สธ.ประกาศพร้อมเปลี่ยนผ่านโควิดสู่โรคประจำถิ่น 'อนุทิน' เผยคงไม่มีประกาศ-คำสั่งถอดแมสก์ ให้ประเมินตามความเสี่ยงตัดสินใจกันเอง ปลัดฯ แจงเตรียมชงข้อพิจารณาเข้า ศบค.สัปดาห์หน้า พร้อมยันมีวัคซีนพอดี ไม่เหลือ-ขาด คาดกลางเดือน มิ.ย.อาจลดระดับเตือนภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการพบสื่อมวลชน (Meet the Press) ว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังเร่งรณรงค์ให้ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดมารับ เนื่องจากข้อมูลยังพบว่า ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตมาจากไม่รับวัคซีนตามเกณฑ์ ซึ่งหากได้รับมากขึ้น การติดเชื้อการเสียชีวิตก็ลดลง มีข้อมูลชัดว่า วัคซีนเป็นปัจจัยช่วยในเรื่องประสิทธิภาพการควบคุมโรคได้ เรียกว่า มีความสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่วางไว้
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า สธ.จัดส่งวัคซีนโควิดให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีจำนวนมากล้นคลัง และไปรอหมดอายุ นายอนุทิน กล่าวว่า กรณีวัคซีนป้องกันโควิดไม่ใช่เหลือ ไม่ใช่เกิน บางคนพูดหนัก ว่าเป็นขยะ ว่าเอาขยะในบ้านไปไว้บ้านคนอื่น ต้องเรียนว่า คนที่เขียนมาก็คนในกระทรวงสาธารณสุขทั้งนั้น ไม่ใช่ขยะในบ้าน แต่คือทองคำ คือสิ่งมีค่า เราเอาไปไว้ในเครือข่ายเพื่อบริการประชาชน ไม่มีใครปัญญาอ่อนพอที่จะทิ้งวัคซีน เพราะเป็นของมีค่า ที่ควรเอาไปไว้ในร่างกายประชาชนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด ลดอาการหนัก ที่สำคัญลดการเสียชีวิต นี่คือฤทธิ์ของวัคซีน ขยะคงไม่สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งที่ดีเหล่านี้แก่มนุษย์ได้
"ขอให้ผู้บังคับบัญชาทำความเข้าใจเรื่องนี้แก่ผู้ปฏิบัติงานภายใต้บังคับบัญชาให้เข้าใจ เพราะถ้ายังทำความเข้าใจกับคนในบ้านเราไม่ได้ เราก็จะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจอย่างไร ดังนั้น ตามสายงาน จึงต้องขอให้ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ช่วยเรื่องนี้ คนไหนยังไม่เข้าใจ ช่วยเชิญตัวมาอธิบายให้เข้าใจ หรือมาฟังจากคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ ในฐานะเป็นรัฐมนตรีฯ ผมขอให้คำยืนยันด้วยเกียรติยศทุกอย่างที่มี ว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดวัคซีน จัดเวชภัณฑ์ จัดยา ทุกอย่างที่มีประโยชน์ มีสรรพคุณสามารถรักษาประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคโควิดหรือโรคใด ๆ ก็แล้วแต่ ไม่มียาหยวน ๆ ที่เอามาใช้เพื่อบรรเทาอาการไปก่อน ลดอาการไปก่อน แล้วค่อยว่ากันทีหลัง มีแต่ยาที่เอามารักษาให้หายจากการเจ็บป่วย มีวัคซีนที่ป้องกันให้รอดพ้นจากการติดเชื้อทุกโรค ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชนเกิดความมั่นใจ" นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวเพิ่มว่า เรื่องวัคซีนขอเน้นย้ำว่า ขอให้มั่นใจวัคซีนทุกชนิดที่กระทรวงสาธารณสุขนำมาให้ประชาชน เป็นวัคซีนมาตรฐาน ไม่มีเกรดเอ เกรดบี เกรดซีใดๆ ล้วนเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรององค์การอนามัยโลก และผ่านการขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการอาหารและยา ส่วนการจัดซื้อวัคซีนเรามีจัดหาให้เพียงพอกับประชากรทั้งประเทศ ทั้งคนไทย และต่างชาติ ถ้าเขามีถิ่นพำนักอาศัยในไทยเราก็ให้การดูแล แม้แต่คนตามแนวตะเข็บชายแดน
