กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทุจริต รับการปฏิรูปมีข้อจำกัดทั้งกรอบเวลา-งบประมาณ ชงบอร์ดยุทธศาสตร์ชาติ บรรจุทำต่อในระยะ 66-70 ‘มานะ นิมิตรมงคล’ ชี้ภาคประชาชนตื่นตัว แต่ด้านอื่นไม่คืบ กฎหมายไม่เปลี่ยน ชี้เป้า ‘นักการเมือง-รัฐ’ ถ่วงการปฏิรูป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 มิ.ย. 2565 นายภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวในงานสัมมนา ‘ปราบโกงประเทศไทย 2022 : มรดกกรรมการปฏิรูป’ ว่า แผนปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ทำมามีระยะเวลาดำเนินการไม่ถึง 2 ปี เนื่องจากแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้เมื่อปี 2564 ทำให้ช่วงเวลาที่ขับเคลื่อนแผนปฏิรูปจึงสั้นมาก
โดยเน้นไปที่ปัญหา 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ประชาชน 2. กฎหมาย และ 3.ภาครัฐ
ในสว่นของหัวข้อแรก คือ การเปลี่ยนประชาชนให้เป็น พลังพลเมือง ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตเชิงรุก เพราะแต่เดิมหน่ยงานต่างๆ จะเป็นคนไปบอกให้่ทำตามแผน ซึ่งบางครั้งไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ
ขณะที่หัวข้อที่สอง กฎหมายหลายฉบับยังเป็นปัญหาอยู่ เช่น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในรัฐธรรมนูกำหนดไว้ว่า ให้เข้าถึงได้่่โดยไม่ต้องร้องขอ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้แก้ และ 3. ภาครัฐ ชัดเจนว่า ระบบราชการ ปัญหาใหญ่ไม่ใช่การทุจริต แต่คือการประพฤติไม่ชอบ เป็นการใช้อำนาจไปในทางไม่ชอบ มีผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ระบบอุปถัมป์ และอีกสารพัด
จากโจทย์ 3 ข้อ จึงสกัดมาเป็น Big Rock 5 กิจกรรม ได้แก่
1. พัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเชิงรุก เปลี่ยนพลังชุมชนเป็นพลังพลเมือง
2. พัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้ให้เบาะแสต่างๆ
3. พัฒนากระบวนการยุติธรรมให้รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ
4. พัฒนาภาครัฐให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส และไร้ผลประโยชน์
5. สกัดการทุจริตเชิงนโยบายในโครงการขนาดใหญ่
“ทั้ง 5 เรื่องตอบโจทย์ 3 ด้านข้างต้น โดยมีภาคีช่วยขับเคลื่อน ทั้ง ป.ป.ช., ปปท.และหน่วยงานอื่นๆอีก แต่ปัญหาข้อติดขัดก็ยังมีอยู่มาก ปัญหาสำคัญคือ ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร เช่น งบประมาณ ที่ควรมีการสนับสนุน แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น และเวลา ด้วยกรอบเวลาที่กำหนดตาม พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ กำหนดกรอบเวลาให้ดำเนินการให้เสร็จ 5 ปี ซึ่งปี 2565 ถือเป็นปีสุดท้าย ยอมรับว่า มีหลายเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จ ที่สำคัญคือ กรณีที่จะพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเชิงรุก ก็เป็นประเด็นที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป กฎหมายอีกหลายฉบับก็ยังไม่ได้เริ่มแก้ไข คณะกรรมการปฏิรูปฯ จึงได้เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ให้บูรณาการเรื่องเหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติในปี 2566-2570 ในลำดับถัดไป” นายภักดีกล่าว
ประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ กล่าวต่อว่า การประเมินตัวเองต้องดูก่อนว่า ตัวคณะกรรมการเองมีอำนาจ ขอบเขต และหน้าที่แค่ไหน เรามีหน้าที่ทำแผนและช่วยขับเคลื่อน แต่ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลและลงโทษ ปัญหาการขับเคลื่อนเป็นปัญหาใหญ่ และไม่มีกลไกกำหนดในเรื่องนี้เลย แต่เชื่อมั่นว่า แผนนี้จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศที่กำลังตกต่ำได้ ซึ่งเรามีปัญหา 3 เรื่องคือ สินบน, ความไม่ตระหนักรู้ถึงผลกระทบการทุจริตในภาครัฐ และการประพฤติไม่ชอบในภาครัฐ
ประชาชนตื่นตัว รัฐ-การเมือง-กฎหมาย ไม่หนุน
ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการศึกษารวบรวมมาว่า ปัญหาคอร์รัปชันจากรัฐลามไปวัด โรงเรียน และชุมชน อะไรคือปัจจัยสำคัญ แล้วถ่ายทอดพฤติกรรมอย่างไร และหากจะแก้ แก้อย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ ใช้ทรัพยากรยังไง เปลี่ยนกฎหมายอย่างไร เปลี่ยนพฤติกรรมคนอย่างไร ซึ่งเรามั่นใจว่า แผนนี้หากทำได้จะเป็นอนาคตของประเทศ
แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อส่งไปยังหน่วยงานต่างๆแล้ว เราไม่สามารถชี้นิ้วสั่งได้ หลายหน่วยงานตีความผิดไปจากแผน แต่ไม่ได้มาถาม และปฏิเสธมาถึงกรรการด้วย
“สิ่งเหล่านี้ พอเริ่มปฏิบัติจริงๆ ด้านประชาชนในเวลาที่ผ่านมามีความตื่นตัวขึ้นมาก ทั้งคนรุ่นใหม่ในโซเชียลมีเดีย และภาคประชาชนที่ตระหนักรู้มากขึ้น แต่ด้านกฎหมาย ผิดหวังมาก ยังไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันและสำเร็จแล้ว กฎหมายที่อยากได้มากที่สุดและเป็นหัวใจ การแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ที่พูดแล้วพูดอีก ซึ่งตอนนี้กำลังจะยื่นสภาพิจารณารอบใหม่ แต่เนื้อในไม่มีการแก้ไขอะไรเลย แล้วเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จะไปยังไง เรื่องกฎหมายการฟ้องปิดปากที่ชอบเอามาเล่นงานประชาชน กฎหมายนี้ก็ยังคลานต้วมเตี้ยมอยู่ เริ่มพูดแล้ว แต่กว่าจะไปถึง เหมือนต้องปีนเขาอีก 18 ลูก” นายมานะกล่าว
ส่วนความเปลี่ยนแปลงในภาครัฐ นายมานะกล่าวว่า พบว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีการสร้างเครื่องมือในการบริการประชาชนให้เร็วและโปร่งใสขึ้น ที่จับต้องได้มีไม่น้อยกว่า 1,340 มาตรการ เป็น E-Service 350 มาตรการ แต่ในความจริง มาตรการเหล่านี้ เพียงออกมาตอบสนอง KPI เท่านั้น ประชาชนและนักธุรกิจไม่เชื่อถือ อีกทั้ง บริการแต่ละอย่างไม่เชื่อมโยงกัน บางหน่วยงานสร้างมาตรการสอดคล้องกับกฎหมายหลัก แต่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายลูก
ส่วนภาคการเมือง นักการเมืองเปลี่ยนแปลงไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังแย่งชิงอำนาจผลประโยชน์อยู่ อย่างขณะนี้มีการพูดถึงการเป็นกรรมาธิการงบประมาณปี 2566 ดังนั้น โดยรวมเรามีของดีตั้งไว้ แต่ในทางปฏิบัติยังเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะภาครัฐและการเมือง เป็นตัวถ่วงของประชาชนที่กำลังก้าวไปข้างหน้า เพราะคนที่กุมกลไกยังไม่เข้าใจ และส่วนหนึ่งก็หัวโบราณมาก
สื่อ-ส.ส. แนะ ข้อมูลสาธารณะต้องเปิดเผย-เข้าถึงง่าย
