ครม.เคาะ 2 ร่างกฎหมาย ไฟเขียวเพศเดียวกันจดทะเบียน ‘คู่ชีวิต’ เตรียมส่งสภาประกบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ ยันให้สิทธิเต็มที่ทุกเพศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่จะเป็นกฎหมายใหม่และสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามหลักสากล ทั้งนี้การหมั้นหรือสมรสของบุคคลเพศเดียวกันส่งผลกระทบต่อกฎหมายเดิมหลายฉบับ ซึ่งต้องมีการปรับแก้ไขไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อกัน เพราะความเป็นครอบครัวนั้นส่งผลผูกพันในหลายๆเรื่อง เช่น มรดก ทรัพย์สิน การเป็นทายาท การรับบุตรบุญธรรม การอุ้มบุญ ตลอดจนมิติสังคม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมอบหมายกระทรวงยุติธรรมศึกษาในเรื่องนี้ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและผู้แทนทุกศาสนา
“ผมย้ำว่าได้หารือหมดแล้วเพื่อที่จะปิดทุกจุดอ่อนและถือเป็นกฎหมายที่สร้างสรรค์สังคมอย่างแท้จริง เป็นสากล ทำให้เกิดร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่นำเสนอในครม.วันนี้ และจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และได้ส่งเข้าให้สภาผู้แทนราษฎรในทันทีเพื่อประกบกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการแก้ไขและรับฟังความคิดเห็นทางด้านศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม รวมถึงปรับแก้ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำว่าไม่สมควรที่จะไปใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะในนั้นพูดถึงชายกับหญิง แต่ฝ่ายค้านต้องการให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ เช่น ชายกับชาย หญิงกับหญิง และคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าจะต้องแยกเป็น พ.ร.บ.ต่างหาก เพื่อให้มีความละเอียดมากขึ้นใน ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง ไม่สามารถแยกเพศได้ ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่ว่าเพศอะไรต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไปทั้งคู่ รวมถึงบิดาและมารดาต้องให้ความยินยอมกรณีผู้เยาว์ อย่างไรก็ตาม จาการรับฟังความเห็นทั้งทางศาสนาแล้ว เช่น มีศาสนาคริสต์ไม่ขัดข้องกับ พ.ร.บ.นี้ แต่ขออย่าใช้คำว่าคู่สมรส แต่ขอให้คำว่าคู่ชีวิตแทน
ผู้สื่อข่าวถามว่าใน ร่างพ.ร.บ.นี้มีกำหนดเรื่องสิทธิและสวัสดิการของข้าราชการ ด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าว่า มี ให้สิทธิทุกอย่าง ซึ่งในส่วนที่แตกต่างกัน มีรายละเอียดจำนวนมาก แต่หัวข้อใดที่เป็นสิทธิเราใส่ไว้ให้ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในบางอย่าง เช่น เรื่องแบ่งสินสมรสหลังการหย่า ซึ่งมีหลักเกณฑ์ของเขาอยู่ และได้เขียนไว้ให้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง แต่หลักเกณฑ์อาจไม่เหมือนกับกรณีชายกับหญิง 100% ส่วนการจดทะเบียนสมรส และจดทะเบียนหย่าต้องทำที่ว่าการอำเภอเหมือนกันหมด โดยกรณีนี้จะใช้คำทางราชการว่า คู่ชีวิต
ทั้งนี้ถ้ามีการหย่าเกิดขึ้นก็ต้องแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าถ้าคนต่างเพศ เช่น ชาย-หญิงแต่งงานกัน แล้วฝ่ายใดไปมีคู่ชีวิตใหม่ ก็ให้เป็นเหตุหย่าได้ ซึ่งประมวลแพ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นอีกฉบับหนึ่งที่รัฐบาลจะเสนอและเข้าสภาพร้อม ดังนั้นรัฐบาลส่งร่างกฎหมายเป็น 2 ฉบับไปเจอกับร่างของฝ่ายค้านก่อนจะนำไปพิจารณาพร้อมกัน
เมื่อถามว่าคิดว่าจะสามารถตอบโจทย์กลุ่มที่ร้องอยู่ในตอนนี้ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่ครบ เพราะการเรียกร้องมีนัยยะที่แตกต่างกัน ซึ่งนี่คือเหตุผลให้นำกลับมาแก้ไขใหม่ เพราะมิฉะนั้นคงจะเข้าสภาเสร็จไปตั้งแต่ปี 2563
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นร่างกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และเสนอโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อเป็นกฎหมายที่รองรับความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นครอบคลุมทุกกลุ่มในทุกมิติเรียบร้อยแล้ว โดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องการกฎหมายที่รับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว และผู้แทนกลุ่มศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ไม่ขัดข้องต่อกฎหมายดังกล่าว เพราะเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
สำหรับ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ฉบับนี้ ให้สิทธิและหน้าที่คู่ชีวิต เช่น หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ,อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา , สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน , สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม , สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ , สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย และสิทธิจัดการศพ
สาระสำคัญ ยังกำหนดให้ 1.คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้
2.กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
3.การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น
4.กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ
5.กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
6.คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)
7.ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน
8.การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี
9.บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. นี้ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้
10.เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยมรดก
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ส่วนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสหรือคู่ชีวิตอยู่ไม่ได้ 2.กำหนดให้เหตุฟ้องหย่ารวมถึง กรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต 3.ให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต ทั้งนี้ สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเป็นคู่ชีวิตในกฎหมายฉบับอื่นๆ จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้