‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษายกฟ้องคดี ‘สมาคมโรงพยาบาลเอกชน-พวก’ ขอเพิกถอนประกาศ ‘กกร.’ กรณีประกาศให้ ‘ยา-เวชภัณฑ์-ค่ารักษาพยาบาล-บริการทางการแพทย์’ เป็นสินค้าควบคุม
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลเอกชน รวม 42 คน ยื่นฟ้องขอเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่กำหนดให้ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดให้บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นบริการควบคุม
เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 22 ม.ค.2562 และข้อ 3 (13) (14) และ (50) ของประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 53 พ.ศ.2562 เรื่อง กำหนดการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 3 ก.ค.2562 ที่กำหนดให้ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค รวมถึงบริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นสินค้าและบริการควบคุม นั้น
เป็นการออกประกาศฯที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการออกประกาศฯ ของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม เป็นไปตามอำนาจที่กำหนดไว้ใน มาตรา 9 (1) และมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 42 อ้างว่า ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้ฟ้องคดี ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรองรับไว้ และยังใช้บังคับกับโรงพยาบาลเอกชนแต่ไม่ได้บังคับกับโรงพยาบาลของรัฐ ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม นั้น ศาลฯ เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีที่ 2-42 (โรงพยาบาลเอกชน) จะมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพสถานพยาบาลตามบทบัญญัติมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ตาม
แต่บทบัญญัติมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว ก็มีข้อยกเว้นว่า การจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพสามารถกระทำได้ โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบกับสิทธิของประชาชน ซึ่งเป็นผู้บริโภคและจำเป็นต้องไปรับบริการจากสถานพยาบาล ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเช่นเดียวกัน โดยถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญฯ
สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 42 อ้างว่า ประกาศพิพาทดังกล่าว บังคับกับโรงพยาบาลเอกชนแต่ไม่ได้บังคับกับโรงพยาบาลของรัฐ ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม นั้น ศาลฯเห็นว่า เมื่อมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 บัญญัติมิให้ใช้บังคับแก่ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือกิจการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ดังนั้น ประกาศพิพาทดังกล่าว จึงไม่มีผลบังคับใช้กับโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ในสังกัดราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือกิจการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง กรณีเช่นนี้ ไม่อาจถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ศาลฯยังวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกร.) ออกประกาศพิพาทเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยศาลฯเห็นว่า จากข้อเท็จจริงในคดีและสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การประกอบกิจการโรงพยาบาลของเอกชนมีการลงทุนและมีการแข่งขันในเชิงธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งโรงพยาบาลของเอกชนบางแห่งยังมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนและเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ อันมีผลให้การประกอบกิจการจะต้องคำนึงถึงผลกำไรของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญด้วย
ประกอบกับเมื่อมีประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนว่า มีราคาสูงเกินสมควร และกรมการค้าภายในได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายครั้ง ปรากฏว่าไม่มีหน่วยงานของรัฐใดสามารถข้าไปกำกับดูแลและควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมได้
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กกร.) ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 และมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562 เรื่อง การกำหนดราคาสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 22 ม.ค.2562 โดยข้อ 3 (13) (14) และ (50) กำหนดให้ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรครวมทั้งบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นสินค้าและบริการควบคุม จึงถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่มีเหตุผลรับฟังได้
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (สมาคมโรงพยาบาลเอกชนและพวกรวม 42 คน) ฟ้องว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชน (ผู้ฟ้องคดีที่ 1) มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมีสมาชิกเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ประกอบกิจการโรงพยาบาล ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่อธิบดีกรมการค้าภายใน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ได้มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีที่ 1 ขอความร่วมมือประสานโรงพยาบาลเอกชนให้จัดส่งข้อมูลราคาซื้อและราคาขายยาและเวชภัณฑ์ไปยังสำนักงาน กกร.
ขณะที่ประกาศของ กกร. ดังกล่าว มีผลให้ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของ “สถานพยาบาล” ต้องกลายเป็นสินค้าควบคุม ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดต้องถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ และสร้างภาระมากเกินควร และผู้ฟ้องคดีทั้ง 42 คน เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่มีอำนาจในการออกกฎพิพาทดังกล่าว จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล