุงมือยางที่ดูน่าเชื่อถือแห่งหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลาปกติแล้ว นายมอร์แกนจะต้องบินไปดูโรงงานด้วยตัวเอง หรือไม่ก็จ้างบุคคลที่สามเพื่อทำหน้าที่ตรวจตราโรงงานนี้ แต่ว่าด้วยภาวะล็อกดาวน์และการจำกัดการเดินทาง ทำให้เขาไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ นายมอร์แกนจึงได้ดำเนินการทำข้อตกลงผ่านทางโทรศัพท์และผ่านทางการวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์แทน
โดยข้อมูลจากบันทึกในธนาคารนั้นแสดงให้เห็นว่าบริษัท International Sourcing Group ของนายมอร์แกนได้ดำเนินการโอนเงินกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (52,592,250 บาท) ในช่วงเดือน ก.ค. 2563 ไปยัง บัญชีแห่งหนึ่งในนครโฮจิมมินห์ เพื่อให้มีการจัดส่งถุงมือยางจำนวน 9 ตู้คอนเทนเนอร์ และยังมีการโอนเงินไปยังบริษัทต่างชาติอื่นๆอีกสองแห่งคิดเป็นจำนวน 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (49,087,500 บาท) และ 1.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (57,853,125 บาท) ตามลำดับ
“ผมส่งเงิน ที่เป็นเงินของคนอื่นไปรวมแล้วกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (245,437,500 บาท) ไปทั่วเอเชีย ในช่วงเวลาสั้นๆ คือเราต้องมีความเชื่อมั่นในกระบวนการ และหวังว่าทุกอย่างจะสามารถดำเนินไปได้โดยเร็ว แต่ปรากฎว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น” นายมอร์แกนกล่าว และกล่าวต่อว่าเขาได้พยายามจะติดต่อผ่านบริษัทผู้ขายทั้งในเวียดนามและในจีนที่เกี่ยวข้องกัน ก็ปรากฏว่าบริษัทที่จีนนั้นมีการส่งถุงมือมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก่อนที่จะหายตัวไป เช่นเดียวกับบริษัทที่เวียดนามที่เขาเคยติดต่อก่อนหน้านี้
ในเวลาต่อมาเขาก็ได้ยินเรื่องราวที่มาจากนักธุรกิจคนอื่นๆที่ประสบกับเหตุการณ์คล้ายๆกัน โดยนักธุรกิจเหล่านี้นั้นต้องประสบความสูญเสียเป็นจำนวนนับล้านดอลลาร์ในเอเชีย จากการสั่งซื้อถุงมือยาง และลูกค้าของพวกเขาก็เรียกร้องคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับการสั่งซื้อของเขา ซึ่งนี่ทำให้หลายบริษัทมีความรู้สึกที่คล้ายคลึงกันก็คือว่าไม่มีใครที่จะฟังปัญหาของพวกเขาเลย ดังนั้นพวกเขาจึงได้มีการรวมกลุ่มกันขึ้นมา และในที่สุดการรวมกลุ่มดังกล่าว ก็ทำให้ทางฝ่ายนิติบัญญัติและกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆในสหรัฐฯเริ่มที่จะให้ความสนใจกับปัญหาเรื่องกรณีฉ้อโกงนี้
ในที่สุดเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ก็มีการจัดตั้งกลุ่ม PPE Fraud Coalition ขึ้นมา ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยนักธุรกิจที่ถูกหลอกจากข้อตกลง ซึ่งมีการทำขึ้นทั้งในประเทศไทย,ประเทศเกาหลีใต้,ประเทศฟิลิปปินส์,ประเทศจีน,ประเทศเวียดนาม และประเทศรัสเซีย
สำหรับกรณีประเทศไทยนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า มีนักธุรกิจอเมริกันคนหนึ่งที่ชื่อว่านายบยอร์น เชย์ (Bjorn Chay) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจอาหารเสริมอยู่ในเมืองกรีนวิลล์ รัฐเซาท์แคโรไลนา โดยบริษัทของเขานั้นได้สร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ในเอเชียเป็นเวลานับสิบปีแล้ว เพื่อที่จะดำเนินงานในด้านการค้าระหว่างประเทศ แต่ว่านั่นก็ไม่ได้ช่วยให้เขาพ้นจากการเป็นเหยื่อของการหลอกลวงแต่อย่างใด
นายเชย์กล่าวต่อ พร้อมกับเปิดโปงข้อมูลเอกสารแสดงให้เห็นว่าเขามีการโอนเงินไปยังบัญชีบริษัทหลายแห่งในประเทศไทยและประเทศเวียดนามจำนวนเงินกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (105,270,000 บาท) ซึ่ง ณ ตอนนี้บัญชีที่เกี่ยวข้องจำนวนหลายบัญชีก็ได้ถูกระงับไปแล้ว
นายเชย์อ้างว่าหลังจากที่ได้รอมาประมาณหนึ่งปี เขาก็เลยบินไปยังประเทศไทย เพื่อจะไปยังโรงงานที่ควรจะผลิตถุงมือยางส่งให้กับเขา “แต่เมื่อผมไปถึง เดาสิว่าเกิดอะไรขึ้น มันไม่มีอะไรเลย มันเป็นแค่ตึกเปล่าๆเท่านั้น” นายเชย์กล่าว
นายบยอร์น เชย์ (มุมขวาบน) ผู้บริหารบริษัท Natural Solutions ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาการฉ้อโกงถุงมือยาง (อ้างอิงรูปภาพจาก ISSA Media)
ขณะที่นายวิลเลียม ไรน์ช ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศที่ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวยอมรับว่านักธุรกิจนั้นควรจะมีการดำเนินงานตรวจสอบและตรวจทานให้มากกว่านี้ และกล่าวต่อไปว่าถ้าหากสหรัฐฯ มีกฎระเบียบการค้าที่เข้มแข็ง และถ้าหากนี่เป็นการดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีหลักนิติธรรม ก็คงจะต้องมีการไล่เบี้ยกันมากกว่านี้
นายไรน์ชกล่าวต่อไปว่าโควิด-19 นั้นทำให้เกิดกรณีการฉ้อโกงระหว่างประเทศในลักษณะแบบนี้ขึ้น และการฉ้อโกงที่ว่านี้ก็น่าจะดำเนินอยู่ต่อไปแม้ว่าโรคระบาดจะอยู่ในขาลงแล้วก็ตาม แต่ว่านักต้มตุ๋นก็ยังจะสามารถหาโอกาสได้อย่างมากสำหรับการฉ้อโกงในสหรัฐฯที่มีความต้องการสูง
“ไม่ควรจะมีประเทศใดมีสิทธิผูกขาดในอาชญากรรม” นายไรน์ชกล่าวทิ้งท้าย
เรียบเรียงจาก:https://www.propublica.org/article/ppe-covid-scams-fraud-nitrile-gloves
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าจากรายงานดังกล่าวนั้น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้ส่งอีเมลไปสอบถามข้อมูลจากนายบยอร์น เชย์ และแนวร่วม PPE Fraud Coalition เพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้รับการติดต่อกลับมา