‘วิษณุ’ เผยตัดลดงบบำเหน็จ-บำนาญไม่ได้ กระทบสิทธิ-ขวัญกำลังใจข้าราชการ ชี้ต้องแก้ที่ต้นต่อกฎหมาย พร้อมเล็งขยายอายุเกษียณเป็น 63-65 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 ว่าวงเงินงบประมาณสำหรับเงินบำนาญข้าราชการสูงเกินไป ว่า แล้วแต่กรรมาธิการร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯจะพิจารณาอย่างไร แต่สำหรับเงินบำเหน็จ บำนาญเป็นผลจากกฎหมายที่เขียนเอาไว้ เมื่อทำราชการมาจนถึงเวลาก็ต้องได้บำเหน็จ บำนาญ ส่วนที่มองว่ามากไป
อย่างไรนั้นก็แล้วแต่ แต่จะแปรญัตติตัดกันจนกระทบกับสิทธิ์ทางกฎหมายของผู้ได้รับเงินบำเหน็จ บำนาญคงไม่ได้เว้นแต่จะมีข้อเสนอแนะให้แก้กฎหมายก็อีกเรื่องหนึ่ง ตัวเลขที่สูงนั้น เมื่อข้าราชการมากขึ้นวงเงินก็มากขึ้น และรัฐบาลคิดสิ่งเหล่านี้มาตลอด เราจึงยังไม่คิดเรื่องเออรี่ รีไทร์ เพราะจะเป็นภาระงบประมาณ รวมถึงความคิดเกี่ยวกับการขยายอายุการเกษียนราชการ เดิมมีการคิดก่อนจะมีสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะขยายจาก 60 ปี เป็น 63 ปี ในล็อตแรก และล็อตที่สอง จาก 63 ปี เป็น 65 ปี จะทำให้ไม่ต้องจ่ายบำนาญ แต่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 จึงหยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน
โดยเรื่องนี้อยู่ในแผนปฏิรูป จะทำให้ชะลอการจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญได้แต่เพราะโควิดทำให้คิดเช่นนั้นไม่ได้ เพราะคนต้องการเงิน และต้องการออกจากระบบราชการโดยเร็ว และยืนยันว่าวงเงินบำนาญใน พ.ร.บ.งบประมาณฯยึดตามหลักเหตุผล แต่ที่มองว่าไม่สมเหตุสมผลคงต้องไปดูในเรื่องของกฎหมายที่จ่ายเงิน หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องแก้กฎหมาย
เมื่อถามว่า ถ้ากรรมาธิการฯมีการปรับลดจะกระทบขวัญ กำลังใจข้าราชการหรือไม่ นานวิษณุ กล่าวว่า ถ้าในที่สุดได้ปรับลดจริงก็จะกระทบ แต่ที่บางท่านเสนอนั้นก็ใช่ว่าคนอื่นจะเห็นด้วยคงต้องไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการ
หากเป็นการจ่ายเงินบำนาญตามกฎหมายก็ไม่สามารถปรับลดงบประมาณส่วนนี้ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนยังคิดไม่ออกว่าจะปรับลดอย่างไรที่ไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย
"เรื่องตัดบำเหน็จ บำนาญ ที่แรกคุณพิธาพูด และอาจไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น แต่พอมีคนไปขยายความว่าจะตัด ต่อมาพรรคก้าวไกลเขาก็ออกมาแถลงว่าไม่ได้คิดจะตัด และจะตัดได้อย่าง เพราะทุกอย่างจ่ายไปตามกฎหมาย แต่ถ้าติดจะแก้กฎหมาย ก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่างนั้นได้ สมมติทำราชการ 10 ปี ออกแล้วได้บำเน็จ ทำราชการ 25 ปี ออกแล้วได้บำนาญ หากขยายกรอบเวลาเหล่านี้ก็แล้ว แต่ต้องไปแก้กฎหมายเสียก่อน" นายวิษณุ กล่าว