องค์การเภสัชกรรม แช่แข็ง 'ผงวัคซีนฝีดาษ' นาน 43 ปี กรมวิทย์การแพทย์ตั้งทีมตรวจสอบเฉพาะ เผยหากมีประสิทธิภาพ พร้อมพัฒนาเป็นวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2565 ตามที่ประเทศไทยได้ยกเลิกการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ หรือการปลูกฝีไปตั้งแต่ปี 2523 ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า หากมีความจำเป็นก็จะให้การสนับสนุนตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทย โดยองค์การเภสัชกรรม ได้เก็บวัคซีนแช่แข็งไว้ และได้ส่งไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจสอบนั้น
ความคืบหน้าเรื่องนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) กล่าวว่า วัคซีนฝีดาษที่สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้นั้น องค์การเภสัชกรรม(อภ.)มีการเก็บแช่แข็งไว้กว่า 40 ปี เมื่อส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นำไปเพาะเชื้อแล้วพบว่าสามารถเพาะเชื้อได้ แปลว่าวัคซีนน่าจะยังมีประสิทธิภาพ
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจสอบวัคซีนฝีดาษที่องค์การเภสัชกรรมเก็บรักษาไว้ ว่า เป็นวัคซีนที่เก็บมา 43 ปีในลักษณะผง (Dry freeze) มีประมาณหมื่นโดส โดยปกติจะเก็บไว้เป็นตัวอย่าง เราจึงนำมาตรวจสอบดู ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่ามีความปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อน และยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้หรือไม่ เพราะข้อมูลเมื่อปี 2523 ที่หยุดปลูกฝีดาษคน(Smallpox) ระบุว่าป้องกันได้ 85% นั่นเป็นข้อมูลเก่า แต่ฝีดาษตัวปัจจุบันยังไม่มีข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ผลตรวจวัคซีนเบื้องต้นพบว่าเป็นการนำเชื้อเป็นที่มีชีวิตมาน็อกไว้ เมื่อนำมาเพาะเชื้อก็โตเร็วมาก แต่ยังต้องรอกระบวนการอีกยาว โดยวันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูว่าเราต้องตรวจอะไรอีกบ้าง หากจะใช้จริง ต้องทำอย่างไรบ้าง
“หากเราเจอคนไข้ในประเทศเมื่อไหร่ เราจะนำเชื้อปัจจุบันมาเพาะกับภูมิคุ้มกันจากเลือดของคนที่ได้รับวัคซีนเมื่อก่อนปี 2523 มาตรวจดูว่าสู้กับเชื้อได้หรือไม่ แต่วันนี้คนที่มาตรวจยังให้ผลลบ เป็นโรคอื่นอยู่ ยังไม่เจอฝีดาษลิงในไทย” นพ.ศุภกิจกล่าว
เมื่อถามถึงการตรวจหาเชื้อฝีดาษลิงในผู้ที่เข้าข่ายสงสัยมีกี่ราย และใช้วิธีการใด นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เมื่อมีเคสสงสัยมาเราก็ตรวจ หากยังไม่มีผื่นก็สวอปเชื้อจากจมูก เพื่อทำ RT-PCR แต่หากมีผื่นแล้วก็สวอปจากผื่นซึ่งที่มีโอกาสเจอเชื้อมากกว่า ดังนั้ นหากผู้ที่มาจากแอฟริกา อังกฤษ ที่เริ่มมีไข้ มีความเสี่ยงสูงเราก็นำมาตรวจ แต่ช่วงที่เริ่มแพร่เชื้อคือช่วงที่ออกผื่น ซึ่งช่วงนั้นทำให้สังเกตได้ คนก็จะเลี่ยงการสัมผัสได้