ขณะที่งานสัมมนาเวทีที่ 2 ในหัวข้อ 'โปร่งใสแบบไหนไม่ติด Lock ถ้าประชาชนมีส่วนร่วม' เริ่มต้นที่ นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโสสื่ออนไลน์ The MATTER กล่าวว่า การเปิดข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ถือว่าปรับปรุงดีขึ้นกว่าเดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่การเปิดเผยข้อมูลยังกระจัดจาย ดังนั้น จะทำอย่างไรได้บ้าง ในการทำให้ข้อมูลเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เหมือนเวลาเราค้นหาอะไรบางอย่างใน Google เพราะแม้ประชาชนจะตื่นตัวจริง การไปค้นข้อมูลมันยาก อีกทั้งการแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร 2540 ยังมีส่วนแย่อยู่ เช่น การเพิ่มหมวดที่ต้องไม่เปิดเผยเลย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์, ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นต้น
“บางกฎหมายไม่ต้องอาศัยสภาในการแก้ไข เพื่อเพิ่มเครื่องมือในการตรวจสอบ เช่น เคยฝากไปยัง ป.ป.ช. ว่า ประกาศ ป.ป.ช. ที่ให้เปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สิรบนเว็บไซด์ 180 วัน เป็นอุปสรรคต่อการให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบ 180 วันนับจากอะไรไม่มีคำตอบ ซึ่งกฎหมายประเภท ประกาศต่างๆ มันแก้ง่ายมาก” นายพงศ์พิพัฒน์กล่าว
ขณะที่นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ผลักดันร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะ กล่าวว่า ปัญหาทุจริตที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการใช้ดุลยพินิจมาก แม้ภายหลังมีการแก้ปัญหาด้วยการลดการใช้ดุลยพินิจด้วยการออกกฎระเบียบ ตั้งคณะกรรมการต่างๆ แต่ที่ผ่านมา ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ก็รู้ว่าคดีความทุจริตไม่ได้ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้น จึงอยากตั้งคำถามว่า มันมาสุดทางหรือยัง สำหรับการลดดุลยพินิจ ควรเพิ่มกลไกการตรวจสอบ ทำให้ข้อมูลรัฐตรวจสอบได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การตัดสินใจของคณะกรรมการต่างๆ บันทึกการประชุม ควรเป็นข้อมูลสาธารณะด้วย และการประชุมคณะกรรมการต่างๆควรถ่ายทอดสดผ่านทางโซเชียลมีเดียหรือไม่ ประชาชนจะได้มีบทบาทช่วยตรวจสอบ
ด้านนางสาวธนิสรา เรืองเดช ตัวแทนจาก WeVis เทคโนโลยีประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ระบุว่า ในส่วนของภาคประขาชนเองก็มี Big Rock เช่นเดียวกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ เพียงแต่เป็น Big Rock ในแง่อุปสรรค ประกอบด้วย 4 หัวข้อ ได้แก่
1. รัฐมักให้ข้ออ้างมากว่าข้อมูล บางอย่างเคยทำเรื่องขอไป แต่กว่าจะอนุมัติใช้เวลานานถึง 11 เดือน และบางข้อมูลก็ไม่ยอมเปิดเผย จนคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามว่า ไม่เข้าใจทำไมถึงไม่เปิดเผย ถ้าไม่โกง ก็ไม่ต้องกลัว
2. รัฐบอกเสมอว่ามีช่องทาง แต่เข้าถึงยาก
3. ประชาชนอยากช่วยเหลือให้ชีวิตดีขึ้น แต่เสนอขอมูลอะไรไป รัฐเหมือนโยนหินลงน้ำ
และ 4. การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ควรมี Quick Win ไม่ควรจะเปรียบเปรยเป็น การวิ่งมาราธอน ภครัฐควรจะขยับ ก่อนที่ประชาชนจะเหนื่อยไปมากกว่านี้ โดย Quick Win ที่ว่าคือ การแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ให้ข้อมูลต่างๆ เข้าถึงได้ง่ายกว่านี้