เจาะไส้ใน ตร.จัดซื้อโล่กันกระสุน ศปก.ตร.สน.ยะลา 1,800 อัน 485 ล. เฉลี่ยของ 269,700 บ./โล่ สืบราคากลางเอกชน 3 เจ้า ผู้ชนะแข่งงานเท่าราคากลางเป๊ะ-ข้องใจไม่ใช้วิธีประมูล
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคาซื้อโล่กันกระสุน ศปก.ตร.สน. ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา จำนวน 1,800 โล่ วิธีคัดเลือก คือ บริษัท จี.เอ.เอ.เอ็นเตอร์ไพรส์(ไทยแลนด์) จำกัด โดยเสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 485,460,000 บาท ขณะที่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างพบว่า มีผู้รับ/ซื้อซอง และเสนอราคาแข่งขันงาน จำนวน 3 ราย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จุไรรัตน์ ซัพพลาย เสนอราคา 485,820,000 บาท บริษัท จี.เอ.เอ.เอ็นเตอร์ไพรส์(ไทยแลนด์) จำกัด 485,460,000 บาท และบริษัท กาญจส์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด 486,000,000 บาท
บริษัท จี.เอ.เอ.เอ็นเตอร์ไพรส์(ไทยแลนด์) จำกัด เสนอราคาต่ำสุด ห่างจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด จุไรรัตน์ ซัพพลาย ผู้เสนอราคาอันดับสอง ในวงเงิน 360,000 บาท
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการฯ นี้ เพิ่มเติม พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก คือ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ได้รับงบประมาณจัดสรร จำนวน 486,000,000 บาท จำแนกเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 97,200,000 บาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 อีกจำนวน 388,800,000 บาท
กำหนดราคากลางอ้างอิง เป็นเงิน 485,460,000 บาท เฉลี่ยราคาต่อหน่วยอยู่ที่โล่ละ 269,700 บาท
ระบุแหล่งที่มาของราคากลาง จำนวน 3 แหล่ง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จุไรรัตน์ ซัพพลาย บริษัท จี.เอ.เอ.เอ็นเตอร์ไพรส์(ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท กาญจส์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มเอกชนที่เข้าเสนอราคางานโครงการฯ นี้ด้วย
ขณะที่แหล่งข่าวในหน่วยงานตรวจสอบแห่งหนึ่ง ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นั้น ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 เคยเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิศษเฉพาะกิจ โดยขยายเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีออกไปอีก 2 ปี เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
โดยให้ส่วนราชการที่จะทำการจัดซื้อในวงเงินเกิน 100,000 บาห แต่ไม่เกิน 15,000,000 บาท หรือจัดจ้างในวงเงินเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 30,000,000 บาท ให้สามารถจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้โดยอนุโลม ส่วนราชการในภูมิภาคหรือส่วนราชการในส่วนกลางที่มีหน่วยงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการนั้นหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ที่จะพิจารณาได้ตามความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการเป็นสำคัญ
ต่อมาในช่วงเดือนกันยายน 2560 คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัตจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้มีพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย) ซึ่งยังไม่กลับคืนสู่สภาวะปกติ และการจัดหาพัสดุของจังหวัดที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจยังคงต้องอาศัยผู้รับจ้างในพื้นที่
ดังนั้น เพื่อให้การจัดชื่อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว และเกิตความคล่องตัวยิ่งขึ้น ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐในภูมิภาคหรือหน่วยงานของรัฐในส่วนกลาง ที่มีหน่วยงานตั้งอยู่ในภูมิภาคนั้นหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณีดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 (1) (ข) กรณีพัสดุที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้างมีคุณลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษหรือซับซ้อนหรือต้องผลิต จำหน่าย ก่อสร้างหรือให้บริการโดยผู้ประกอบการที่มีฝีมือโดยเฉพาะหรือมีความชำนาญเป็นพิเศษหรือมีทักษะสูง และผู้ประกอบการนันมีจำนวนจำกัด หรือวิธีเฉพาะเจาะจง ตามมาตรา 56 (2) (ง) กรณีมีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ หรือเกิดโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือคัตเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้า และอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แล้วแต่กรณี
"หากพิจารณาระเบียบปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดังกล่าว จะพบว่าการประกวดราคาโครงการฯ นี้ มีข้อสังเกตอยู่ตรงการใช้วิธีการคัดเลือกแทนการประมูล เป็นการปฏิบัติตามระเบียบหรือไม่ ทั้งที่วงเงินโครงการมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท" แหล่งข่าวระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 ระบุ การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุอาจกระทําได้โดยวิธี ดังต่อไปนี้
(1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการทั่วไปที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดให้เข้ายื่นข้อเสนอ
(2) วิธีคัดเลือก ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนเฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามรายให้เข้ายื่นข้อเสนอ เว้นแต่ในงานนั้นมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กําหนดน้อยกว่าสามราย
(3) วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคารวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กําหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 96 วรรคสอง
มาตรา 56 ระบุว่า การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ให้หน่วยงานของรัฐเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน
เว้นแต่
(1) กรณีดังต่อไปนี้ ให้ใช้วิธีคัดเลือก
(ก) ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก
(ข) พัสดุที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้างมีคุณลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษหรือซับซ้อนหรือต้องผลิตจําหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการโดยผู้ประกอบการที่มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือมีความชํานาญเป็นพิเศษหรือมีทักษะสูง และผู้ประกอบการนั้นมีจํานวนจํากัด
(ค) มีความจําเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้พัสดุนั้นอันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ ซึ่งหากใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปจะทําให้ไม่ทันต่อความต้องการใช้พัสดุ
(ง) เป็นพัสดุที่โดยลักษณะของการใช้งาน หรือมีข้อจํากัดทางเทคนิคที่จําเป็นต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ
(จ) เป็นพัสดุที่จําเป็นต้องซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ หรือดําเนินการโดยผ่านองค์การระหว่างประเทศ
(ฉ) เป็นพัสดุที่ใช้ในราชการลับ หรือเป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของหน่วยงานของรัฐหรือที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ
(ช) เป็นงานจ้างซ่อมพัสดุที่จําเป็นต้องถอดตรวจ ให้ทราบความชํารุดเสียหายเสียก่อนจึงจะประมาณค่าซ่อมได้ เช่น งานจ้างซ่อมเครื่องจักร เครื่องมือกล เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้าหรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์
(ซ) กรณีอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง