ผู้ว่าฯ กทม. ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ เปิด 4 ปัญหาเร่งด่วนต้องทำงานก่อน ชี้ข่าวงบไม่พอยังมีเงินก้อนอื่นอยู่ ส่วนปัญหาสัมปทานสายสีเขียว นัดคุยกรุงเทพธนาคมพรุ่งนี้ (2 มิ.ย. 65) ก่อนย้ำอย่าเอาเรื่องหนี้มากดดันประชาชน พร้อมตั้งคณะทำงานศึกษาย้ายศาลากลางไปดินแดง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมทีมงาน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ว่า ภารกิจเร่งด่วนที่จะทำมี 4 เรื่อง คือ 1.การแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว 2.ความปลอดภัยทางถนนและทางม้าลาย 3.หาบเร่แผงลอย ซึ่งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพราะขณะนี้ทราบว่า เริ่มมีพ่อค้าแม่ขายเข้าจับจองพื้นที่บนทางเท้าแล้ว ขอยืนยันว่า นโยบายยังไม่เปลี่ยนแปลง ต้องขอหารือกันก่อน 4.สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งในวันที่ 2 มิ.ย.2565 ได้เชิญ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) มาหารือร่วมกันกับคณะทำงานที่ตั้งขึ้น ยืนยันว่าจะทำให้โปร่งใสและได้ข้อมูลที่เพียงพอ แล้วจะนำไปหารือกับรัฐบาลต่อไป
ส่วนเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่เงินมีไม่พอ เพราะส่วนหนึ่ง รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 10% ทำให้รายได้หายไป 10,000 ล้านบาท อีกทั้งหลายนโยบายถูกตัดงบประมาณ แต่จริงๆแล้ว ได้คุยกับปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทราบมาว่า ยังมีงบบางส่วนที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ต้องดูในรายละเอียดว่า งบตรงนี้เหลือเท่าไหร่ และพอจะนำออกมาใช้อะไรได้บ้าง ส่วนการประชุมสภา กทม.จะทำเรื่องเสนอกระทรวงมหาดไทยให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม นโยบายทั้ง 214 ข้อ อยู่บนพื้นฐานที่ไม่ได้ใช้เงินเยอะมากจะเห็นว่า 214 นโยบายไม่มีเมกะโปรเจ็กต์ เราจะพยายามทำนโยบายที่ไม่ต้องใช้เงินก่อน ทั้งนี้ ก็ต้องรอพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2566 ว่าจะเป็นอย่างไรด้วย
นอกจากนี้ นายชัชชาติยังระบุด้วยว่า นอกจากแต่งตั้งคณะทำงาน 18 คน ประกอบด้วย รองผู้ว่าฯ , ที่ปรึกษา , เลขานุการ และโฆษก จากนี้จะมีทีมงานที่ปรึกษาด้านเทคนิคอีกประมาณ 30-40 คน ซึ่งไม่ใช่กลุ่มการเมืองแต่เป็นกลุ่มนักวิชาการที่มาช่วยงานกัน และอยู่ระหว่างสรุปรายชื่อ
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ส่วนรูปแบบการทำงาน วันธรรมดา คือ วันจันทร์-ศุกร์จะทำงานที่ศาลาว่าการฯ กทม.เพื่อผลักดันนโยบาย ส่วนวันหยุด คือ วันเสาร์-อาทิตย์ จะลงพื้นที่ เพื่อพูดคุยปัญหาประชาชน และติดตามปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้า
ขณะที่การเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายชัชชาติ กล่าวว่า ยังไม่ใช่ตอนนี้ เพราะยังไม่รู้จะคุยอะไร ขอโฟกัสเรื่องงานในท้องถิ่นก่อน เพราะตนได้รับเลือกตั้งให้มาทำงานในท้องถิ่น และหากจะพูดคุยก็จะทำตามลำดับขั้น คือเข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
ส่วนประเด็นที่มีการเปรียบเทียบรัศมีทางการเมืองระหว่างนายกรัฐมนตรี กับ ผู้ว่าฯ กทม. นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นมวยคนละชั้น ตนเองคือระดับท้องถิ่น แต่นายกรัฐมนตรีเป็นระดับรัฐบาลที่บริหารงานทั้งประเทศ และเชื่อว่าไม่มีรอยต่อในการทำงานแน่นอน
นัดกรุงเทพธนาคม ถกสายสีเขียว พรุ่งนี้
เมื่อถามถึงการเคลียร์ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องเตรียมบุคลากรไว้ก่อน ส่วนปัญหาตอนนี้ เรื่องแรก เรื่องหนี้งานโยธาช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ที่รับโอนมา 50,000-60,000 ล้านบาท ต้องดูว่าไปรับโอนมาอย่างถูกต้องหรือไม่ และสภา กทม.ว่าอย่างไร ส่วนที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับหนี้ก้อนนี้ไปนั้นจะมีกระบวนการอย่างไรนั้น เข้าใจว่าจุดนี้ มีเรื่องร้องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่
ส่วนสัมปทานสายหลักที่จะหมดอายุในปี 2572 และมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้เจรจาต่ออายุสัมปทานไปจนถึงปี 2602 นั้น ก็ต้องดูว่า การใช้คำสั่งมาตรา 44 ที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2565 และมีการสรุปผลเจรจาว่าจะได้ค่าโดยสารที่ 65 บาท มาจากไหน และการเสนอราคาดังกล่าวที่ไม่มีการแข่งขันด้านราคา มันเป็นราคาจริงหรือไม่ ใครคิดมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องซับซ้อน แค่มาดูว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร
ขณะที่ไอเดียค่าโดยสาร 30 บาทต่อ 8 สถานี มาจากการนำค่าเฉลี่ยการโดยสารที่แต่ละคนโดยสารรถไฟฟ้า 1 สายไม่เกิน 8 สถานีมาปรับใช้ แต่ต้องมาคุยกันอีกทีหนึ่ง
ด้านปมปัญหาที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ฟ้อง กทม. เรียกค่าจ้างเดินรถและค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต วงเงินรวม 40,000 ล้านบาทนั้น นายชัชชาติ ระบุว่า ไม่ต้องกังวล เพราะหนั้นี้เทียบกับหนี้ของรัฐบาลหลายล้านล้านบาท ก็ไม่ได้เยอะ ถ้าจำเป็นอาจพิจารณาออกตราสารหนี้ (Bond) ก็ได้
“อย่าเอาตรงนี้มาเป็นตัวกดดันประชาชนในระยะยาว ไม่ใช่ให้ประชาชนรับภาระ 65 บาท เพื่อแลกกับการจ่ายหนี้ มันไม่สมเหตุสมผล วิธีแก้มีอีกหลายวิธี กทม.ก็ออกข้อบัญญัติในการกู้เงินแล้ว เพราะฉะนั้น การบอกว่าหนี้เยอะแล้วต้องต่อสัญญา มันคนละเรื่องกัน” นายชัชชาติกล่าว
ตั้งคณะทำงานย้ายศาลากลางมาดินแดง
ส่วนความคิดที่จะย้ายศาลาว่าการไปดินแดง 100% นั้น ได้ทราบแล้วว่า มีข้าราชการบางส่วนไม่ต้องการให้ย้าย แต่อยากให้มองภาพใหญ่ ต้องเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่อย่างไรก็ตามจะตั้งคณะทำงานศึกษาข้อดีข้อเสียก่อนว่า ใช้เงินเท่าไหร่ และมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร แม้การย้ายจากเสาชิงช้า จะมีค่าใช้จ่าย แต่ในด้านหนึ่งก็จะได้พื้นที่จำนวนมากกลับคืนมาด้วย
“คุยกับร้านข้าวต้มเป็ดย่านนี้บอกอย่าย้าย กลัวคนไม่มากิน ผมบอกไม่จริงหรอก ถ้าย้ายไปตรงนี้เป็นศูนย์กลางกทม. นักท่องเที่ยวมาอีกมหาศาล แนวคิดที่จะย้ายคือ นับหนึ่งตั้งคณะทำงานมาศึกษาก่อนว่า จะใช้เวลาย้ายเท่าไหร่ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 2 ปี ก็แล้วแต่ผล แต่ต้องเปิดใจ นโยบายเรานับหนึ่งต้องย้าย ยังไงลานคนเมืองเป็นสะดือกรุงเทพฯ ไม่ใช่ที่จอดรถของพวกเราอย่างเดียว อีกหน่อยจะเป็นฮับในการท่องเที่ยวทุกมุมของเกาะรัตนโกสินทร์ได้” นายชัชชาติกล่าว