‘ศาลอุทธรณ์’ พิพากษายืนยกฟ้อง ‘กัมพล ทวีการ’ หมิ่นประมาท ‘ปิยสวัสดิ์-ปตท.’ กรณีส่งมอบท่อก๊าซให้รัฐ ระบุเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม-มิใช่การจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1403/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 5497/2565 ซึ่งเป็นคดีที่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ฟ้องนายกัมพล ทวีการ (จำเลย) ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กรณีนายกัมพล (จำเลย) เผยแพร่ข้อความสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2560 เกี่ยวกับการส่งมอบท่อก๊าซของ ปตท. ซึ่งทำให้นายปิยสวัสดิ์ ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ยกฟ้องนายกัมพล โดยศาลฯให้เหตุผลสรุปได้ว่า แม้ว่า บมจ.ปตท. ได้แบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สิน คือ ท่อส่งก๊าซ ให้กับกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่เนื่องจากนายกัมพล (จำเลย) ไม่สามารถค้นหาคำสั่งศาลปกครองดังกล่าวได้ จึงไม่เชื่อว่าคำสั่งนั้นมีอยู่จริง ทำให้นายกัมพล (จำเลย) เข้าใจว่านายปิยสวัสดิ์ และบมจ.ปตท. ยังไม่ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
อีกยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีความเห็นว่า มูลค่าทรัพย์ที่ ปตท. แบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2560
ดังนั้น การที่นายกัมพล (จำเลย) อ่านข้อความตามภาพข่าวออนไลน์ของสำนักข่าวต่างๆ ว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีมติว่า ปตท.ส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วน และมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า มีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยส่งมอบท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ทำให้รัฐขาดประโยชน์ จึงทำให้นายกัมพล (จำเลย) เชื่อโดยสุจริตว่า ปตท.ยังคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาไม่ครบถ้วน
ประกอบกับเมื่อมีความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับรายงานสรุปผลการดำเนินการตามคำพิพากษาดังกล่าวตามที่จำเลยได้ทราบข้อมูลมา ทั้งเป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน นายกัมพล (จำเลย) ซึ่งเป็นประชาชน คนหนึ่งย่อมมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมและเป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม เพื่อป้องกันส่วนได้เสีย เกี่ยวกับตนตามคลองธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้
และแม้นายกัมพล (จำเลย) จะไม่ได้ตรวจสอบให้ชัดเจนว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่า ปตท. (โจทก์ที่ 2) ดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว จริงหรือไม่ อันเป็นการไม่สมควร แต่ก็มิใช่การจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือจงใจนำข้อความเป็นเท็จลงในเว็บไซต์เฟชบุ๊กของตน จึงไม่เป็นการนำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
“การกระทำของจำเลย (นายกัมพล) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น” คำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1403/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 5497/2565 ระบุ