สภาผู้แทนราษฎร มีมติ 178 ต่อ 137 เสียง รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... หรือที่รู้จักกันในชื่อ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล พร้อมตั้ง กมธ.วิสามัญ 25 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน
เมื่อเวลา 17.30 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... หรือที่รู้จักกันในชื่อ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และคณะ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ส่งไปให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนรับหลักการ และได้ส่งคืนสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาแล้ว
สำหรับสาระสำคัญเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะเป็นการเปิดช่องให้ประชาชนทั่วไป ผลิตสุราเพื่อการบริโภคไม่ต้องขออนุญาต และไม่มีความผิด ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาต ไม่กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องกำลังการผลิต กำลังแรงม้า จำนวนพนักงานในการขออนุญาตผลิตสุรา เพื่อเปิดทางให้มีผู้ประกอบการรายย่อย
ต่อมาเมื่อเวลา 20.20 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาลงมติ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... หรือที่รู้จักกันในชื่อ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า โดยที่ประชุมมีมติ 178 ต่อ 137 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง รับหลักการในวาระที่ 1
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบในการรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว มี ส.ส.จำนวนหนึ่งปรบมือ โห่ร้องด้วยความดีใจ ทำให้นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาคนที่หนึ่งต้องห้ามปรามว่า อย่าเพิ่งปรบมือ
โดยที่ประชุมเห็นชอบตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 25 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน พรรคการเมือง 20 คน ประกอบด้วย เพื่อไทย 6 คน พลังประชารัฐ 4 คน ภูมิใจไทย 3 คน ประชาธิปัตย์ 2 คน ก้าวไกล 2 คน เศรษฐกิจไทย 1 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน เสรีรวมไทย 1 คน
ทั้งนี้กำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน
'เท่าพิภพ'ขอโอกาสคนตัวเล็กทำเหล้าเบียร์ขาย
นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565 ครม.มีมติรับทราบข้อสังเกตและผลการพิจารณาตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยเห็นว่า สภาพปัญหาและข้อจำกัดของกฎหมายที่เกี่ยวกับการผลิตสุรา ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องได้ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2560 แต่อย่างใด จึงมีมติส่งคืนร่างกฎหมาย พร้อมข้อสังเกตให้สภาพิจารณาต่อไป
ด้านนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ชี้แจง อภิปราย ว่า พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการผลิตสุรา แม้จะไม่ใช่เพื่อการค้าด้วยก็ตาม เนื่องจากสุราเป็นสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมสินค้า บัดนี้ ครม.พิจารณาเห็นว่า จากสภาพปัญหาและข้อจำกัดของกฎหมาย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถแก้ไขกฎหมายลำดับรองได้ เช่น กฎกระทรวงที่บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมรายละเอียดของการผลิต ไม่ว่าจะเป็นจำนวน กำลังการผลิต วัตถุดิบ ปริมาณ หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้มีการพูดคุยกับนายเท่าพิภพ และมีการปรึกษาหารือกันว่า จะได้มีการพูดคุยกันเพื่อแก้ไขกฎหมายลำดับรอง เพื่อเอื้อให้สิ่งที่สมาชิกต้องการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ให้เกิดประโยชน์กับสังคมเพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังก็มีความยินดีที่จะได้พิจารณากฎหมายลำดับรองร่วมกับ ส.ส.ต่อไป