ขอย้ำวัคซีนไม่มีเหลือ ไม่มีล้น มีพอดีๆ การนำส่งหน่วยบริการ จนถึงหน่วยเล็กสุดของกระทรวงฯ หากจำได้ ตอนที่วัคซีนต้องฉีดตามโรงพยาบาลหลัก เพราะต้องติดตามอาการอยู่ครึ่งชั่วโมง เพื่อให้เกิดความมั่นใจก็เพื่อให้คนรับวัคซีนอยู่ใกล้สถานบริการมากที่สุด แต่เมื่อเราฉีดไปหลายสิบล้านโดสแล้ว ใกล้ๆร้อยล้านโดส ก็ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่ต้องใช้ทรัพยากรขนาดนั้นในการให้ประชาชนที่รับวัคซีนมารอ มีเจ้าหน้าที่สแตนบาย จึงมีการนำวัคซีนไปฉีดสถานพยาบาลย่อย ให้เจ้าหน้าที่นำวัคซีนไปฉีดผู้ป่วยติดเตียง ประชาชนห่างไกล ไปฉีดถึงบ้าน
"เมื่อวัคซีนมีคนนำไป เราก็ต้องพยายามนำไปในที่ที่ประชาชนมารับได้สะดวกรวดเร็วที่สุด เพราะถ้าเปรียบเทียบอยู่ในเมืองใหญ่ ไปจุดไหนก็มี แต่เราต้องนึกถึงคนที่อยู่ต่างจังหวัด ตามเขาตามดอย เขาห่างไกลความเจริญ หากต้องนั่งรถมาในเมืองก็อาจจะผลัดวันประกันพรุ่ง แต่หากมาฉีดได้ที่ รพ.สต. ใกล้บ้านเขา และวัคซีนมีทุกชนิด สามารถให้บริการได้ ทั้ง mRNA หรือไวรับเวกเตอร์ แต่เชื้อตายก็ไม่ได้ฉีดแล้ว เราก็ฉีดวัคซีนที่เหมาะสม ตรงนี้ทำให้มั่นใจว่า วัคซีนยังรอให้ประชาชนฉีดไม่ครบ มาฉีด ขออย่าเกรงกลัว" นายอนุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการสื่อสารของบุคลากรกลุ่มเดิมเรื่องวัคซีนที่หมดอายุ หรือล้นคลัง จะต้องมีการนัดหารือ หรือชี้แจงเรื่องนี้ต่อสาธารณชนอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ก่อนอื่น วัคซีนหมดอายุ เราไม่ฉีดให้ประชาชนอยู่แล้ว แต่เรามีข้อมูลทางการแพทย์ อย่างท่านเลขาฯ อย. จะเช็กไปทางผู้ผลิตวัคซีน จะมีการซัมมิทเอกสารให้ อย.พิจารณาว่า วัคซีนสามารถเลื่อนวันหมดอายุได้หรือไม่ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ขนาดวัคซีนฝีดาษวานร เรายังต้องไปเอาวัคซีนทีเราเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2523 ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทดสอบก็ยังพบว่าแอคทีฟ ก็คล้ายกัน ทุกอย่างมีการตรวจสอบ และขอให้มั่นใจว่า ไม่มีการนำวัคซีนหมดอายุไปฉีดให้ประชาชนแน่นอน
นายอนุทิน กล่าวตอบคำถามในประเด็นหน้ากากอนามัยว่า คงไม่มีคำสั่งหรือประกาศให้ถอดหน้ากากอนามัย เพราะตอนที่สวมหน้ากากก็ไม่มีคำสั่ง แต่เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้ปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากโควิด ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงแพทย์ก็ยังมีคำแนะนำให้สวมหน้ากาก ประเมินสถานการณ์เสี่ยงนั้นๆ เช่น อยู่กันหลายคน ที่ไม่สามารถทราบได้ว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงอย่างไร ก็ยังควรสวมหน้ากากอยู่ แต่หากไปงานสังสรรค์กันเอง ตรวจ ATK ไม่พบเชื้อ ไม่มีความเสี่ยงอะไรมา เช่น ผับบาร์ กิจกรรมรวมกลุ่มคน ประเมินความเสี่ยงแล้วก็สามารถถอดหน้ากากได้ ทั้งหมดขึ้นกับความรับผิดชอบต่อสังคม
ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ตรงไหน และกำลังจะไปในทิศทางไหน จะประกาศเข้าระยะ Post pandemic ได้แล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ในการดำเนินการมี ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มีบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงาน ซึ่ง สธ.เป็นส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น จะประกาศเมื่อไหร่ หรืออย่างไร ก็ต้องฟัง ศบค. โดย สธ.เตรียมข้อมูลทั้งหมดสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันส่งให้ ศบค.เป็นผู้พิจารณา
“ทุกวันนี้ก็คล้ายๆ Post pandemic อยู่แล้ว เข้าประเทศไทยไม่ต้องมีการตรวจโควิด19 ด้วยวิธี PCR แล้ว เดินทางไปที่ไหนก็มาได้ไม่ต้อง ATK สามารถเข้าไปในร้านอาหารได้ คาราโอเกะ ผับบาร์ สถายบันเทิงต่างๆก็เปิดตามกำหนดเวลาไม่เกินเที่ยงคืน ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็จะผ่อนคลายเรื่องอื่นต่อไป เรื่องหน้ากากอนามัยก็เช่นกัน ส่วนวันไหนจะประกาศเป็นPost pandemic หรือโรคประจำถิ่น (Endemic) ก็ต้องมีการหารือกันว่าสถานการณ์โรคเป็นอย่างไร องค์การอนามัยโลกว่าอย่างไร หน่วยงานอื่นๆ มีความเห็นอย่างไรก็ไปประชุมใน ศบค." นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวตอบคำถามจะทำให้ประชาชนจะมั่นใจอย่างไรหากผ่อนคลายจนใช้ชีวิตเกือบปกติ ว่า สธ.ออกมาตรการ 3 พอ สิ่งที่ให้ประชาชนมั่นใจว่า ถ้าป่วยหนักเข้ารับรักษาใน รพ. หมอ เตียง ยา พอ นอกจากนี้ เงินพอด้วย สปสช.พร้อมดูแลประชาชนตามสิทธิ โควิดเรายังดูแลอยู่ รวมถึง 2U โดยการป้องกันยังควรใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ต่อให้สถานกาาณ์ปกติ เราก็ไม่ควรเอาหน้าชนกันคุยกันเวลานาน ไม่ควรเข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือ โควิดทำให้คุ้นชินมากขึ้น สถานการณ์ปกติก็ล้างมือเพื่อสุขอนามัย ระยะห่างก็ยังควรทำ เป็นหวัดออกจากบ้านก็ควรใส่แมสก์ไว้ เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อ หรืออยู่กับคนเป็นหวัดก็เอามาใส่ป้องกันสองด้าน ก็ควรทำ
ทางด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.แนะนำการใส่หน้ากากอนามัย ที่เป็นหัวใจในการป้องกันโรคหลายโรค รวมถึงฝุ่นละอองด้วย ถ้าใส่ได้ก็ดี ก็พยายามให้มีการพิจารณา โดย ศปก.ศบค.ได้ให้ สธ.ส่งข้อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องหน้ากากอนามัยไป ก็จะเสนอให้ ศปก.ศบค.พิจารณา ทั้งเรื่องคนกลุ่มเสี่ยง สถานที่ หรือกิจกรรมต่างๆ ก็รอผลการพิจารณา ทั้งนี้ จะมีการประชุม ศบค.ในสัปดาห์หน้า
