‘ชัชชาติ’ นัด ACT หารือปมต้านทุจริต ตกผลึกตั้งคณะทำงานร่วมประชุมเดือนละครั้ง ยันปมสายสีเขียวเป็นโจทย์แรกๆที่ต้องคุย ก่อนบอกอีก 2 สัปดาห์พร้อมให้คำตอบ ‘มหาดไทย’ ผ่าทางตัน ส่วนกระทรวงคมนาคมเชิญหารือ ยังไม่เห็นหนังสือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 6 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินทางไปยังอาคารศรีจุลทรัพย์ เพื่อเข้าพบกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โดยใช้เวลาหารือร่วมกันประมาณ 30 นาที
นายชัชชาติ เปิดเผยว่า การหารือในครั้งนี้ ต้องให้เครดิต นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่จุดประกายตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ซึ่งทำให้ผู้สมัครหลายท่านตื่นตัวด้วย
สำหรับปัญหาคอร์รัปชั่น ต้องยอมรับว่า ทำให้ประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่รากหญ้าพ่อค้าแม่ค้าริมทาง ไปจนถึงผู้ประกอบการและนักธุรกิจ หมดหวังในเจ้าหน้าที่และข้าราชการ กทม. จากนี้ไป จะต้องสร้างความเชื่อมั่นและความไว้ใจกลับมา ซึ่งการหารือกับ ACT ในครั้งนี้ จะทำให้ กทม.เดินไปด้วยความมั่นใจและถูกต้องมากขึ้น
ส่วนประเด็นที่มีการหารือกัน ได้แก่
1. ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่จะมีการหารือกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ กทม., ผู้สังเกตการณ์จาก ACT และเอกชนคู่สัญญา
2. กระบวนการในการเปิดเผยข้อมูล ทั้งแนวคิดการขอใบอนุญาตและการคำนวณภาษี เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น
3. ให้องค์กรภายนอก เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำงานวิจัยรองรับ เพื่อเป็นข้อแนะนำในการเดินหน้าต่อจากนี้ไป
4. ตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อหารือในประเด็นการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยให้เอาประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นนี้ด้วย เพราะที่ผ่่านมา ประชาชนมีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้มาก
โดยการตั้งคณะทำงานชุดนี้ จะดูทุกปัญหาของ กทม. ซึ่งมีทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง , การออกใบอนุญาต และอื่นๆ เพราะ กทม. มีหลายเรื่องที่ไปกระทบกับชีวิตคนกรุงเทพฯ ในด้านอื่นๆมาก จะดูทุกเรื่องให้ครบถ้วน องค์ประกอบมีรองผู้ว่า กทม. เป็นประธาน 1 คน ในส่วนของกรรมการจะมีประธานที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. และปลัดกทม. ร่วมเป็นกรรมการด้วย ส่วนของ ACT จะส่งตัวแทนมาร่วมเป็นคณะทำงานด้วยเช่นกัน จะมีการประชุมทุกเดือน
เมื่อถามว่า จะให้ทาง ACT เข้าไปช่วยดูเรื่องของร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วยหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ทาง ACT เข้าไปร่วมในฐานะคณะกรรมการตามข้อตกลงคุณธรรมอยู่แล้ว โดยคณะทำงานจะมาหารือ เพื่อต่อยอดประเด็นต่างๆ โดยกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการที่จะหารือกัน และจะเป็นโครงการแรกๆ ที่จะนำมาดูร่วมกันด้วย
นอกจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว อนาคตจะเข้าไปดูโครงการก่อสร้างโรงกำจัดขยะ และการขอใบอนุญาตอำนวยความสะดวก และการคิดภาษีต่างๆ จะทยอยเข้าไปตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ และการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เป็นธรรม
ขอ 2 สัปดาห์ ตอบการบ้าน 'มหาดไทย' ปมสายสีเขียว
ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงกรณีที่กระทรวงคมนาคมมีหนังสือจะเชิญหารือเกี่ยวกับปมประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว วันที่ 13 มิ.ย. 2565 นี้ นายชัชชาติตอบว่า ยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว แต่ในข้อเท็จจริงที่ผ่านมา กทม.ก็ทำหนังสือตอบกลับ ครม. ไปหลายครั้งแล้วเช่นกัน แต่หากมีหนังสือเชิญเข้ามา ก็พร้อมจะเข้าไปชี้แจง
ส่วนที่พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ กทม. เป็นผู้ตัดสินใจนั้น เป็นการพูดเชิงหลักการ จะมีการเสนอความเห็นเพิ่มเติมในรายละเอียด เพราะข้อมูลและกระบวนการเรื่องนี้มีความซับซ้อน ต้องดูเนื้อความในจดหมายที่จะส่งมาอีกที แต่เชื่อว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะมีคำตอบรายละเอียดเพิ่มเติม