ขณะที่ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย อภิปรายว่า สิ่งที่รัฐบาลหรือ ครม.ตอบมา ไม่ได้อยู่ในใจความสำคัญหรือคำถามที่อยากจะรู้เลยว่า เหตุใดคนตัวเล็กจึงทำเหล้าเบียร์ขายไม่ได้ ทั้งนี้การควบคุมควรดูที่คุณภาพ ที่กรมสรรพสามิตมีการตรวจคุณภาพอยู่แล้ว ร่างกฎหมายนี้เป็นแค่การทลายหลักเกณฑ์ที่มองว่าเป็นการผูกขาดหรือเอื้อนายทุนเท่านั้น ส่วนการควบคุมการดื่มอยู่คนละกฎหมาย มีคนบอกว่าทำเองที่บ้านแล้วคนจะดื่มมากขึ้น แต่การทำเบียร์เองที่บ้านใช้เวลาเป็นเดือน ไปซื้อง่ายกว่าอยู่แล้ว จึงไม่น่าเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันปริมาณเบียร์ที่ทำคงไม่ทำให้ สัดส่วนการตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และต้องประเมินว่าเสรีภาพของประชาชนที่ทำอะไรก็ตามในบ้านเราเองกับการที่เขาจะควบคุมในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ สิ่งไหนมีค่ามากกว่ากัน ส่วนตัวเห็นว่าเสรีภาพมีค่าที่สุด
นายเท่าพิภพ กล่าวอีกว่า มีคนสงสัยว่าถ้าทำเหล้าเบียร์แล้วมีคนกินเป็นอะไรไปใครรับผิดชอบ ซึ่งก็มีกฎหมายอาญากำกับดูแลอยู่ ขณะเดียวกันคงไม่มีใครใส่ยาฆ่าหญ้าให้คนกินคงเป็นไปไม่ได้ และเป็นสิ่งที่ข้าราชการและรายใหญ่ พยายามใส่ร้ายองค์การสุราชุมชนพื้นบ้านมาตลอด
ส่วนประเด็นที่พูดถึงการกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องถามกลับว่า รายย่อยกระทบหรือไม่ รายใหญ่กระทบหรือไม่ แล้วแตกต่างกันอย่างไร หลายครั้งที่ลงพื้นที่พบประชาชน ส่วนใหญ่จะเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อกินส่าเหล้า หรือการทำเบียร์ ที่เป็นข้าวบาร์เลย์ที่ผ่านการสกัดน้ำตาลออกมาแล้ว ปกติจะเอาไปเลี้ยงวัวหรือทิ้งเป็นขยะเปียกทั่วไป ก็ไม่ได้มีอะไรมากมายกว่านี้ ส่วนที่กังวลว่าโรงงานจะใหญ่เกินไปจนควบคุมไม่ได้ ขอเรียนว่า เรามีกฎหมายโรงงานอยู่แล้วต้องไปปฏิบัติตาม
สิ่งที่บอกว่า จะมีการแก้กฎหมายลำดับรอง และมีการพูดคุยกับตน ก็มีการพูดคุยกันจริงๆ เพราะคุยกันมา 3 ปี 4 เดือน ตั้งแต่นำเรื่องเข้า กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจฯ และยืนยันได้ว่า เราพูดคุยกับกรมสรรพสามิตเกือบ 10 รอบ แก้กฎหมายกันแค่ 2 มาตราแต่ยังไม่เสร็จ อยากให้รัฐมนตรีให้สัญญาตรงนี้ว่าจะทำเสร็จเมื่อไร
“วันนี้เรามีร่างกฎหมายสร้างประวัติศาสตร์ 3 ฉบับ กัญชาผ่านไปแล้วเป็นเรื่องที่น่ายินดี ส่วนสุราก้าวหน้าและสมรสเท่าเทียม ก็หวังว่าจะเป็นวันที่สร้างประวัติศาสตร์ในวันนี้ ที่เราจะได้โหวตทั้ง 3 ร่างกฎหมายไปด้วยกัน” นายเท่าพิภพ กล่าว
นายเท่าพิภพ กล่าวด้วยว่า ขอยกคำพูดของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนสตรี และ รมว.สาธารณสุข ที่ได้อภิปรายก่อนหน้านี้ว่า กัญชาหรือทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีทั้งดีและไม่ดี อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไร ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เราก็มีการควบคุม และมีข้อดีที่ชาวบ้านได้ประโยชน์
“จริงอยูว่า ทุกอย่างในโลกมีทั้งดีและไม่ดี แต่สิ่งเดียวที่เป็นนิจจังของโลกนี้ที่ทุกคนต้องการคือความยุติธรรม ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้แค่ให้คนทำเหล้า หรือผมได้ต้มเบียร์ แต่มันคือความยุติธรรมที่ประเทศนี้ และ ส.ส.ทำเพื่อประชาชน เราคือลูกน้องของประชาชน เราจะแสดงให้เห็นว่าเราคือลูกน้องของประชาชนจริง ๆ” นายเท่าพิภพ กล่าว