‘ชัชชาติ’ นัดถก ‘กรุงเทพธนาคม’ ปมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังไร้ข้อสรุป ยัน 1 เดือนได้เรื่องแน่ แต่ตอนนี้ขอหารือหน่วยอื่น ทั้ง สจส.และ สภา กทม.ก่อน มองปัญหาสัมปทานผูกกับคำสั่ง ม.44 ขณะเดียวกันไม่ห่วงเรื่องหนี้ 4 หมื่นล้าน เพราะ กทม.ออกข้อบัญญัติไว้แล้ว 5 หมื่นล้าน เล็งนัดคุย 'อนุพงษ์' ให้เร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 2 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นัดคณะผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) หารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยใช้เวลาหารือประมาณ 30 นาที พร้อมเปิดเผยภายหลังการหารือว่า ได้รับสัญญาสัมปทานของโครงการแล้ว ซึ่งในสัญญาเขียนไว้ว่า ห้ามเปิดเผยแก่บุคคลภายนอก ซึ่งข้อมูลยังมีอีกหลายฝ่ายที่ต้องถามเพิ่มเติม ทั้งสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ส่วนการหารือกับกรุงเทพธนาคมในครั้งนี้ เบื้องต้น ได้ข้อมูลพอสมควรที่ต้องไปศึกษาต่อแล้ว คาดว่าใน 1 เดือนคงมีข้อสรุปว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร แต่ใน 2 สัปดาห์ก็น่าจะมีความคืบหน้ารายงานแล้ว เบื้องต้น กรุงเทพธนาคม ชี้แจง่วา การจ้างเดินรถที่ทำมาไม่ผิด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะจ้างเดินรถไม่ใช่การดึงเอกชนมาร่วมลงทุน
“สัญญาที่เอามาดูครั้งนี้ ยังไม่ใช่สัญญาสัมปทานที่มีการเจรจาตามคำสั่ง ม.44 เป็นเพียงการดูสัญญาจ้างเดินรถที่ทำเมื่อปี 2555 หมดสัญญาปี 2585 ประเด็นสำคัญคือการไล่เรียงความเป็นมา การจ้างเดินรถถึงปี 2585 ขั้นตอนการดำเนินการผ่านสภา กทม.ไหม ต้องยอมรับว่ากรุงเทพธนาคมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจิ๊กซอว์นี้ ยังมีหน่วยงานอื่น เช่น สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ในฐานะมอบหมายให้ KT ไปทำเรื่องจ้างเดินรถ รวมถึง สภา กทม.ด้วยถึงเรื่องภาระหนี้ต่างๆ ทาง KT เขายืนยันว่าทำถูกต้อง แต่ต้องดูว่าความสัมพันธ์แต่ละหน่วยเ้ป็นอย่างไร เชื่อว่าจะมีจุดที่เราต่อรองให้ค่าโดยสารถูกลงได้” นายชัชชาติ กล่าว
รอหารือ 'อนุพงษ์' เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ทิศทางการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ต้องหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก่อน เพราะต้องรายงานท่านก่อน จะรีบสรุปข้อมูล เพื่อเร่งหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ให้เร็วที่สุด ส่วนการพิจารณายกเลิกคำสั่งมาตรา 44 ไม่แน่ใจว่าใครมีอำนาจในการยกเลิก แต่อำนาจในการบังคับใช้หมดไปแล้ว ส่วนจะช่องทางใดในการต่อสัญญาสัมปทานต้องดูก่อน
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะต้องคุยกับหน่วยงานอื่นๆ อีก ทั้ง สจส.และ สภา กทม.เพื่อดูเรื่องการอนุมัติของสภากทม.ต่อไป ส่วนการปรับราคา 30 บาทต่อ 8 สถานี กำลังศึกษาข้อมูลอยู่ ถือเป็นเป้าหมายที่จะทำ แต่ต้องดูปัจจัยอื่นด้วย เช่น หนี้ที่ผูกเข้ามาหลายก้อน ซึ่งยังไม่ได้หารือเรื่องหนี้ที่เกิดขึ้น เพราะยังไม่ชัด และการให้ กทม.เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว มาจากมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบ การจราจรทางบก (คจร.) แต่กระบวนการรับภาระหนี้มีคุยกัน 3 ส่วนคือ กทม. คจร. และกระทรวงคมนาคม แต่การเอาหนี้โครงสร้างมาให้ 40,000-50,000 ล้านบาท ยังไม่ชัดว่าผ่านมติ สภา กทม.หรือไม่
ส่วนการแก้ปัญหาหนี้ 40,000-50,000 ล้านบาท ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และตากสิน - บางหว้า ที่เก็บไว้ 15 บาท ยังพอมีรายได้ทยอยจ่ายได้ ส่วนช่วงส่วนต่อขยายที่ 2 หมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ ยังให้นั่งฟรีอยู่ ไม่มีรายได้นำส่ง แต่ขออย่าเอาเรื่องนี้มาเร่งรัดในการต่อสัญญาระยะยาวออกไป ถ้าเรื่องหนี้จำเป็นต้องจ่าย มีข้อบัญญัติออกรอไว้แล้ว ซึ่งต้องคิดกันให้รอบคอบ
เมื่อถามว่าจะออกตราสารหนี้มาชำระหนี้ไปก่อนหรือไม่ นายชัชชาติ ตอบว่า เรื่องนี้ยังยาวไป เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง ขอสอบถามผู้เชี่ยวชาญก่อน
อย่างไรก็ตาม ทราบว่า สภา กทม.ออกข้อบัญญัติให้กู้เงินมาใช้หนี้ ซึ่งยังมีเวลาตรวจสอบ เพิ่งมาทำงานวันนี้วันแรก หน้าที่ตอนนี้คือ การเอาเรื่องราวมาเล่าให้ฟัง และนำไปสู่การแก้ปัญหาค่าโดยสารต่อไป
เมื่อถามว่า ความยากของการแก้ปัญหานี้คืออะไร นายชัชชาติตอบว่า เรื่องการเจรจา เพราะเรื่องนี้คาอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง กทม.ไม่มีสิทธิ์ตรงนั้น คงต้องทำความเห็นประกอบการเสนอเข้าไป สุดท้ายขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยและ ครม. ว่าจะทำอย่างไรต่อไป