‘ชัชชาติ’ ชง สภากทม. เคาะงบปี 66 วงเงิน 7.9 หมื่นล้าน 20 มิ.ย.นี้ ส่วนนโยบายที่หาเสียงไว้จะนำมาเพิ่มเติมในการแปรญัตติก่อนโหวตวาระ 2-3 ด้านการหารายได้ จ่อเก็บภาษีที่ดินเต็มขั้น คาดโกยรายได้ 1.2 หมื่นล้าน หลังผ่อนผันเก็บ 10% มานานปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราขการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารกทม.รายงานการจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ซึ่งได้จัดทำร่างเบื้องต้นเสร็จเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 โดยวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 79,000 ล้านบาท มีกำหนดส่งให้สภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นไปตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง วิธีการงบประมาณ 2529 และจะเริ่มปีงบประมาณในเดือนตุลาคม 2565 นี้ตามลำดับ
ทั้งนี้ โครงการที่อยู่ใน 214 นโยบายที่ได้หาเสียงไว้ จะยังไม่สามารถบรรจุลงไปในร่างข้อบัญญัติงบประมาณปีนี้ได้ เพราะต้องบรรจุในแผนราชการของ กทม.ก่อน คาดว่า ทางออกคือ การให้ข้อบัญญัติฉบับนี้ผ่านวาระแรกในสภากทม.ไปก่อน แล้วค่อยไปเพิ่มเติมในวาระ 2-3 ต่อไป อีกทั้ง กทม.มีงบผูกพันธ์จำนวนมาก ในปี 2565 มีถึง 126 โครงการ วงเงิน 98,710 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 ตั้งงบผูกพันธ์ไว้ 14,722 ล้านบาท ซึ่งไปทำอะไรไม่ได่ และในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 24,854 ล้านบาท ขณะที่งบลงทุนใหม่ในปี 2566 มีเพียง 1,695 ล้านบาท ประมาณ 2% ของงบประมาณทั้งหมด
“การปรับนโยบายและผลักดัีนจะมี 2 รูปแบบ คือ 1. ดูว่ามีในแผนปฏิบัติการที่ทำไว้ก่อนหน้านี้แล้วหรือบยัง และ 2. หากไม่มีจะเอาบรรจุในแผนปฏิบัติราชการและดำเนินการในวาระ 2-3 ต่อไป แต่งบปีนี้ เขา (ข้าราชการ กทม.) ทำกันเกือบเสร็จหมดแล้ว เราเข้ามาก็เหลือร่างข้อบัญญัติงบประมาณฯ แค่ 10 กว่าวัน และมีขั้นตอนเพิ่มเติม อย่างที่บอกไปคือ ต้องเอาแผนไปบรรจุในแผนปฏิบัติราชการก่อน แล้วให้ ส.ก. พิจารณา ซึ่งเราทำไม่ทัน ก็ไปลุ้นในการแปรญัตติวาระ 2-3 ต่อไป” นายชัชชาติกล่าว
ส่วนโครงการหรือแผนงานต่างๆ ตอนนี้ กทม. ยังมีเงินสะสมจ่ายขาดที่ ส.ก. อนุมัติใช้จ่ายของปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 7,500 ล้านบาท เพิ่งใช้ไปได้ไม่เท่าไหร่ ก็จะนำงบก้อนนี้มาผลักดันโครงการที่เหลือในปี 2565 และสอดคล้องกับนโยบายของเรา
ผู้สื่อถามถึงการแก้ปัญหางานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ที่มีปัญหาความล่าช้าจากสัญญาที่ยกเว้นให้ในช่วงโควิดระบาด นายชัชชาติตอบว่า จะทำเรื่องเสนอรัฐบาลถึงมาตรการต่างๆที่มีว่าสามารถผ่อนปรน หรือยกเลิกได้ไหม ขอสรุปอีกที แต่ในเบื้องต้น จะต้องเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติตามสัญญา ถ้าช้าต้องปรับ แต่หากได้เงื่อนไขจากรัฐบาลมา ก็ทำอะไรไม่ได้
ขณะที่การจัดเก็บภาษี ก็มีประเด็นที่น่ากังวล เพราะภาษีหลักของ กทม. คือ ภาษีที่ดินละสิ่งปลูกสร้าง ที่ผ่านมารัฐบาลให้เก็บ 10% แต่ปีนี้ จะเป็นปีแรกที่พ้นมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล และน่าจะเริ่มจัดเก็บเต็มที่ โดยตั้งเป้าจะเก็บภาษีส่วนนี้ที่ 12,000 ล้านบาทเชื่อว่า จะจัดเก็บได้ภายในปีงบประมาณนี้ (ตุลาคม 2565) แม้จะมีบางส่วนที่ผ่อนจ่ายภาษี 1-3 เดือนก็ตาม