มติศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจนายกฯ ออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมหรือมั่วสุม ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2565 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวที่ 10/2565 ระบุว่า วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาเรื่องพิจารณาที่ 21/2564 กรณีศาลแขวงดุสิตส่งคำโต้แย้งของนายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ หัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ ในคดีหมายเลขดำที่ อ 1762/2563 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม มาตรา 212 ว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มาตรา 9 และมาตรา 11 ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และ มาตรา 26 ว่าด้วยเรื่องการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (2) ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และมาตรา 11 (6) ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26