ส่วนมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขก็ประเมินแล้ว โรคลดน้อยลง การรักษาที่มีประสิทธิภาพ จำนวนเตียงเพียงพอ ขณะนี้มีการใช้ประมาณ 10 % ของจำนวนเตียงในโรงพยาบาลที่มีอยู่ วัคซีนมีเพียงพอ และมีบุคลการสาธารณสุขรองรับได้ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและศูนย์ปฏิบัติภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโควิด-19 หรือ EOC เห็นว่า ขณะนี้เป็นไปตามแผนที่สธ.วางไว้ว่าโรคนี้น่าจะเข้าสู่ระยะท้ายๆแล้ว และยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาให้เกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งทุกจังหวัดอยู่ในระยะการลดลงของโรคแล้ว ไม่มีลักษณะของการระบาดใหญ่ รวมถึง มีการผ่นคลายเปิดเรียน ก็ยังไม่มีการระบาดให้เห็น ส่วนการเปิดสถานบันเทิง ยังไม่มีลักษณะการระบาด แต่ยังต้องติดตามเฝ้าระวังอีก 1 สัปดาห์ถึงจะบอกได้อย่างแน่นอนว่าระบาดเพิ่มขึ้นหรือไม่
“แต่จากการคาดการณ์ ประมาณการณ์โดยคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว ขณะนี้ภภูมิคุ้มกันประเทศมีพอสมควร และมีความพร้อมทุกๆด้าน โรคนี้ก็จะเข้าสู่ระยะPost pandemic คือผ่านการระบาดใหญ่ของโรคไปแล้ว ซึ่งคล้ายๆหลายประเทศ ก็มีการเฝ้าระวัง ป้องกัน ตามสมควร โรคไม่ได้มีความทร้ายแรงกมาก ใช้การรักษาอย่างทั่วถึง” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวกรณีจะมีการประกาศลดระดับเตือนภัยโควิด-19หรือไม่ ว่า สธ.ต้องมีความระมัดระวัง เพราะการเตือนภัยเป็นการสื่อสารถึงประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งเมื่อเปิดสถานบันเทิง จะต้องเฝ้าระวังอยู่ ถ้าพ้นระยะที่คิดว่าจะเกิดปัญหาไปได้ ก็แสดงว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่มีความพอเพียง เพราะฉะนั้น การจะลดการเตือนอาจจะมีขึ้นและมาตรการที่สอดคล้องกัน คาดการณ์ว่าน่าจะประมาณกลางเดือน มิ.ย.นี้
สำหรับกรณีประชาชนไม่ยอมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะทำอย่างไร เพราะขณะนี้บุคลากรหลายท่านพยายามสื่อสารเรื่องนี้แล้ว นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีฯ ที่จะให้ประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุด เราก็ทราบว่า หลายคนไม่ยอมฉีด เพราะกังวลผลข้างเคียง และพอจะฉีดก็จะมีเรื่องการเดินทาง ไปในเมืองก็จะลำบาก ดังนั้น ท่านปลัดสธ. จึงพยายามให้แต่ละหน่วยเอาวัคซีนไปใกล้ประชาชน และให้แต่ละหน่วย แต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัดคำนวนตัวเลขให้ชัดเจนว่า มีจำนวนต้องฉีดวัคซีนเท่าไหร่ และไปฉีดเชิงรุก สรุปคือ 1) ต้องให้ความมั่นใจแก่ประชาชน 2)เอาวัคซีนไปหาประชาชน และ 3) กำหนดเป้าหมายการฉีดให้ชัดเจน
"สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 5 ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่สามารถออกเป็นคำแนะนำได้ แต่หากมีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือหากมีการตรวจภูมิคุ้มกัน แล้วพบว่ามีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็สามารถเข้ารับการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 5 ได้ แต่ทั้งนี้ จะต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ และระยะห่างของวัคซีนแต่ละเข็มอย่างน้อย 3 เดือน" นพ.โอภาส กล่าว